คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างคือ (3) บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ 18 ปี แต่ยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีให้ได้รับส่วนแบ่งเงินทดแทนต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ เป็นบทบัญญัติที่ถือเอาอายุและการศึกษาเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ไม่ได้บัญญัติว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) จึงต้องถือเอาความเป็นบุตรตามความเป็นจริง
มาตรา 49 บัญญัติให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย แต่ไม่ได้บัญญัติว่าหากไม่ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนระงับสิ้นไป ระยะเวลาการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 180 วัน จึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ใช้สิทธิโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิ ดังนั้นแม้โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนเกิน 180 วัน นับแต่วันที่ผู้ตายประสบอันตรายโจทก์ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินทดแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 249/2548 ลงวันที่ 23 กันยายน 2548 ให้ขยายหรือเลื่อนเวลายื่นคำร้องเรียกเงินทดแทน และให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนอัตราร้อยละหกสิบของค่าจ้างเดือนสุดท้ายเป็นเวลาแปดปีเป็นเงิน 855,000 บาท และค่าทำศพอีกเป็นเงิน 17,000 บาท รวมเป็นเงิน 872,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่ทวงถามจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 249/2548 ลงวันที่ 23 กันยายน 2548 และให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนและเงินค่าทำศพรวมเป็นเงิน 506,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นบุตรของนายศุภกิจ ผู้ตาย กับนางสาวประนอม ตามที่แจ้งในสูติบัตร ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2546 ศาลจังหวัดพิษณุโลกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ตายเป็นลูกจ้างของนายวีรยุทธ และนางอรุณรัตน์ ตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกสิบล้อ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,500 บาท เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2545 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา ขณะที่ผู้ตายกำลังคลายนอตล้อหน้าด้านซ้ายตามคำสั่งของนายวีรยุทธ เนื่องจากรถบรรทุกที่ผู้ตายขับยางล้อหน้าด้านซ้ายแตก มีรถบรรทุกพ่วงชนท้ายรถบรรทุกคันที่ผู้ตายขับเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุนางสาวประนอมได้รับแจ้งจากนายจ้างของผู้ตายว่าไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ตายเป็นลูกจ้างและไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน วันที่ 28 ธันวาคม 2547 พันตำรวจโทเชื้อ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอโนนสูงแจ้งโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทน นางสาวประนอมจึงยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครราชสีมาส่งเรื่องต่อไปให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดยโสธรดำเนินการเนื่องจากนายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดยโสธร สำนักงานประกันสังคมจังหวัดยโสธรให้นายจ้างของผู้ตายขึ้นทะเบียนว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างและให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนย้อนหลัง ต่อมาสำนักงานประกันสังคมจังหวัดยโสธรมีคำวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเนื่องจากยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประสบอันตรายและไม่มีเหตุจำเป็นที่จะให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไป นางสาวประนอมอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดยโสธร นางสาวประนอมทราบคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นบุตรที่แท้จริงของผู้ตาย มีสิทธิขอรับเงินทดแทนได้ ส่วนการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนล่าช้ามิได้เกิดจากการละเลยเพิกเฉยหรือจงใจไม่ไปยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย แต่เป็นกรณีมีเหตุผลสมควรหรือมีความจำเป็นโดยแท้ ถือว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในกำหนดแล้ว
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่าโจทก์ซึ่งมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีนายศุภกิจซึ่งเป็นลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง…(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่ออายุครบสิบแปดปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่” เป็นบทบัญญัติที่ถือว่าเอาอายุและการศึกษาเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ไม่ได้บัญญัติว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) จึงต้องถือเอาความเป็นบุตรตามความเป็นจริง เมื่อโจทก์เป็นบุตรตามความเป็นจริงของผู้ตายจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่าเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างประสบอันตรายเกินกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 49 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่ และมีเหตุเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประสบอันตรายโดยเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมมิได้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลายื่นคำร้องออกไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนและไม่มีสิทธิขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เห็นว่า มาตรา 49 บัญญัติให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย แต่ไม่ได้บัญญัติว่าหากไม่ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนระงับสิ้นไป ระยะเวลาการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันจึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ใช้สิทธิโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิ ดังนั้นแม้โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้ตายประสบอันตรายโจทก์ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินทดแทน กรณีมีเหตุเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share