แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” บทกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสี่จะมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสี่ก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้ชำระเพิ่มขึ้นนั้นด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์ 2,571,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของเงินต้น 2,286,200 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ทั้งที่ดินของโจกท์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนก็มีราคาสูงขึ้น จำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้ผิดนัดเนื่องจากโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสี่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 289,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในแต่ละช่วงเวลานับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 27843 ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 1 ไร่ 76 ตารางวา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2538 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี – หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2538 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 ทำให้ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนบางส่วนเนื้อที่ 32.20 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 14,000 บาท โจทก์ไม่พอใจจึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 15,000 บาท ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 24,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 24,000 บาท เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมหรือไม่ เห็นว่า การเวนคืนที่ดินของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ที่ให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งคดีนี้ได้แก่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นรวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม และตามวรรคสองที่บัญญัติว่า ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้นให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน แต่ไม่ให้ถือว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อจะให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกลับต้องใช้เงินให้อีก โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวา 85,000 บาท เพราะบริเวณที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่ในทำเลการค้าที่เจริญมากและอยู่ในย่านชุมชน มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดสูงมาก เช่น เมื่อปี 2539 บริษัทสินชฎาทอง จำกัด ขายที่ดินให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อก่อสร้างสำนักงานสาขาสามแยกปักธงชัยราคาตารางวาละ 75,575 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.16 เมื่อปี 2536 นางสาวเง็กลั้ง ขายที่ดินให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อตั้งสาขาย่อยถนนมิตรภาพราคาตารางวาละ 85,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.17 และเมื่อปี 2538 นายเลียง ขายที่ดินให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อตั้งสำนักงานสาขา ราคาตารางวาละ 117,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.18 โดยเฉลี่ยมีราคาตารางวาละ 92,500 บาท เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2539 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 59521 และ 49600 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ห่างจากที่ดินของโจทก์ประมาณ 600 เมตร มีผู้ประมูลซื้อได้ในราคาตารางวาละ 55,681 บาท ตามสำเนารายงานเจ้าพนักงานบังคับคดีเอกสารหมาย จ.29 นอกจากที่ดินของนางสมศรี และนายทนงศักดิ์ อยู่บริเวณเดียวกับโจทก์และถูกเวนคืนคราวเดียวกัน จำเลยทั้งสี่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตารางวาละ 80,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.20 จ.23 ถึง จ.28 ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพียงเล็กน้อยที่ดินส่วนที่เหลือมีจำนวนมาก ทำให้ที่ดินของโจทก์มีราคาเพิ่มขึ้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 15,000 บาท จึงเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.18 ที่โจทก์อ้างว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซื้อที่ดินเพื่อตั้งสำนักงานสาขาในราคาตารางวาละ 117,000 บาท นั้น ได้ความมาจากสำเนาบันทึกการประเมินราคาทรัพย์สิน เอกสารหมาย จ.18 แผ่นที่ 2 ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซื้อมาในราคา 23,400,000 บาท จึงมีราคาตารางวาละ 39,000 บาท มิใช่ตารางวาละ 117,000 บาท ตามที่โจทก์อ้าง ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซื้อที่ดินไว้เป็นที่ตั้งสำนักงานสาขาของธนาคารเพื่อประกอบกิจการค้าหากำไร ต้องคำนึงถึงทำเลที่ตั้งของที่ดินเป็นสำคัญเพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจการค้าของตน เชื่อว่าทำเลที่ตั้งย่อมดีกว่าที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้ผู้ขายสามารถเรียกราคาที่ดินสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดได้ สำหรับการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 59521 และ 49600 ของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามเอกสารหมาย จ.29 ก็ปรากฏว่าธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นผู้ซื้อได้ มีเหตุผลให้เชื่อว่าวัตถุประสงค์ของการสู้ราคาในการขายทอดตลาดสูง ก็เพราะมีจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษายังค้างชำระอยู่ จึงมิใช่ราคาซื้อขายกันตามปกติ ทั้งการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก็เกิดขึ้นภายหลังวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ แล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่าทางราชการจะสร้างถนนเลี่ยงเมืองย่านที่ดินในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงทำให้บริเวณดังกล่าวมีความเจริญเพิ่มขึ้น ราคาที่ดินในบริเวณนั้นย่อมสูงขึ้นกว่าราคาที่ซื้อขายกันในวันใช้บังคับตามพระราชกฤษฎีกาฯ ส่วนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้นางสมศรี และนายทนงศักดิ์ ตารางวาละ 80,000 บาท ดังที่โจทก์ฎีกานั้น ก็ได้ความจากนางสมศรีว่า มีที่ดิน 4 แปลง ถูกเวนคืนทุกแปลงส่วนที่ดินของนายทนงศักดิ์นั้น ได้ความจากโจทก์ว่า อยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ประมาณ 400 เมตร ถึง 500 เมตร และถูกเวนคืนทั้งแปลงและความเสียหายย่อมมากกว่าโจทก์ จึงนำมาเปรียบเทียบกับที่ดินของโจทก์ไม่ได้ อย่างไรก็ตามที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินแปลงใหญ่ถูกเวนคืนบางส่วนเนื้อที่ 32.20 ตารางวา จึงยังเหลือที่ดินจากการเวนคืนเนื้อที่จำนวนมากถึง 1 ไร่ 43.80 ตารางวา ทั้งถูกเวนคืนก่อนแปลงสุดท้ายของถนน เดิมที่ดินของโจทก์ขณะที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับ ถนนมิตรภาพมีผิวจราจรเพียง 2 ช่องเดินรถ แต่ภายหลังการเวนคืนมีการขยายผิวจราจรทำให้ที่ดินของโจทก์อยู่ติดถนน 8 ช่องเดินรถทั้งกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ทำให้การคมนาคมบริเวณที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีความสะดวกรวดเร็วแก่การจราจรและความปลอดภัยยิ่งกว่าถนน 2 ช่องเดินรถอยู่มากทำให้มีความเจริญเพิ่มขึ้น โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากการเวนคืนครั้งนี้อันเนื่องมาจากที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมอยู่บ้าง เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาสูงขึ้นดังกล่าวประกอบด้วยแล้ว เห็นว่า ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 14,000 บาท แล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 15,000 บาท ยังต่ำไป แต่ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 25,000 บาท นั้น ก็เป็นราคาที่สูงเกินสมควร เพราะการงานหรือกิจการที่ได้ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้ที่ดินที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ที่มีจำนวนเนื้อที่มากถึง 1 ไร่ 43.80 ตารางวา มีราคาสูงขึ้น ซึ่งเมื่อนำมาคิดคำนวณหักออกจากเงินค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคสอง แล้ว ศาลฎีกาคณะคดีปกครอง เห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่เป็นธรรมคืออัตราตารางวาละ 20,000 บาท เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กำหนดให้อีกตารางวาละ 5,000 บาท โจทก์ถูกเวนคืนที่ดินไปเนื้อที่ 32.20 ตารางวา เป็นเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น 161,000 บาท ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสี่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้ผิดนัดเนื่องจากโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้ว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” เห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสี่จะมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสี่ก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้ชำระเพิ่มขึ้นนั้นด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มอีก 161,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