แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่คู่ความแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 เป็นการตั้งตัวแทนตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน แม้สัญญาตัวแทนจะระงับไปเมื่อผู้ร้องถึงแก่กรรม ทนายผู้ร้องก็ยังมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของผู้ร้องต่อไปจนกว่าทายาทหรือผู้แทนของผู้ร้องจะอาจเข้ามาปกปักรักษาผลประโยชน์ของผู้ร้องโดยการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42
ผู้ร้องถึงแก่กรรมวันที่ 30 พฤศจิกายน 2546 ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์มรดกของผู้ร้องจึงอาจร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ในการดำเนินคดีของผู้ร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ร้องถึงแก่กรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 แต่ก็ไม่มีการร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องตามบทบัญญัติดังกล่าว จนกระทั่งโจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดี ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังในวันที่ 19 ธันวาคม 2548 จึงถือได้ว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่ตัวแทนหรือทนายผู้ร้องจะจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 แล้ว ทนายผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนผู้ร้องต่อไป
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสี่สำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยทั้งสี่สำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ขนย้ายบ้านเรือน ทรัพย์สิน และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามมิให้เกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายบ้านเรือน ทรัพย์สิน และบริวารออกไปหมดสิ้น ให้จำเลยทั้งสี่แต่ละคนใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
คดีอยู่ในระหว่างการบังคับคดี นางเริ่ม ปรางทอง ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นมารดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ยินยอมให้จำเลยทั้งสี่เข้าอยู่อาศัยและครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกสร้างบ้านและทำนาบริเวณลำบึงไทรชะมด (ที่พิพาท) ซึ่งเป็นบริเวณสาธารณประโยชน์ ผู้ร้องและครอบครัวได้เข้าทำประโยชน์บริเวณที่พิพาทมาประมาณ 50 ถึง 60 ปี แล้ว ที่ดินและบ้านดังกล่าวเป็นของผู้ร้องและมีสิทธิเหนือจำเลยทั้งสี่ ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์ ผู้ร้องมีส่วนได้เสียและมีสิทธิพิเศษ ขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องมีสิทธิพิเศษตามกฎหมาย
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่เคยเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทและที่ดินพิพาทไม่มีบ้านของผู้ร้องปลูกอยู่ ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์หรือเป็นของผู้ร้องและคดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฎีกาพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสี่และเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่คัดค้านคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 7 มิถุนายน 2548 อ้างว่า ผู้ร้องได้ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2546 บัดนี้ ครบกำหนด 1 ปีแล้ว ไม่มีบุคคลใดเข้ารับมรดกความแทนผู้ร้อง โจทก์จึงขอศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 เพื่อที่โจทก์จะได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า การที่คู่ความแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 นั้น เป็นการตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำร้องขอให้จำหน่ายคดีของโจทก์ และสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรเอกสารท้ายคำร้อง หมายเลข 1 และแบบรับรองรายการทะเบียนคนตายเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2 ว่า ผู้ร้องได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2546 กรณีจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตายก็ดี….. ท่านว่าตัวแทนต้องจัดการอันสมควรทุกอย่าง เพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อันเอาได้มอบหมายแก่ตนไป จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้น ๆ ได้ ดังนั้น แม้สัญญาตัวแทนจะระงับไปเมื่อผู้ร้องถึงแก่กรรม ทนายผู้ร้องก็ยังมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของผู้ร้องต่อไปจนกว่าทายาทหรือผู้แทนของผู้ร้องจะอาจเข้ามาปกปักรักษาผลประโยชน์ของผู้ร้อง โดยการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องผู้มรณะตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ข้อเท็จจริงฟังได้จากคำร้องขอให้จำหน่ายคดีของโจทก์ว่าผู้ร้องถึงแก่กรรมตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2546 ขณะคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์มรดกของผู้ร้องผู้มรณะจึงอาจร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ในการดำเนินคดีของผู้ร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ร้องถึงแก่กรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 แต่ก็ไม่มีการร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องผู้มรณะตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จนกระทั่งโจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดี ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังในวันที่ 19 ธันวาคม 2548 จึงถือได้ว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่ตัวแทนหรือทนายผู้ร้องจะจัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 แล้ว ทนายผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนผู้ร้องต่อไป เมื่อปรากฏว่าทนายผู้ร้องยื่นฎีกาคดีนี้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2549 อันเป็นระยะเวลาหลังจากที่ทนายผู้ร้องหมดอำนาจแล้ว ฎีกาของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247”
พิพากษายกฎีกาผู้ร้อง คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่ผู้ร้องค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