แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่าจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฟื้นฟูเกษตรกรไทย จังหวัดมหาสารคาม มีโครงการให้เกษตรกรกู้ยืมเงิน เพื่อให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ยืมเงิน แม้ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกับความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะต่างวาระกันแต่ก็เป็นเจตนาของจำเลยที่จะหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดนั่นเอง จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นกรรมเดียวกัน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษเท่ากัน ศาลให้ลงโทษฐานฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2546 เวลากลางวัน จำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงประชาชน รวมทั้งนางสวาท ปิโคทัง ผู้เสียหายที่ 1 นางสังวาลย์ สมจันทร์ ผู้เสียหายที่ 2 นางละมัย ปัดตาเคนัง ผู้เสียหายที่ 3 นางวิจิตร หารี ผู้เสียหายที่ 4 นางผัน ปัญจะขัน ผู้เสียหายที่ 5 นางจันทร์ พุทธไธสง ผู้เสียหายที่ 6 และนายสมุทร์ แก้วลาย ผู้เสียหายที่ 7 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฟื้นฟูเกษตรกรไทย จังหวัดมหาสารคามมีโครงการให้เกษตรกรในหมู่บ้านหนองหว้าน้อย ตำบลหนองไฮ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม กู้ยืมเงินตามโครงการเลี้ยงโคกระบือ โดยสามารถกู้ยืมเงินได้คนละ 20,000 บาท ขึ้นไปในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลา 10 ปี โดยให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดและประชาชนที่ประสงค์จะขอกู้ยืมเงินตามโครงการดังกล่าวจัดเตรียมเอกสารคือ โฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนมอบให้จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ยืมเงินตามโครงการดังกล่าวอันเป็นเท็จ ความจริงแล้วไม่มีหน่วยงานของทางราชการขององค์กรเอกชนใดชื่อสำนักงานฟื้นฟูเกษตรกรไทย จังหวัดมหาสารคามตลอดจนไม่มีโครงการให้เกษตรกรกู้ยืมเงินตามโครงการเลี้ยงโคกระบือในอัตราดอกเบี้ยต่ำตามที่จำเลยหลอกลวง โดยการหลอกลวงของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยได้ไปซึ่งโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายทั้งเจ็ดรวมเป็นราคาทั้งสิ้น 1,540 บาท หลังเกิดเหตุดังกล่าวจำเลยได้ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันเป็นเอกสารของผู้เสียหายทั้งเจ็ดในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดหรือประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 188, 341, 343 ให้จำเลยคืนโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่ได้คืน หรือใช้ราคา 1,490 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ด และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 (ที่ถูกมาตรา 343 วรรคหนึ่ง), 188 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกงประชาชน จำคุก 6 เดือน ฐานทำให้สูญหายซึ่งเอกสารของผู้อื่น จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า เหตุที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่าจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฟื้นฟูเกษตรกรไทย จังหวัดมหาสารคามมีโครงการให้เกษตรกรกู้ยืมเงิน ก็เพื่อให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ยืมเงิน แม้ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกับความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะต่างวาระกันแต่ก็เป็นเจตนาของจำเลยที่จะหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดนั่นเอง ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นกรรมเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยเป็นสองกรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง จำคุก 6 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4