คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2794/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญามีใจความว่า ผู้รับจ้างได้นำหลักประกันเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นจำนวนร้อยละ 8ของราคาที่จ้าง 1,984,000 บาท มามอบไว้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาและหลักประกันนี้ ผู้ว่าจ้างจะคืนให้เมื่อผู้รับจ้างพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างริบหลักประกันดังกล่าวถือได้ว่าหลักประกันดังกล่าวเป็นการวางไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายในกรณีที่มีการผิดสัญญาเข้าลักษณะเบี้ยปรับ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา380 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ฉะนั้นเมื่อค่าเสียหายของโจทก์มี 3,047,200 บาท จึงชอบที่จะนำเงินตามสัญญาค้ำประกันซึ่งโจทก์ริบไปแล้วมาหักออกจากค่าเสียหายดังกล่าวได้ คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ 1,063,200 บาท ค่าผลงานที่จำเลยทำไปแล้ว ตามปกติจำเลยมีสิทธิได้รับชดใช้คืนจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามแต่ตามสัญญามีข้อกำหนดว่า เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วบรรดางานที่ผู้รับจ้างทำและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำมาไว้ ณ สถานที่ทำงานนั้นโดยเฉพาะเพื่องานจ้างดังกล่าว ผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้าง โดยผู้รับจ้างจะเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้เลย ข้อตกลงนี้มีลักษณะเป็นการที่ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 แก่โจทก์ผู้ว่าจ้างและหากเป็นจำนวนพอสมควรโจทก์มีสิทธิรับผลงานนี้ได้โดยไม่ต้องใช้ราคาแก่จำเลยผู้รับจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารในวงเงิน 24,800,000 บาท กำหนดระยะเวลาทำงานให้แล้วเสร็จภายใน450 วัน นับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2527 โดยมีข้อตกลงว่าถ้าจำเลยที่ 1มิได้ลงมือทำงานภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ดี หรือมีเหตุให้โจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาก็ดี หรือล่วงกำหนดเวลาแล้วเสร็จบริบูรณ์ไปแล้วก็ดีหรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ดี โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำงานที่ค้างอยู่ และหากปรากฏว่าเงินค่างานที่เหลือไม่พอจ่าย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้จนครบและต้องรับผิดค่าใช้จ่ายการควบคุมงานนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเป็นรายวันวันละ 5,000 บาทครั้นต่อมาในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ละทิ้งงานโจทก์ได้มีหนังสือเตือนจำเลยที่ 1 ให้ทำการก่อสร้างต่อไป แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย จนกระทั่งวันที่ 29 เมษายน 2528 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญา และในวันที่ 30 กันยายน 2528 โจทก์ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรชัยคอนสทรัคชั่นก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จเป็นเงิน 27,750,000 บาท และโจทก์ได้ชำระค่าจ้างดังกล่าวแล้ว ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2,950,000 บาทและค่าคนควบคุมงานเพิ่มอีก 97,200 บาท รวมเป็นเงิน 3,047,200 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,047,200 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถก่อสร้างได้เพราะรัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทลงร้อยละ 17.34 จาก23.05 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เป็น 27 บาท ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไป ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างขึ้นราคาจากเดิมประมาณร้อยละ 20 โดยเหตุที่จำเลยที่ 1 คิดคำนวณผลกำไรจากการก่อสร้างไว้ร้อยละ 8 จำเลยที่ 1 จึงได้ขอให้โจทก์เพิ่มเงินชดเชย แต่โจทก์ไม่ตกลง จำเลยที่ 1 จึงขอเลิกสัญญาในขณะที่โจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหายอย่างใด โจทก์ไม่ยินยอม กลับไปว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรชัยคอนสทรัคชั่นเป็นผู้ก่อสร้างแทนจำเลยที่ 1 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้ลงทุนปรับสถานที่ที่จะก่อสร้างสิ้นเงินไปแล้ว 1,055,000 บาท