คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11979/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือทวงถามของโจทก์กรณีเรียกภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ได้รับคืนไป แม้จะมิใช่หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ข้ออ้างสิทธิของโจทก์และจำนวนเงินที่โจทก์ทวงถามตามหนังสือดังกล่าว ก็เป็นมูลเดียวกันกับที่เจ้าพนักงานประเมินออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 แสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องนั่นเอง ข้อพิพาทในคดีนี้ที่ว่าจำเลยที่ 1 ต้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับคืนไปให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 7(1) ซึ่งจะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง และไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 8
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2547)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันใช้เงินจำนวน 1,688,836.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ของต้นเงินจำนวน 1,580,197.92 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำร้องของจำเลยทั้งสองว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 คืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่รับคืนไปจากโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีทุกเดือนภาษี หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับคืนภาษี ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม โดยมีสิทธิขอคืนพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีของเดือนภาษีนั้น ตาม ป. รัษฎากรตาม มาตรา 84 ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ได้รับคืนไปจากโจทก์ตามฟ้องเป็นการปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้รับคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิ และโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ให้คืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์แล้วแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องนั้น แม้หนังสือทวงถามของโจทก์ดังกล่าวจะมิใช่หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ข้ออ้างสิทธิของโจทก์และจำนวนเงินที่โจทก์ทวงถามตามหนังสือดังกล่าวก็เป็นมูลเดียวกันกับที่เจ้าพนักงานประเมินออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 แสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องนั่นเอง ข้อพิพาทในคดีนี้ที่ว่าจำเลยที่ 1 ต้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับคืนไปให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (1) ซึ่งจะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องและไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 8 คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง.

Share