คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ 2193/2537 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2537 เรื่องการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน (ด้านคดี) มีข้อความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงออกคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหัวหน้าส่วนราชการของสำนักงานปลัดกระทรวง สาธารณสุขในการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีในทางแพ่งและอาญา เมื่อเกิดการทุจริตหรือเสียหายแก่ทรัพย์สินของสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในจังหวัดนั้น คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงการออกคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแทนโจทก์ เป็นการมอบอำนาจเฉพาะการแจ้งความเท่านั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดมิใช่เป็นตัวแทนของโจทก์ในเรื่องอื่น ๆ ด้วย การที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ลงชื่อรับทราบรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง จึงไม่ใช่การลงชื่อในฐานะตัวแทนของโจทก์และถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดในวันดังกล่าว
รถยนต์ของโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2539 ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดในทางแพ่ง ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดชอบในทางแพ่ง ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นรักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นรับทราบรายงานเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2539 ต่อมาจังหวัดขอนแก่นส่งรายงานการสอบสวนไปให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขรักษาการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงชื่อ รับทราบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2539 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2540 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๔๓๖,๔๗๖.๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๔๗,๑๙๔.๐๑ บาท รวมเป็นเงิน ๔๘๓,๖๗๐.๕๕ บาท ให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๔๓๖,๔๗๖.๕๔ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงินจำนวน ๔๓๒,๖๔๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นวันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นวันฟ้องให้ไม่เกิน ๔๗,๑๙๔.๐๑ บาท ) ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์โดยสารประจำทางไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์พยาบาลของโจทก์ได้รับความเสียหาย วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๙ นายธวัชชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มีหนังสือมอบอำนาจให้นายพุทธาไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ในทางแพ่งและทางอาญาต่อผู้ทำละเมิดทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย โดยระบุว่าผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตามคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ ๒๑๙๓/๒๕๓๗ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๗ เรื่อง การมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน (ด้านคดี) ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีข้อความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๘ แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงออกคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหัวหน้าส่วนราชการของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีในทางแพ่งและอาญา เมื่อเกิดการทุจริตหรือเสียหาย แก่ทรัพย์สินของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในจังหวัด เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงการออกคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแทนโจทก์ เป็นการมอบอำนาจเฉพาะการแจ้งความเท่านั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นมิใช่ตัวแทนของโจทก์ในเรื่องอื่น ๆ ดังนั้น การที่นายสัมพันธ์รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ลงชื่อรับทราบรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๙ จึงไม่ใช่การลงชื่อในฐานะตัวแทนของโจทก์และถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๙ โจทก์นำสืบว่ารายงานการ สอบสวนดังกล่าวได้มีการส่งต่อไปยังโจทก์และนายยุทธรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขรักษาราชการแทน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงชื่อรับทราบเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๓๙ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและ รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๓๙ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๐ ฟ้องโจทก์ จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๒ มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสองศาลรวม ๘,๐๐๐ บาท .

Share