หากโจทก์ยอมเพิ่มเงินชดเชยหรือปรับราคาค่าก่อสร้างแก่จำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกินกว่าที่ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรชัยคอนสทรัคชั่น จำเลยที่ 1 ก็สามารถก่อสร้างงานจนแล้วเสร็จตามสัญญาได้ โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสอง หลังจากที่จำเลยที่ 1แจ้งโจทก์ว่าไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ โจทก์กลับปล่อยเวลาล่วงเลยไปเป็นปี จึงได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรชัยคอนสทรัคชั่นทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2528ซึ่งเป็นเวลาที่วัสดุก่อสร้างขึ้นราคาไปจากเดิมมาก หากโจทก์ว่าจ้างเสียแต่แรกค่าจ้างจะไม่สูงถึง 27,750,000 บาท เพราะจำเลยที่ 1ลงทุนปรับสถานที่ก่อสร้างไว้เรียบร้อยพร้อมที่จะก่อสร้างได้ทันทีโจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรชัยคอนสทรัคชั่นโดยวิธีพิเศษเจาะจงเฉพาะราย ไม่ทำการประกวดราคาทั่ว ๆ ไป ขัดต่อระเบียบว่าด้วยการจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรี สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรชัยคอนสทรัคชั่นไม่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะว่าจ้างคนควบคุมงาน แต่กลับระบุให้ผู้รับจ้างต้องควบคุมเองการที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายคนควบคุมงานก็เพื่อประโยชน์ของโจทก์และเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จำเลยที่ 1 ไม่ผิดสัญญา เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วโจทก์มีหน้าที่คืนหนังสือสัญญาค้ำประกันจำนวนเงิน1,984,000 บาท แก่จำเลยทั้งสองและต้องชำระค่าปรับพื้นที่ ค่าถมดินและอัดบด ค่าไม้และอุปกรณ์วางผังอาคาร ค่าแรงงาน และค่าสร้างสำนักงานชั่วคราว รวมเป็นเงิน 1,055,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์คืนหลักประกันจำนวน 1,984,000 บาท และชดใช้ค่าลงทุนเตรียมการก่อสร้างจำนวน 1,055,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,039,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามหากศาลฟังว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกเงินหลักประกันและเงินลงทุนเตรียมการก่อสร้างแล้วเงินหลักประกันที่โจทก์ริบไว้และเงินค่าลงทุนซึ่งโจทก์ได้รับก็มีจำนวนสูงมากพอแก่ความเสียหายของโจทก์แล้ว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วโจทก์มีสิทธิริบหลักประกันและบรรดางานที่ผู้รับจ้างทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆ ที่ผู้รับจ้างนำมาไว้ ณ ที่ก่อสร้างทั้งหมด จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าเสียหาย ค่าจ้างและค่าเสียหายดังกล่าวสูงกว่าความจริง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน143,641 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2527 โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างศูนย์ขยายพันธุ์พืชจังหวัดกำแพงเพชรในราคา24,800,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้นำหลักประกันเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขากำแพงเพชร เป็นเงิน1,984,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญากำหนดทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 450 วัน นับแต่วันที่ 5ตุลาคม 2527 ซึ่งเป็นวันเริ่มลงมือก่อสร้าง กำหนดจ่ายค่าจ้าง7 งวดตามที่ระบุไว้ ตามสัญญาเอกสารหมาย ป.จ.2 ต่อมาระหว่างที่จำเลยที่ 1 ได้ปรับพื้นที่ ถมดิน และก่อสร้างที่ทำการชั่วคราวและทำงานยังไม่เสร็จงานงวดที่ 1 ทางรัฐบาลได้ประกาศลดค่าเงินบาทซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1อ้างว่าทำให้ค่าวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างแพงขึ้น จึงได้มีหนังสือขอให้โจทก์ปรับราคาค่าก่อสร้างใหม่ แต่โจทก์ไม่อนุญาตและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำงานต่อไป จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าขอหยุดการก่อสร้าง โจทก์มีหนังสือยืนยันให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างจำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือขอให้โจทก์พิจารณาให้จำเลยที่ 1 เลิกสัญญาและขอหยุดการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ต่อมาโจทก์จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและแจ้งริบหลักประกัน และต่อมาโจทก์ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรชัยคอนสทรัคชั่นทำการก่อสร้างต่อจากจำเลยที่ 