คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11783/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้เช่าพื้นที่ตั้งแต่เวลาห้างจำเลยที่ 1 ปิดบริการเป็นต้นไป คือ ตั้งแต่เวลา 22 นาฬิกา จนถึง 10 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งหากในช่วงดังกล่าวมีทรัพย์สินของผู้เช่าพื้นที่หายไป จำเลยที่ 1 จะรับผิดชอบแก่ผู้เช่าพื้นที่ แสดงว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีความเข้าใจในข้อสัญญาดังกล่าวตรงกันบางส่วนว่า ในเวลาที่ห้างจำเลยที่ 1 เปิดทำการ โจทก์ทั้งสองจะต้องรับผิดชอบดูแลรักษาทรัพย์สินด้วยตนเอง หากเกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าด้วยเหตุประการใดก็ตาม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ในช่วงเวลาที่ห้างจำเลยที่ 1 ปิดทำการ จำเลยที่ 1 จะรับผิดชอบในความสูญหายของทรัพย์สินโจทก์ทั้งสอง สำหรับข้อที่ไม่ตรงกันนั้นโจทก์ทั้งสองอ้างว่า ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 เริ่มแต่เมื่อโจทก์ทั้งสองปิดร้านให้บริการแล้วด้วย เห็นว่า วันใดที่โจทก์ทั้งสองไม่เปิดร้านให้บริการก็ดี หรือเปิดร้านให้บริการแล้ว แต่ปิดร้านก่อนถึงเวลาห้างจำเลยที่ 1 ปิดทำการตามปกติ ซึ่งยังเป็นช่วงเวลาที่อาจมีร้านค้าอื่นยังไม่ปิดบริการ ยังมีประชาชนเข้าออกในการจับจ่ายซื้อของหรือยังมีพนักงานของร้านค้าต่าง ๆ อยู่ในบริเวณพื้นที่เช่าของตน จำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ทุกส่วนของห้างได้เด็ดขาดเพราะยังมีประชาชนเดินเข้าออกอยู่ภายในห้าง ซึ่งง่ายแก่การที่มิจฉาชีพจะแอบแฝงตัวเข้ามาโจรกรรมทรัพย์สินของร้านค้าต่าง ๆ ได้โดยไม่ผิดสังเกต ผิดกับช่วงเวลาที่ห้างปิดทำการแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 จะไม่อนุญาตให้ผู้เช่าพื้นที่ทุกรายรวมทั้งบุคคลภายนอกอยู่หรือเข้าไปภายในห้างได้ จึงเป็นความรับผิดของจำเลยที่ 1 เมื่อทรัพย์สินของผู้เช่าพื้นที่สูญหายไป ดังนี้ ช่วงเวลาที่โจทก์ทั้งสองปิดร้านก่อนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 ปิดห้างตามปกติ จึงเป็นความรับผิดของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเอง ข้อตกลงที่ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลาที่ห้างเปิดทำการ จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เอาเปรียบโจทก์ทั้งสองเกินสมควร จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและบังคับกันได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระราคาทรัพย์สินและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 384,659 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2547 (วันทำละเมิด) จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 362 วัน เป็นเงินค่าดอกเบี้ย 28,612 บาท รวมเป็นเงินถึงวันฟ้องทั้งสิ้น 413,270 บาท ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 384,659 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้สัญญาให้บริการสถานที่หรือสัญญาเช่าพื้นที่ข้อ 2.1 และ 6.8 เป็นโมฆะ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน จำนวน 384,659 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 14 มีนาคม 2548) ต้องไม่เกิน 28,612 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 250,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า ข้อตกลงตามสัญญาให้บริการสถานที่ ข้อ 6.8 ที่ระบุว่า “ผู้รับบริการจะต้องรับผิดชอบ ดูแลรักษาทรัพย์สินของผู้รับบริการด้วยตนเอง หากเกิดความสูญหาย หรือเสียหายขึ้นกับทรัพย์สินของผู้รับบริการไม่ว่าด้วยประการใดก็ตาม บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น” เป็นข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่เห็นได้ชัดว่า