คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การหักลดหย่อนสำหรับบุตร ตามมาตรา 47 แห่ง ป. รัษฎากร มิได้ให้ความหมายของคำว่า มหาวิทยาลัย หรือชั้นอุดมศึกษาไว้เป็นพิเศษ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัย หมายถึง สถาบันอุดมศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชา หรือหลายกลุ่มสาขาวิชา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญาและประกาศนียบัตรบัณฑิตแก่ผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งดำเนินการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ส่วนคำว่า อุดมศึกษา หมายถึง การศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษา แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะแบ่งเบาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีบุตรที่มิได้เป็นผู้เยาว์และอายุยังไม่เกิน 25 ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาใด ๆ ในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษา อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีระดับการศึกษาสูงขึ้น
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เป็นสถาบันที่เนติบัณฑิตยสภาก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสิทธิ์ประสาทและส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์ และความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายโดยเฉพาะ โดยมีคณะอำนวยการศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. เนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 มาตรา 8 โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นนักศึกษาของสำนักอบรม ฯ จะต้องเป็นผู้ที่สอบไล่ได้ปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ และเมื่อสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิตได้จะได้รับประกาศนียบัตรเป็นเนติบัณฑิต จึงเห็นได้ว่าสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเป็นสถาบันการศึกษาในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษา สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจึงเป็นชั้นอุดมศึกษาตามความหมายของมาตรา 47 แห่ง ป. รัษฎากร โจทก์จึงมีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ และให้จำเลยคืนเงินจำนวน ๑,๓๗๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. ๙๐) ประจำปีภาษี ๒๕๓๙ แสดงรายการว่าโจทก์มีเงินได้จากการประกอบอาชีพอิสระ (ทนายความ) และหักลดหย่อนบุตร ๒ คน โดยโจทก์เห็นว่าในปี ๒๕๓๙ โจทก์มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับบุตรของตนตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๗ (๑) (ค) ได้ แม้นางสาวปรียพร ลิมอักษร บุตรคนหนึ่งของโจทก์มีอายุ ๒๓ ปี แล้ว เพราะกำลังศึกษาที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี ๒๕๓๙ โดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับบุตรทั้งสองคน โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วชำระเงินภาษีเพิ่มเติมและเงินเพิ่มตามการประเมินดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับนางสาวปรียพร เพราะนางสาวปรียพรไม่ได้เป็นผู้เยาว์และสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาไม่ใช่มหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาตามความหมายของมาตรา ๔๗ แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีสิทธิหักลดหย่อนบุตรและหักลดหย่อนการศึกษาสำหรับบุตรคนที่ ๒ ได้ มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเป็นมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาตามความหมายของมาตรา ๔๗ แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากรมิได้ให้ความหมายของคำว่า มหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาไว้เป็นพิเศษ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัย หมายถึงสถาบันอุดมศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชาหรือหลายกลุ่มสาขาวิชาเพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญาและประกาศนียบัตรบัณฑิตแก่ผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งดำเนินการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ส่วนคำว่า อุดมศึกษา หมายถึงการศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษา เมื่อคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้แล้ว เห็นว่า กฎหมายประสงค์จะแบ่งเบาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีบุตรที่ไม่ได้เป็นผู้เยาว์และอายุยังไม่เกิน ๒๕ ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาใด ๆ ในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษาอันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศมีระดับการศึกษาสูงขึ้น สำหรับสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภานั้นเป็นสถาบันที่เนติบัณฑิตยสภาก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสิทธิ์ประสาทและส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์และความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายโดยเฉพาะ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาซึ่งแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๘ โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นนักศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจะต้องเป็นผู้ที่สอบไล่ได้ปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ และเมื่อสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิตได้จะได้รับประกาศนียบัตรเป็นเนติบัณฑิต จึงเห็นได้ชัดเจนว่า แม้สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจะมิใช่มหาวิทยาลัยแต่ก็เป็นสถาบันการศึกษาในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษา ดังนั้นสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจึงเป็นชั้นอุดมศึกษาตามความหมายของมาตรา ๔๗ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิหักลดหย่อนบุตรสำหรับนางสาวปรียพรได้…
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ. ๒/๗๒๖๐/ป. ๔/๑/๔๕/๙๔ ฉบับลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ เฉพาะในส่วนที่ให้เรียกเก็บเงินภาษี ๓๗๕ บาท และเงินเพิ่มอีก ๒๖๔.๓๗ บาท รวมเป็นเงิน ๖๓๙.๓๗ บาท จากโจทก์สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี ๒๕๓๙ ให้จำเลยคืนเงินจำนวน ๑,๓๗๖ บาท ที่โจทก์ชำระเป็นค่าภาษีเงินได้ตามการประเมินพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่ได้รับคืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share