คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812-3814/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลย
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 147, 264, 265, 268 นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 276 ถึง 278/2539, 609/2540 และ 610/2540 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 743,431.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 147, 264, 265, 268 นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 276 ถึง 278/2539, 608/2540 และ 610/2540 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 282,336.45 บาท แก่ผู้เสียหาย
สำนวนที่สาม โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 147, 264, 265, 268 นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 276 ถึง 278/2539, 608/2540 และ 609/2540 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 282,336.45 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสามสำนวน แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 9 ปี 12 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 1,308,104.40 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1690 ถึง 1692/2547 ของศาลชั้นต้น ยกฟ้องข้อหาอื่น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน1,308,104.40 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้ออ้างจำเลยเรื่องได้เบิกและรับเงินมาแล้วได้มอบให้นายไชยยศเก็บไว้ในตู้นิรภัยตามระเบียบปฏิบัติการเก็บรักษาเงินเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ นั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าในตู้นิรภัยไม่มีเงินดังกล่าว และรายงานเงินคงเหลือประจำวันไม่ได้แสดงยอดเงินดังกล่าว ทั้งกรรมการเก็บรักษาเงินก็ไม่ได้ทักท้วงว่าเงินขาดบัญชีแต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต นอกจากนี้จำเลยได้รับแต่งตั้งให้ไปเบิกและรับเงินเพียงคนเดียวเป็นการขัดกับระเบียบ ซึ่งต้องตั้งกรรมการ 2 ถึง 3 คน ไปดำเนินการดังกล่าว การแต่งตั้งจึงไม่ถูกต้อง การดำเนินการดังกล่าวของจำเลยจึงไม่ได้กระทำในฐานะเจ้าพนักงานอันอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ขอให้พิพากษายกฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานว่าในตู้นิรภัยไม่มีเงินดังกล่าว และรายงานเงินคงเหลือประจำวันไม่ได้แสดงยอดเงินดังกล่าว ทั้งกรรมการเก็บรักษาเงินก็ไม่ได้ทักท้วงว่าเงินขาดบัญชีแต่อย่างใดตามที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงอันยุติตามพฤติการณ์จำเลยที่นำคำสั่งไปเบิกเงิน หากฟังว่าเป็นเอกสารแท้จริง จำเลยก็ต้องรู้ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะมีคณะกรรมการรับเงินไม่ครบเนื่องจากจำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงินและบัญชีย่อมรู้เรื่องระเบียบการตั้งคณะกรรมการรับเงินดีว่าถ้าไปรับเงินเกิน 30,000 บาท ต้องมีคณะกรรมการ 2 ถึง 3 คน และยังฟังได้จากนายไชยยศผู้ลงนามในคำสั่ง และนายสิทธิชัยผู้ลงนามในคำสั่ง สรุปว่าตามคำสั่งที่ตนลงชื่อนั้นไม่ได้ประสงค์ตั้งจำเลยเป็นกรรมการรับเงินไปรับเงินโครงการฝายประชาอาสา แต่มีการเพิ่มเติมข้อความที่ทำให้ใช้แสดงขอเบิกและรับเงินดังกล่าวได้ภายหลังที่พยานแต่ละคนลงชื่อในคำสั่ง แม้จะฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารราชการดังกล่าวแต่จำเลยก็สมควรต้องทราบอีกเช่นกันว่าใช้เบิกและรับเงินไม่ได้ในขณะที่ยื่นเอกสารเพราะเป็นการรับเงินเกิน 30,000 บาท แต่มีจำเลยเป็นกรรมการรับเงินเพียงผู้เดียวซึ่งไม่ชอบนอกจากนี้ตามคำสั่งที่นายไชยยศลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินแม้จะปรากฏว่ามีคณะกรรมการซึ่งรวมจำเลยด้วยเป็น 3 คน ก็ตามแต่นายไชยยศก็เบิกความว่าจำเลยเอาคำสั่ง ซึ่งให้จำเลยไปรับเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ไปพิมพ์เพิ่มเติมจำนวนผู้รับเงิน เป็นสัสดีและผู้ช่วยสัสดีเป็นผู้รับเงินร่วมกับจำเลย ซึ่งบุคคลทั้งสองนี้ไม่เกี่ยวกับการเงินไม่สมควรตั้ง โดยปกติจะตั้งปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ปกครองและเสมียนตราอำเภอเช่นจำเลยอย่างละ 1 คน เป็นกรรมการรับเงิน ขณะพยานลงชื่อออกคำสั่งระบุเพียงเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ไม่ได้ระบุจำนวนเงินเพื่อรับเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ซึ่งไม่มากนัก