คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า “สรรพากรจังหวัด กำแพงเพชร” อันเป็นการฟ้องบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง ดังกล่าว ซึ่งย่อมหมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งในขณะที่ฟ้อง ส่วนจำเลย ที่ 6 โจทก์ระบุว่า”กรมสรรพากร” อันเป็นการฟ้องส่วนราชการ ที่เป็นนิติบุคคลซึ่งย่อมต้องมีผู้แทนดำเนินการอยู่ในตัวตามกฎหมาย อยู่แล้ว แม้คำฟ้องของโจทก์จะมิได้ระบุชื่อผู้ดำรงตำแหน่งของ จำเลยที่ 1 หรือผู้แทนของจำเลยที่ 6 ก็ไม่ทำให้จำเลยเข้าใจผิด หรือเสียหายเสียเปรียบ แต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม เงินที่โรงงานน้ำตาลหักจากน้ำหนักอ้อยที่ชาวไร่อ้อยซึ่ง เป็น สมาชิกของสมาคมโจทก์ขายให้แก่โรงงานน้ำตาล ตามข้อบังคับ ของ โจทก์แล้วส่งมาให้โจทก์นั้นมิใช่เงินที่ชาวไร่อ้อยสมาชิก ของโจทก์ยินดีมอบให้แต่ฝ่ายเดียวอันจะเป็นการบริจาคหรือให้โดย เสน่หาแก่โจทก์ หากแต่เป็นเงินที่ถูกหักตามข้อบังคับของโจทก์ เพื่อผลตอบแทนทางธุรกิจ อันเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่ง ประมวลรัษฎากรจึงไม่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องมารวมคำนวณเป็น รายได้ของโจทก์ตามมาตรา 65 ทวิ (13) และเงินที่โจทก์ได้รับจาก สหกรณ์ก็เป็นเงินที่โรงงานได้หักเงินค่าอ้อยของชาวไร่อ้อยซึ่งเป็น สมาชิกของสหกรณ์แล้วส่งเงินไปให้โจทก์ ทำนองเดียวกับเงินที่โจทก์ ได้รับจากสมาชิกจึงถือไม่ได้ว่าเงินได้จากสหกรณ์ดังกล่าวเป็นเงิน ที่โจทก์ได้รับจากการรับบริจาคหรือให้โดยเสน่หาอันจะได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ เพื่อเสียภาษีตามมาตรา 65 ทวิ (13) เช่นเดียวกัน สิ่งที่ไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา65 ทวิ (13) มีอยู่ 3 ประเภท คือ (1) เงินค่าลงทะเบียน (2) เงินค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก (3) เงินหรือทรัพย์สิน ที่ได้รับจากการรับบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หา โดยเป็นเงิน หรือทรัพย์สินคนละประเภทแยกจากกัน โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า “เงินค่าบำรุงที่โจทก์ ได้ รับ เป็นเงินที่สมาชิกบริจาคหรือ ให้โดยเสน่หา” ย่อมมีความหมายเพียงว่า เงินเงินที่สมาชิกบริจาคหรือ ให้โดยเสน่หาเพื่อเป็นการบำรุงกิจการของโจทก์ อันเป็นเงินที่จัดอยู่ ในประเภทที่ 3 เท่านั้น มิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าเงินจำนวนนี้เป็น “เงินค่าบำรุง” ด้วย ทั้งตามข้อบังคับของสมาคมโจทก์ได้ระบุ ค่าบำรุงปีละ 50 บาทไว้แล้ว คดีจึงไม่มี ประเด็นประเด็นเรื่องเงินค่าบำรุง การที่จำเลยให้การปฏิเสธว่าเงินได้พิพาทไม่ใช่เงินที่โจทก์ ได้รับจากการรับบริจาคหรือการให้โดยเสน่หา แต่เป็นเงินได้ตาม มาตรา 40(8) แห่ง ประมวลรัษฎากร จำเลยย่อมมีสิทธิสืบพยานได้ ตามประเด็นที่ให้การต่อสู้ไว้ ตามมาตรา 33 แห่ง พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ บัญญัติว่า ในระหว่างที่ศาลภาษีอากรจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ศาลภาษีอากรกลางมีเขตอำนาจในท้องที่นั้นด้วย โดยเหตุนี้ เมื่อยัง มิได้มีการจัดตั้งศาลภาษีอากรจังหวัดและเปิดทำการในท้องที่ จังหวัดกำแพงเพชรศาลภาษีอากรกลางย่อมมีเขตอำนาจในท้องที่ของศาลจังหวัดกำแพงเพชรอันเป็นศาลแห่งท้องที่ ที่พนักงานอัยการจังหวัด กำแพงเพชร รับราชการประจำอยู่ด้วย เมื่อคดีนี้เกิดขึ้นในท้องที่ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร พนักงานอัยการ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นทนายจำเลย จึงมีอำนาจดำเนินคดีได้ตามมาตรา 12แห่ง พระราชบัญญัติพนักงานอัยการฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งหกให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง (ศาลจังหวัดกำแพงเพชร) พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ในประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมนั้น จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ว่าบัญชีรายชื่อจำเลยท้ายฟ้องมิได้แสดงแจ้งชัดซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล ตำแหน่งและฐานะของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม เห็นว่าสำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า “สรรพากรจังหวัดกำแพงเพชร” อันเป็นการฟ้องบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งย่อมหมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งในขณะที่ฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 6 โจทก์ระบุว่า”กรมสรรพากร” อันเป็นการฟ้องส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลซึ่งย่อมต้องมีผู้แทนดำเนินการอยู่ในตัวตามกฎหมายอยู่แล้ว แม้คำฟ้องของโจทก์จะมิได้ระบุชื่อผู้ดำรงตำแหน่งของจำเลยที่ 1 หรือผู้แทนของจำเลยที่ 6 ก็ไม่ทำให้จำเลยเข้าใจผิดหรือเสียหายเสียเปรียบแต่อย่างใด ส่วนที่เกี่ยวกับฐานะของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นสรรพากรจังหวัดกำแพงเพชร และจำเลยที่ 6มีฐานะเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรจึงเป็นการแสดงแจ้งชัดแลว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ส่วนในประเด็นที่ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นมีข้อโต้เถียงกันอยู่แต่เพียงว่า รายได้จากเงินที่โรงงานน้ำตาลทรายจัดสรรให้โจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2526 จำนวน 5,774,177 บาท และในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2527จำนวน 3,928,700.88 บาท ซึ่งแยกเป็นรายได้ที่โจทก์ได้รับจากการหักจากสมาชิกที่นำอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลจำนวน 3,778,700.88 บาท และเงินได้จากสหกรณ์ชาวไร่อ้อยอำเภอเมืองกำแพงเพชรจำนวน 150,000 บาท เป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากการรับบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หาอันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีตามบทบัญญัติมาตรา 65 ทวิ (13) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเป็นเงินรายได้ตามมาตรา 40(8) สำหรับรายได้ที่โจทก์ได้รับจากการหักจากสมาชิกที่นำอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลจำนวน 3,778,700.88 บาท เห็นว่า การที่โรงงานน้ำตาลถือปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ โดยคิดหักเงินจากน้ำหนักอ้อยที่ชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ขายให้แก่โรงงานน้ำตาล ตามอัตราที่เกิดจากข้อตกลง 3 ฝ่าย คือ โจทก์กับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยที่เป็นสมาชิกของโจทก์นั้นก็เพื่อจัดสรรไว้ให้โจทก์ใช้ดำเนินการในกิจการส่วนรวม สำหรับใช้สอยทำประโยชน์สาธารณะและอื่น ๆ ร่วมกัน แสดงว่าชาวไร่อ้อยที่เป็นสมาชิกของโจทก์ต้องจ่ายเงินเช่นว่านั้นให้โจทก์ตามพันธะแห่งข้อบังคับของสมาคมโจทก์และข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่ายดังกล่าว เพื่อเป็นการตอบแทนแก่การที่ชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์จะได้รับสิทธิประโยชน์จากสมาคมโจทก์ตามข้อตกลงและข้อบังคับของโจทก์นั่นเองเงินที่โจทก์ได้รับจากการจัดสรรให้ของโรงงานน้ำตาลเช่นนี้ จึงมิใช่เงินที่ชาวไร่อ้อยสมาชิกของโจทก์ยินดีมอบให้แต่ฝ่ายเดียวอันจะเป็นการบริจาคหรือให้โดยเสน่หาแก่โจทก์ หากแต่เป็นเงินที่ถูกหักตามข้อบังคับของโจทก์เพื่อผลตอบแทนทางธุรกิจอันเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องมารวมคำนวณเป็นรายได้ของโจทก์ตามมาตรา 65 ทวิ (13) เมื่อโจทก์ไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในสองรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินก็ชอบที่จะประเมินให้โจทก์เสียภาษีจากเงินได้ดังกล่าวได้ ส่วนเงินได้จากสหกรณ์ชาวไร่อ้อยอำเภอเมืองกำแพงเพชรจำนวน 150,000 บาท ปรากฏว่าการให้เงินของสหกรณ์กระทำโดยโรงงานได้หักเงินจากค่าขายอ้อยของชาวไร่ซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์แล้วส่งเงินไปให้สมาคมโจทก์ ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินที่โจทก์ได้รับจากการหักจากสมาชิกดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอให้ฟังว่าเงินได้จากสหกรณ์ชาวไร่อ้อยอำเภอเมืองกำแพงเพชรเป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากการรับบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หาอันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีตามบทบัญญัติ มาตรา 65 ทวิ (13) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินจึงชอบที่จะประเมินให้โจทก์เสียภาษีจากเงินได้ดังกล่าวเช่นกันการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เงินได้พิพาทเป็นเงินค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก หรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาคหรือการให้โดยเสน่หาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (13) แต่จำเลยทั้งหกให้การแก้คดีเพียงว่า เงินดังกล่าวมิใช่เงินที่ได้รับจากการบริจาคหรือการให้โดยเสน่หา มิได้ปฏิเสธว่าไม่ใช่เงินบำรุง ย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งหกยอมรับแล้วว่าเงินได้พิพาทเป็นเงินค่าบำรุงจำเลยทั้งหกจึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่ง ประมวลรัษฎากรนั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (13) บัญญัติว่า “มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ไม่ต้องนำเงินค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก หรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หา แล้วแต่กรณี มารวมคำนวณเป็นรายได้” ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่ไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ตามบทบัญญัตินี้มีอยู่ 3 ประเภท คือ (1) เงินค่าลงทะเบียน (2) เงินค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก (3) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หา โดยเป็นเงินหรือทรัพย์สินคนละประเภทแยกจากกัน เงินหรือทรัพย์สินรายหนึ่งรายใดจะเป็นได้แต่เพียงประเภทหนึ่งใน 3 ประเภทนี้เท่านั้นจะเป็นพร้อมกันหลายประเภทไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อตามคำบรรยายฟ้องทั้งหมดของโจทก์กล่าวถึงเงินได้พิพาทรายเดียวคือ เงินที่รับจากโรงงานน้ำตาลซึ่งหักมาจากสมาชิกของโจทก์ผู้นำอ้อยไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล แม้โจทก์จะกล่าวในคำฟ้องว่า “เงินค่าบำรุงที่โจทก์ได้รับเป็นเงินที่สมาชิกบริจาคหรือให้โดยเสน่หา” ก็ย่อมมีความหมายเพียงว่าเงินที่สมาชิกบริจาคหรือให้โดยเสน่หาเพื่อเป็นการบำรุงกิจการของโจทก์ จึงเป็นการกล่าวอ้างโดยมีสาระสำคัญว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่ได้รับบริจาคหรือให้โดยเสน่หา อันเป็นเงินที่จัดอยู่ในประเภทที่ 3 เท่านั้น มิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าเงินจำนวนนี้เป็น “เงินค่าบำรุง” ตามความหมายของบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าตามข้อบังคับของสมาคมโจทก์ข้อ 13 ได้ระบุค่าบำรุงปีละ 50 บาทไว้แล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องเงินค่าบำรุงที่จำเลยทั้งหกจะต้องให้การต่อสู้ฟ้องของโจทก์อีกและการที่จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าเงินได้พิพาทไม่ใช่เงินที่โจทก์ได้รับจากการรับบริจาคหรือการให้โดยเสน่หา แต่เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร จำเลยทั้งหกย่อมมีสิทธิสืบพยานได้ตามประเด็นที่ให้การต่อสู้ไว้
ส่วนที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า คดีนี้พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งเป็นทนายจำเลยทั้งหก มิใช่พนักงานอัยการประจำศาลภาษีอากรกลาง และมิใช่เป็นอธิบดีหรือรองอธิบดีกรมอัยการอันจะมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาล พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งเป็นทนายจำเลยทั้งหก จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีในศาลภาษีอากรกลางได้ เพราะมิใช่ศาลแห่งท้องที่ที่พนักงานอัยการผู้นั้นรับราชการประจำ อีกทั้งกรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 12 ด้วย การดำเนินคดีที่กระทำโดยพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นทนายจำเลยทั้งหกในคดีนี้ทั้งหมด จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติว่า ในระหว่างที่ศาลภาษีอากรจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ศาลภาษีอากรกลางมีเขตอำนาจในท้องที่นั้นด้วย โดยเหตุนี้เมื่อยังมิได้มีการจัดตั้งศาลภาษีอากรจังหวัดและเปิดทำการในท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีเขตอำนาจในท้องที่ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร อันเป็นศาลแห่งท้องที่ที่พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรรับราชการประจำอยู่ด้วย เมื่อปรากฏว่าคดีนี้เกิดขึ้นในท้องที่ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งเป็นทนายจำเลยทั้งหกจึงมีอำนาจดำเนินคดีได้ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานอัยการพ.ศ. 2498″
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share