คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2771/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขอให้ฝ่ายจำเลยเวนคืนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน แต่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการให้จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำคดีมาฟ้อง หลังจากนั้นฝ่ายจำเลยมาตกลงซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้จัดซื้อต้องจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายมาอนุโลมใช้บังคับเพื่อคำนวณหาวันที่โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยได้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีก็ชอบที่จะให้ฝ่ายจำเลยชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 13,789,106.83 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 12,160,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์ 315,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน (แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ตามที่โจทก์ขอ) นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 204396 ด้านทิศเหนือซึ่งเหลืออยู่เนื้อที่ 21 ตารางวา ในอัตราตารางวาละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 840,000 บาท พร้อมชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 ตุลาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ขอให้ฝ่ายจำเลยเวนคืนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 แต่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการให้จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2541 หลังจากนั้นเกือบ 1 ปี ฝ่ายจำเลยเพิ่งมาตกลงซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนในส่วนเนื้อที่ 21 ตารางวา ของโจทก์ในราคาตารางวาละ 35,000 บาท กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้จัดซื้อต้องจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายมาอนุโลมใช้บังคับเพื่อคำนวณหาวันที่โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยได้ เพราะบทบัญญัติในส่วนนี้ใช้บังคับสำหรับกรณีที่มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ก่อนนำคดีมาฟ้องศาล เมื่อศาลพิพากษาให้ฝ่ายจำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น ฝ่ายจำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นนับจากวันที่มีการทำสัญญาซื้อขายไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวัน สำหรับคดีนี้โจทก์ไม่พอใจที่ฝ่ายจำเลยเพิกเฉยไม่เวนคืนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล โดยที่ฝ่ายจำเลยยังไม่ได้ตกลงซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีก็ชอบที่จะให้ฝ่ายจำเลยชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจึงชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระราคาที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 204396 เนื้อที่ 21 ตารางวา เพิ่มขึ้นอีก 105,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอของต้นเงิน 840,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 27 กันยายน 2542 และดอกเบี้ยตามนัยดังกล่าวข้างต้นของต้นเงิน 105,000 บาท นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share