1 จนแล้วเสร็จ โดยอาศัยผลงานที่จำเลยที่ 1ทำไปแล้ว เป็นค่าจ้างทั้งสิ้น 27,750,000 บาท สูงกว่าราคาที่ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ไว้ 2,950,000 บาท และโจทก์ได้ชำระค่าก่อสร้างแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรชัยคอนสทรัคชั่นไปแล้ว ทั้งโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างคนควบคุมงานอีก 97,200 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์3,047,200 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลล่างทั้งสองนำหลักประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารที่โจทก์ริบไว้เป็นเงิน 1,984,000 บาท กับเงินค่าผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำไปแล้วมาหักออกจากค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่อาจนำเงินจำนวนเหล่านั้นมาหักได้ และค่าผลงานที่จำเลยที่ 1ทำไปแล้ว มีเพียง 200,000 บาท ไม่ถึง 919,559 บาท ตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมา พิเคราะห์แล้วในประเด็นที่ว่าจะนำหลักประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารจำนวน 1,984,000 บาท มาหักออกจากค่าเสียหายของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดได้หรือไม่นั้นเห็นว่าตามสัญญาเอกสารหมาย ป.จ.2 ข้อ 3 มีใจความว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้รับจ้างได้นำหลักประกันเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขากำแพงเพชร เป็นจำนวนร้อยละ 8ของราคาที่จ้าง 1,984,000 บาท มามอบไว้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา และหลักประกันนี้ผู้ว่าจ้างจะคืนให้เมื่อผู้รับจ้างพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว และในข้อ 20 ว่าถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ริบหลักประกันดังกล่าวในสัญญาข้อ 3ฉะนั้นถือได้ว่าหลักประกันดังกล่าวเป็นการวางไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายในกรณีที่มีการผิดสัญญา เข้าลักษณะเบี้ยปรับนั่นเองซึ่งเกี่ยวกับเบี้ยปรับนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา380 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ฉะนั้นเมื่อค่าเสียหายของโจทก์มี 3,047,200 บาท จึงชอบที่จะนำเงินตามสัญญาค้ำประกันซึ่งโจทก์ริบไปแล้วมาหักออกคงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1จะต้องชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 1,063,200 บาท ส่วนค่าผลงานที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไปแล้วอันได้แก่การปรับพื้นที่ ถมดิน สร้างสำนักงานชั่วคราวและบ้านพักคนงานนั้น ตามปกติจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับชดใช้คืนจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามแต่ปรากฏว่า มีสัญญาข้อ 21 กำหนดว่า เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว บรรดางานที่ผู้รับจ้างได้ทำและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำมาไว้ ณ สถานที่ทำงานนั้น โดยเฉพาะเพื่องานจ้างดังกล่าว ผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้าง โดยผู้รับจ้างจะเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้เลย ข้อตกลงนี้มีลักษณะเป็นการที่ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 382 แก่โจทก์ผู้ว่าจ้าง และหากเป็นจำนวนพอสมควรโจทก์มีสิทธิรับผลงานนี้ได้โดยไม่ต้องใช้ราคาให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างอันเป็นผลให้ไม่อาจนำเอาเงินจำนวนนี้ไปหักออกจากจำนวนเงินค่าเสียหายของโจทก์ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ ผู้ว่าจ้างกับสภาพหรือผลงานและพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างปฏิบัติมาแล้วเห็นว่า ไม่ว่าราคาค่าผลงานที่ทำไปแล้วนี้จะเป็น 200,000 บาทตามที่โจทก์อ้าง หรือ 919,559 บาท ตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาก็เป็นจำนวนที่สมควรแล้ว จึงไม่อาจนำเงินจำนวนนี้ไปหักออกจากค่าเสียหายของโจทก์ และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าราคาค่าผลงานที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไปแล้วนี้เป็นเงิน919,559 บาท ตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมา หรือเป็น 200,000 บาทตามที่โจทก์กล่าวอ้างฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์1,063,200 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share