แต่มีการระบุยอดรับไว้ 770,695.69 บาท ทำให้เสมียนตราจังหวัดจึงเข้าใจว่าเป็นเงินฝายประชาอาสาโครงการที่ 3 และ 4 จึงออกเช็คซึ่งเป็นเงินค่าวัสดุก่อสร้างในโครงการ 3 และ 4 และเงินสดอีก 27,000 บาทเศษ ให้จำเลย เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์จำเลยที่ตามไปพบร้อยโทชัยสวัสดิ์ และจ่าสิบเอกวุฒิพงษ์ สัสดีอำเภอโนนแดงและผู้ช่วย ซึ่งเข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุมจังหวัดนครราชสีมานอกที่ทำการปกติ เพื่อขอให้ลงชื่อในคำสั่ง เพื่อรับการแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงิน โดยอ้างว่านายไชยยศแต่งตั้ง ตามที่ได้ความจากร้อยโทชัยสวัสดิ์และจ่าสิบเอกวุฒิพงษ์ เสมือนลักลอบดำเนินการซึ่งนายไชยยศไม่น่าจะแต่งตั้งบุคคลที่ตนเห็นว่าไม่สมควรตามที่ให้เหตุผลไว้ ในส่วนนี้ทำให้ฟังได้ว่านายไชยยศประสงค์แต่งตั้งจำเลยคนเดียวเป็นกรรมการรับเงินไปเบิกเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ที่รวมกันจำนวนไม่ถึง 30,000 บาท ไม่ใช่ตั้งจำเลย สัสดีและผู้ช่วยสัสดี รวม 3 คน เป็นคณะกรรมการรับเงินไปรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างในโครงการ 3 และ 4 ด้วย จำเลยก็น่าจะทราบข้อนี้ดีเพราะเป็นผู้ดำเนินการให้บุคคลทั้งสองลงชื่อในคำสั่ง แต่จำเลยยังอาศัยคำสั่งไปเบิกและรับเงิน ตามที่ได้ความจากนายสุรัชว่าจำเลยนำเช็คไปเบิกเงินสดจากธนาคาร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2538, วันที่ 16 และ 19 พฤษภาคม 2538 ตามลำดับ แสดงว่าจำเลยได้รับเงินตามเช็คแต่ละฉบับไปในแต่ละวันดังกล่าว ภายหลังที่ถูกสอบสวนความผิดเกี่ยวกับเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้ง 4 โครงการแล้ว จำเลยได้นำเงินดังกล่าวไปชำระให้แก่นางพิทธิยาผู้ดำเนินการแทนห้างฯ ทั้งสองที่ขายวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างให้โครงการ หากถือตามวันที่ในใบเสร็จรับเงินก็เป็นการนำไปชำระวันที่ 6 ตุลาคม 2538 ห่างจากวันนำเช็คไปเบิกเงินประมาณ 4 เดือน ซึ่งส่วนนี้พันตำรวจโทชลิสว่าเป็นการลงวันที่ย้อนหลัง ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิเอาเงินดังกล่าวไปเก็บรักษาเองหรือใช้ประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยแสดงถึงความทุจริตของจำเลยในเงินจำนวนดังกล่าว และเป็นการแสดงชัดเจนอยู่ในตัวว่าเงินดังกล่าวอยู่ที่จำเลยไม่ได้ถูกเก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัย หรือแสดงไว้ในรายงานเงินคงเหลือประจำวัน ทั้งไม่ได้มีการนำไปให้นายไชยยศตามที่จำเลยนำสืบด้วย มิฉะนั้นแล้วจำเลยก็คงไม่มีหรือไม่ยอมนำเงินจำนวนมากเช่นนั้นไปจ่ายให้นางพิทธิยาเป็นแน่ พยานหลักฐานโจทก์เพียงเท่านี้โจทก์ไม่จำเป็นต้องนำสืบถึงเรื่องที่จำเลยอ้างมาในฎีกา จำเลยต่างหากสมควรนำสืบให้ได้ความตามที่ฎีกาเพราะเป็นประโยชน์ต่อจำเลย เมื่อจำเลยไม่กระทำ ทั้งข้อต่อสู้จำเลยพิจารณาแล้วไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์คดีจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเบิกและรับเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้ง 4 โครงการ โดยไม่ชอบแล้วเอาไว้โดยทุจริต คงต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดงมีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้ง 4 โครงการ รวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้กับห้างฯ ทั้งสอง ก่อนมีการเบิกจ่ายเงินจำนวนนี้ยังไม่อยู่ในการครอบครองเก็บรักษาใช้สอยของอำเภอโนนแดง การเบิกจ่ายเมื่อเกิน 30,000 บาท ทางอำเภอโนนแดงโดยนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้รักษาราชการแทนซึ่งขณะนั้นได้แก่นายไชยยศหรือนายสิทธิชัยต้องลงนามในคำสั่งอำเภอโนนแดงแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินตั้งแต่ 2 ถึง 3 คน จากข้าราชการอำเภอโนนแดงไปยื่นเอกสารเบิกและรับเงิน คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎระเบียบแล้วจึงจะเข้าไปมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับเงินดังกล่าวได้ตามกฎระเบียบ หากยังไม่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วไม่ว่าจำเลยหรือผู้ใดก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ไม่ว่าในทางใด ตามข้อเท็จจริงได้วินิจฉัยแล้วฟังได้ข้างต้นเมื่อจำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์ตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบ ไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการฝายประชาอาสาย่อมเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบ จำเลยจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ของตนไม่ว่าโดยทางปกติทั่วไปหรือการได้รับแต่งตั้ง เมื่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติมุ่งเอาผิดต่อบุคคลในฐานะเจ้าพนักงานกระทำความผิดนอกจากผู้นั้นต้องเป็นเจ้าพนักงานแล้วยังต้องกระทำความผิดในอำนาจหน้าที่ตนด้วย หากไม่มีอำนาจหน้าที่ในสิ่งที่ได้กระทำความผิดลงไปนั้น ย่อมถือไม่ได้ว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะเจ้าพนักงาน คงรับผิดฐานะบุคคลธรรมดาทั่วไปที่กระทำความผิดกรณีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเท่านั้น กรณีนี้ไม่ว่าผู้มีอำนาจแต่งตั้งไม่ได้ประสงค์ตั้งจำเลยเป็นกรรมการรับเงินไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้ง 4 โครงการ หรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎระเบียบเพราะตั้งจำเลยคนเดียวเป็นกรรมการรับเงินเกิน 30,000 บาท ก็มีผลเช่นเดียวกันคือจำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้ง 4 โครงการ การที่จำเลยใช้คำสั่ง แม้จะฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมเพราะยุติไปแล้วก็ตาม ไปขอเบิกและรับเงินแล้วได้รับเช็ค แล้วนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต ก็เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงานสำหรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างฝายประชาอาสาทั้ง 4 โครงการ รวม 1,308,104.40 บาท จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตาม ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังเอาไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คนางกรุณาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งต่อนางกรุณาเพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จนนางกรุณาหลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยยังได้แสดงคำสั่งแต่งตั้งต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและยักยอก เมื่อจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งทั้งความผิดฐานยักยอกและฉ้อโกงถือเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ตามข้อเท็จจริงยุติคดีนี้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2539 อำเภอโนนแดงโดยนายไชยยศนายอำเภอได้มอบอำนาจให้นายณรงค์ปลัดอำเภอแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยในความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกเงินค่าวัสดุก่อสร้างฝาย 1,308,104.50 บาท ตรวจดูแล้วถือได้ว่าเป็นให้ร้องทุกข์ในข้อหาความผิดต่อส่วนตัวที่จำเลยกระทำดังกล่าวด้วย และที่มีการแจ้งความเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้สั่งการตามบันทึกสรุปเรื่องที่เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดให้อำเภอโนนแดงดำเนินคดีกับจำเลย ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ซึ่งก่อนนี้ได้มีคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาลงวันที่ 28 มีนาคม 2539 ที่ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องลงโทษข้าราชการออกจากราชการ โดยลงโทษไล่จำเลยออกจากราชการ ระบุข้อความสรุปว่ากรณีจำเลยยักยอกเงินโครงการฝายประชาอาสาของอำเภอโนนแดง 4 โครงการ รวมเป็นเงิน 1,308,104.50 บาท ได้มีการตรวจพบการทุจริตเดือนกันยายน 2538 ทั้งตามคำสั่ง สั่ง ณ วันที่ 28 มีนาคม 2539 ทั้งนายไชยยศและผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมต้องรู้เรื่องจำเลยกระทำการทุจริตดังกล่าวก่อนวันออกคำสั่งฉบับนี้ หากนับจากวันมีคำสั่งถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2539 ซึ่งมีการแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยตามหนังสือมอบอำนาจ เป็นการร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวดังวินิจฉัยจึงขาดอายุความ เรื่องคดีขาดอายุความหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษา นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลที่ยกคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,304,104.40 บาท แก่ผู้เสียหายเท่านั้น ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share