แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษปรับและให้จำเลยออกจากป่าที่แผ้วถางเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษากล่าวคือ ยังคงครอบครองป่าที่ศาลสั่งให้ออกอยู่ โจทก์จึงมีคำขอต่อศาลให้บังคับคดีศาลย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาขั้นบังคับคดีแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 297 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โดยไม่จำเป็นจะต้องให้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยในทางแพ่งขึ้นมาใหม่ จำเลยจะอ้างว่าตนได้ครอบครองที่ป่ามาช้านานจนกลายเป็นที่นาดังนี้ถือว่า เป็นการอ้างข้อเท็จจริงมาใหม่ขัดกับข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในทางพิจารณาหากจะฟังข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างมา ก็เท่ากับให้ดำเนินคดีกับจำเลยใหม่ ซึ่งจะมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วย่อมเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190โดยห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด
ย่อยาว
คดีทั้ง 11 สำนวนนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยด้วยข้อหาทำนองเดียวกันว่า จำเลยแต่ละสำนวนแผ้วถาง ก่นสร้าง เผา ทำลายป่า ตัดฟันไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน แล้วจำเลยบังอาจเข้ายึดถือจับจองครอบครองป่าที่แผ้วถางนั้น โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีสิทธิครอบครอง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 7, 11, 54, 55, 72, 72 ตรี, 73, 74 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494มาตรา 6, 14, 17 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 5, 11, 16, 17, 18,21 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6, 9, 108 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 มาตรา 3, 4 และให้ศาลสั่งให้ออกจากป่าที่แผ้วถางจับจองครอบครองยึดถือด้วย
จำเลยทุกสำนวนให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องทุกประการ ให้ลงโทษปรับจำเลยสำนวนละ 200 บาท และให้จำเลยออกจากป่าที่แผ้วถาง คดีทุกสำนวนถึงที่สุด ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นทั้ง 11 สำนวน ว่าจำเลยแต่ละสำนวนยังคงยึดถือครอบครองป่าที่ศาลสั่งให้ออกอยู่ ให้ออกหมายจับและกักขังจำเลยซึ่งจงใจไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล
ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกจำเลยทุกสำนวนมาสอบถาม จำเลยแถลงว่าที่ป่าที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่าแผ้วถางนั้น จำเลยได้ครอบครองทำมาช้านานจำเลยทุกคนเว้นแต่นางตุม นายดำ นายแก้ว มี ส.ค.1 ประกอบการครอบครองด้วย โจทก์แถลงว่าไม่แน่ว่าจะเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับป่าที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้พนักงานศาลไปรังวัดทำแผนที่ปรากฏว่าป่าที่จำเลยทั้ง 11 สำนวนแผ้วถางครอบครองตามฟ้องเป็นป่าแห่งเดียวกันและอยู่ติดต่อกัน โจทก์จำเลยรับรองว่าแผนที่ถูกต้องเพื่อสะดวกในชั้นไต่สวนบังคับคดี ศาลชั้นต้นจึงสั่งรวมพิจารณา
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัย ให้งดการไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ปรากฏตามแผนที่กลางว่าที่พิพาทเป็นป่าทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหนองอาแว่น มีป่าเหลืออยู่บ้างเล็กน้อย นอกนั้นเป็นที่นาบ้างที่ปลูกบ้านอาศัยจนกลายเป็นหมู่บ้านตาม ส.ค.1 แสดงว่าจำเลยได้ครอบครองเป็นที่นามาแต่ พ.ศ. 2498 ไม่ใช่เพิ่งจะแผ้วถางครอบครองจะบังคับให้จำเลยออกไปตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 ยังไม่สมควร โจทก์ชอบที่จะดำเนินคดีฟ้องขับไล่ใหม่ ให้ยกคำร้องโจทก์ทุกสำนวน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทุกสำนวนอยู่ในฐานะที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา เมื่อเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติตาม โจทก์มีสิทธิร้องให้ศาลจับกุมกักขังจำเลยเพื่อบังคับให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 297 ถึง 300 มาใช้บังคับ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ดำเนินการสั่งในทางบังคับคดีตามนัยดังกล่าวข้างต้น
จำเลยทุกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา คือออกไปจากป่าที่จำเลยรับว่าได้เข้าแผ้วถางและยึดถือครอบครองโดยผิดกฎหมาย เมื่อจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา และโจทก์มีคำขอให้บังคับคดี ศาลมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 297 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ไม่จำเป็นจะต้องให้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยในทางแพ่งขึ้นมาใหม่ การที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้ครอบครองที่ป่ามาช้านานจนกลายเป็นที่นา เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ขัดกับข้อเท็จจริงซึ่งฟังเป็นยุติในทางพิจารณาแล้ว หากรับฟังข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างและให้ดำเนินคดีกับจำเลยใหม่ จะมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ซึ่งห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้ว นอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด
พิพากษายืน