แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อ.ได้เอาประกันภัยรถยนต์ไว้แก่บริษัทจำเลย ในกรมธรรม์ประกันภัยได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อมีการกระทำผิดในทางอาญาซึ่งทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยไม่ชักช้า ต่อมารถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ได้ถูกคนร้ายลักไป อ.แน่ใจในทันทีว่าส.เป็นผู้ลักไปแต่อ.เพิ่งจะไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังจากที่รถถูกลักไปแล้ว 14 วัน ซึ่งอาจเกิดผลเสียหายแก่จำเลยได้ ดังนี้ถือได้ว่า อ.มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนก.ท.6 ม-8560 ได้ให้นางอุษาเช่าซื้อไป นางอุษาได้เอาประกันภัยรถคันดังกล่าวไว้แก่จำเลย หากรถคันดังกล่าวสูญหายไปจำเลยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ต่อมาในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย รถยนต์คันดังกล่าวถูกคนร้ายลักไป จึงขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า รถยนต์สูญหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย และผู้เอาประกันภัยมิได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในทันที จำเลยไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามเงื่อนไขข้อ 1.5 ในกรมธรรม์ประกันภัยได้กำหนดหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยไว้โดยชัดแจ้งว่า เมื่อมีการกระทำผิดในทางอาญาซึ่งทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ชักช้า เมื่อรถยนต์ถูกคนร้ายลักไปนั้น นางอุษาแน่ใจทันทีว่านายสุรินทร์เป็นคนลัก นางอุษาได้ไปตามนายสุรินทร์ที่บ้านแต่ไม่พบ นางอุษาก็น่าจะทราบแน่ชัดแล้วว่าโอกาสที่จะติดตามเอารถคืนมาเป็นการยาก สมควรที่นางอุษาจะต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในโอกาสแรกที่รู้ว่ารถถูกลักไป การปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานถึง 14 วันจึงแจ้งความนั้นอาจเกิดผลเสียหายแก่จำเลยได้ จึงถือไม่ได้ว่าผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
พิพากษายืน