แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินที่ธนาคารสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศรับฝากจากลูกค้าแล้วส่งมาให้สาขาในประเทศไทยลงทุน แม้จะเป็นเงินซึ่งจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ฝาก ก็เป็นรายจ่ายของสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยเงินดังกล่าวเมื่อส่งมาลงทุนในประเทศไทยย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินของสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ ดังนั้นดอกเบี้ยที่สาขาในประเทศไทยจ่ายให้แก่สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศย่อมถือได้ว่าเป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง เป็นค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งตนเป็นเจ้าของเองและใช้เองกับเป็นดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุนของตนเอง จึงเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9)(10) และ (11) ต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจ่ายดอกเบี้ยของสาขาในประเทศไทยดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ อีกส่วนหนึ่งด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงค์โปร์ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการธนาคาร และมีสาขาในประเทศไทย เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2501 ถึง 2504 กับปี พ.ศ. 2507 ให้โจทก์เสียภาษีโดยอ้างว่าเงินค่าดอกเบี้ยที่สาขาโจทก์ในประเทศไทยจ่ายให้สำนักงานใหญ่และสาขาในต่างประเทศ เป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี เมื่อนำมารวมคำนวณแล้วกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น และยังได้ประเมินภาษีเงินได้โจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี พ.ศ. 2502 ถึงปี พ.ศ. 2508 จากการที่สาขาโจทก์ในประเทศไทยจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ให้โจทก์เสียภาษีอีก โจทก์เห็นว่าการประเมินดังกล่าวเป็นการไม่ชอบจึงอุทธรณ์การประเมินต่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ เงินที่สาขาโจทก์ในประเทศไทยได้รับมาจากสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศไม่ใช่เงินทุน เงินสำรองหรือเงินกองทุน แต่เป็นเงินที่รับฝากจากลูกค้าในต่างประเทศซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฝาก ดอกเบี้ยที่สาขาโจทก์ในประเทศไทยส่งไปจึงถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และเงินค่าดอกเบี้ยที่จ่ายและส่งออกไปไม่ใช่เป็นเงินกำไรจึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์และสำนักงานสาขาเป็นนิติบุคคลเดียวกันเงินที่โจทก์ส่งมาเป็นทุนไม่ว่าจะเป็นเงินของผู้ใดต้องถือว่าเป็นเงินทุนของโจทก์เองการที่สาขาโจทก์ในประเทศไทยจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาของธนาคารซึ่งเป็นนิติบุคคลเดียวกัน รายจ่ายดังกล่าวจึงเป็นกำไรสุทธิ เพราะต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และสาขาโจทก์ในประเทศไทยจำหน่ายเงินกำไรหรือถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย เจ้าพนักงานของจำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยเป็นนิติบุคคลเดียวกันกับสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศและเงินที่ธนาคารรับฝากจากลูกค้าเป็นสังกมะทรัพย์ เมื่อธนาคารรับฝากแล้วย่อมเป็นทรัพย์สินของธนาคาร แม้สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศจะส่งเงินมาให้สาขาโจทก์ในประเทศไทยลงทุน และเงินที่ส่งมาดังกล่าวเป็นเงินที่สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศรับฝากจากลูกค้า ซึ่งมีพันธะผูกพันจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ฝาก เมื่อส่งมาลงทุนในประเทศไทย ย่อมถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ ทั้งดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ฝากก็เป็นรายจ่ายของสำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ มิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ ดอกเบี้ยที่สาขาโจทก์ในประเทศไทยจ่ายให้แก่สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศถือได้ว่าเป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงเป็นค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของเองและใช้เอง กับเป็นดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุนของตนเอง จึงเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (9) (10) และ (11) ต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจ่ายดอกเบี้ยของสาขาโจทก์ในประเทศไทยดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ อีกส่วนหนึ่งด้วย
พิพากษายืน