เป็นการเอารัดเอาเปรียบโจทก์ทั้งสองให้ต้องดูแลทรัพย์สินของตนเองในระหว่างที่ห้างจำเลยที่ 1 ปิดทำการ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้เช่าพื้นที่รวมทั้งโจทก์ทั้งสอง ทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบโจทก์ทั้งสองเกินสมควร มีผลให้โจทก์ทั้งสองต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าว ข้อ 6.8 จึงตกเป็นโมฆะ เห็นว่า ข้อไม่เป็นธรรมที่โจทก์ทั้งสองยกขึ้นอ้างเป็นเหตุให้ข้อตกลงตามสัญญาข้อดังกล่าวตกเป็นโมฆะนั้น เป็นการหยิบยกข้อไม่เป็นธรรมที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติถึงผลของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมด้วยว่า ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น หาได้บัญญัติให้มีผลว่าตกเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าทั้งหมด แสดงว่า ข้อสัญญายังคงมีผลตามกฎหมายเพียงแต่จะบังคับให้เต็มตามข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมทั้งหมดไม่ได้ คงบังคับกันได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนี้ ข้อไม่เป็นธรรมที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาจึงไม่เป็นผลให้สัญญาข้อดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ตามสัญญาข้อดังกล่าวไม่มีข้อตกลงชัดเจนยกเว้นมิให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 ไม่ตกเป็นโมฆะนั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อต่อไปมีว่า ข้อตกลงตามสัญญาให้บริการสถานที่ ข้อ 6.8 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 ระบุว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้เช่าพื้นที่ตั้งแต่เวลาห้างจำเลยที่ 1 ปิดบริการเป็นต้นไป คือ ตั้งแต่เวลา 22 นาฬิกา จนถึง 10 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งหากในช่วงดังกล่าวมีทรัพย์สินของผู้เช่าพื้นที่หายไป จำเลยที่ 1 จะรับผิดชอบแก่ผู้เช่าพื้นที่ แสดงว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีความเข้าใจในข้อสัญญาดังกล่าวตรงกันบางส่วนว่า ในเวลาที่ห้างจำเลยที่ 1 เปิดทำการ โจทก์ทั้งสองจะต้องรับผิดชอบดูแลรักษาทรัพย์สินด้วยตนเอง หากเกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าด้วยเหตุประการใดก็ตาม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ในช่วงเวลาที่ห้างจำเลยที่ 1 ปิดทำการ จำเลยที่ 1 จะรับผิดชอบในความสูญหายของทรัพย์สินโจทก์ทั้งสอง สำหรับข้อที่ไม่ตรงกันนั้นโจทก์ทั้งสองอ้างว่า ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 เริ่มแต่เมื่อโจทก์ทั้งสองปิดร้านให้บริการแล้วด้วย เห็นว่า วันใดที่โจทก์ทั้งสองไม่เปิดร้านให้บริการก็ดี หรือเปิดร้านให้บริการแล้ว แต่ปิดร้านก่อนถึงเวลาห้างจำเลยที่ 1 ปิดทำการตามปกติ ซึ่งยังเป็นช่วงเวลาที่อาจมีร้านค้าอื่นยังไม่ปิดบริการ ยังมีประชาชนเข้าออกในการจับจ่ายซื้อของหรือยังมีพนักงานของร้านค้าต่าง ๆ อยู่ในบริเวณพื้นที่เช่าของตน จำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ทุกส่วนของห้างได้เด็ดขาดเพราะยังมีประชาชนเดินเข้าออกอยู่ภายในห้าง ซึ่งง่ายแก่การที่มิจฉาชีพจะแอบแฝงตัวเข้ามาโจรกรรมทรัพย์สินของร้านค้าต่าง ๆ ได้โดยไม่ผิดสังเกต ผิดกับช่วงเวลาที่ห้างปิดทำการแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 จะไม่อนุญาตให้ผู้เช่าพื้นที่ทุกรายรวมทั้งบุคคลภายนอกอยู่หรือเข้าไปภายในห้างได้ จึงเป็นความรับผิดของจำเลยที่ 1 เมื่อทรัพย์สินของผู้เช่าพื้นที่สูญหายไป ดังนี้ ช่วงเวลาที่โจทก์ทั้งสองปิดร้านก่อนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 ปิดห้างตามปกติ จึงเป็นความรับผิดของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเอง ข้อตกลงที่ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลาที่ห้างเปิดทำการ จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เอาเปรียบโจทก์ทั้งสองเกินสมควร จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและบังคับกันได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสองประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ เห็นว่า ลูกจ้างของโจทก์ทั้งสองปิดร้านเวลาประมาณ 21 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาก่อนห้างจำเลยที่ 1 ปิดทำการปกติในเวลา 22 นาฬิกา แม้ร้านค้าต่าง ๆ ที่ชั้นใต้ดินของห้างจะได้ปิดบริการเกือบหมดทุกร้านในเวลาเดียวกับร้านโจทก์ทั้งสอง แต่ขณะนั้นห้างจำเลยที่ 1 ยังไม่ปิดบริการและยังไม่ได้ปิดประตูทางเข้าออกห้าง ยังมีประชาชนเดินเข้าออกอยู่บ้างแม้เล็กน้อย และยังอาจมีการขนย้ายสิ่งของและสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าวตามปกติ โดยช่วงเวลาเกิดเหตุมีคนงานจำนวนหนึ่งประมาณ 4 ถึง 5 คน กำลังติดตั้งอุปกรณ์ของร้านเปิดใหม่ซึ่งอยู่ใกล้กับร้านโจทก์ทั้งสอง พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าคนร้ายได้วางแผนโดยเข้ามาดูลาดเลาพื้นที่ก่อนแล้ว รู้ว่าโจทก์ทั้งสองเก็บโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ไว้ในตู้นิรภัยและใช้ผ้าคลุมตู้ไว้ จึงเตรียมกล่องกระดาษขนาดพอบรรจุตู้นิรภัยมาครอบเพื่ออำพรางว่าเป็นกล่องบรรจุสินค้าทั่วไปที่ผู้ใช้บริการหรือพนักงานของร้านค้านำออกไปจากห้างได้ตามปกติ ทั้งคนร้ายรู้เวลาที่ร้านโจทก์ทั้งสองปิดบริการและเวลาปิดบริการของห้างจำเลยที่ 1 โดยอาศัยโอกาสที่ยังมีคนเข้าออกห้างอยู่บ้าง รวมทั้งมีกลุ่มคนงานจำนวนหนึ่งกำลังตกแต่งร้านเปิดใหม่ซึ่งใกล้กับร้านโจทก์ทั้งสองแฝงตัวเข้ามาลักเอาตู้นิรภัยของโจทก์ทั้งสองไปซึ่งเป็นพื้นที่เปิดที่บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้โดยง่ายและอยู่ใกล้กับประตูทางเข้าออก แม้ตู้นิรภัยของโจทก์จะมีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม แต่ก็สามารถใช้กล่องคลุมแล้วดันไปหรือใส่รถเข็นไปได้ไม่ยาก เมื่อโจทก์ทั้งสองปิดร้านก่อนเวลาปิดทำการของห้างจำเลยที่ 1 ก็ควรจะต้องระมัดระวังเก็บรักษาทรัพย์สินให้ยากแก่การเอาไปหรือขนย้ายไปได้โดยง่าย มิฉะนั้นลูกจ้างของโจทก์ทั้งสองจะต้องอยู่ดูแลร้านจนกว่าห้างจำเลยที่ 1 จะปิดทำการ เมื่อลูกจ้างของโจทก์ทั้งสองปิดร้านและออกไปก่อนเวลาห้างจำเลยที่ 1 ปิดทำการ แม้จะได้ปฏิบัติเช่นนี้เป็นปกติเช่นเดียวกับร้านอื่น ก็เป็นช่องทางให้คนร้ายรู้ทางปฏิบัติในการปิดร้านและเก็บรักษาทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองเป็นอย่างดี จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาตามฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใดนั้น เห็นว่า ในการกำหนดค่าเสียหาย ศาลต้องพิจารณาพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนประมาทอยู่ด้วยดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น เมื่อได้คำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดของจำเลยที่ 3 ในครั้งนี้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยกำหนดให้จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 250,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองก็ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า สัญญาให้บริการสถานที่ทำขึ้นด้วยความสมัครใจของคู่สัญญา มุ่งโดยตรงต่อการผูกพันกันตามข้อตกลงในสัญญา จึงไม่ใช่สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียว เมื่อข้อตกลงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีผลบังคับกันได้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้คนร้ายลักทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป จำเลยที่ 1 จึงยกข้อสัญญาข้อ 6.8 ขึ้นกล่าวอ้างเพื่อปัดความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

Share