แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทนอกจากมีสำนักงานแห่งใหญ่แล้ว ย่อมจะมีสาขาสำนักงานอื่นอีกได้สาขาสำนักงานแห่งใดก็คือส่วนหนึ่งของบริษัทนั่นเอง สำนักงานแห่งใหญ่และสาขาสำนักงานมีฐานะตามกฎหมายเป็นนิติบุคคลเดียวกันแต่ภูมิลำเนาอาจมีได้หลายแห่งสุดแต่กิจการอันทำนั้นจะทำ ณ ที่ใดตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 71 บัญญัติไว้วัตถุประสงค์ของสำนักงานใหญ่เป็นประการใด ต้องถือว่าสาขาสำนักงานมีวัตถุประสงค์เป็นเช่นนั้นด้วย ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 มีเจตนารมณ์ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพื่อรักษาดุลอำนาจทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศและเพื่อให้การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นส่วนรวม จึงต้องให้คนต่างด้าวไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน จึงจะประกอบธุรกิจได้การได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจกับการมีวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือเอกสารจัดตั้งเป็นกรณีที่แตกต่างกัน จะถือเอาใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ออกตามประกาศดังกล่าวเป็นวัตถุประสงค์ของจำเลย ซึ่งเป็นสาขาสำนักงานของบริษัทต่างด้าวไม่ได้สาขาของบริษัทจำเลยในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับแห่งลิเบียมอบอำนาจให้สำนักงานจัดหางานในประเทศไทยทำสัญญาจ้างโจทก์ แล้วส่งโจทก์ไปทำงานในประเทศดังกล่าวถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทจำเลย ซึ่งเป็นนิติบุคคลเดียวโจทก์ฟ้องจำเลยในประเทศไทยได้
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีอำนาจและไม่เคยทำสัญญาจ้าง โจทก์ในประเทศไทยครั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 ในประเทศไทยจำเลยจะอุทธรณ์ว่าระยะเวลาว่าจ้างตามเอกสารหมาย จ.7 สุดสิ้นลง แล้วและโจทก์ทำสัญญาใหม่กับสาขาสำนักงานในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับแห่งลิเบียตามเอกสารหมาย ล.1 เช่นนี้หาได้ไม่เพราะไม่เป็นประเด็นในคำให้การและเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง และต้องถือว่าไม่มีสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.1
โจทก์มีสิทธิหยุดงานได้ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2527 โจทก์ขอลากิจต่ออีกสามสัปดาห์โดยยื่นใบลาวันที่ 12 พฤษภาคม 2527 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลาสาขาสำนักงาน ของบริษัทจำเลยในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับแห่งลิเบียมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทันทีในวันดังกล่าวโจทก์ยังมิได้ละทิ้งหน้าที่เพราะโจทก์ยังมีสิทธิหยุดงานได้อีก 1 วันและการที่สาขาสำนักงานในประเทศไทยได้แจ้งให้โจทก์ทราบทางโทรเลขเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2527 นับแต่สิ้นสุดวันลา หากโจทก์ละทิ้งหน้าที่โจทก์ก็ละทิ้งเพียง 2 วันเท่านั้นจำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนโจทก์ละทิ้งหน้าที่ 3 วัน ก่อนโจทก์กระทำความผิดต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
แม้การกำหนดหน้าที่นำสืบก่อนหลังของศาลแรงงานกลางจะไม่ถูกต้อง แต่เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้ว หาควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานหลักฐานใหม่อีกไม่เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้
โจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานอ้างตนเองเป็นพยานโดยปกติโจทก์ก็ต้องเข้าเบิกความตามที่ระบุอ้าง หากจำเลยประสงค์จะซักถามต้องการทราบข้อเท็จจริงอันใดจากตัวโจทก์ต้องการให้โจทก์อธิบายข้อเท็จจริงใด ๆ หรือให้ดูให้อธิบายข้อความในเอกสารใดก็ย่อมกระทำได้ในชั้นซักค้านอยู่แล้วการที่ศาลแรงงานกลางไม่เรียกโจทก์เข้าสืบในฐานะพยาน จำเลยผู้มีหน้าที่นำสืบก่อนโดยเห็นว่าไม่จำเป็นจึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตำแหน่งพนักงานประจำสำนักงานเงินเดือนเดือนสุดท้าย ๒๐,๗๗๘ บาท กำหนดจ่ายทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม๒๕๒๗ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและโดยปราศจากเหตุผลเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓๑,๑๖๗ บาท ค่าชดเชย ๖๒,๓๓๔ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๒๔๙,๓๓๖ บาท และค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับจากประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับแห่งลิเบียถึงประเทศไทย ๑๖,๒๓๒ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเพียงสาขาสำนักงานของบริษัทสแกนสกา ซีเมนจูทีเรียตจำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสวีเดนและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสวีเดนจำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ จำเลยไม่เคยจ้างโจทก์ผู้ว่าจ้างโจทก์คือบริษัทสแกนสกา ซีเมนจูทีเรียต จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับแห่งลิเบีย สัญญาจ้างและการทำงานทำกันในประเทศดังกล่าว การเลิกจ้างก็เลิกในประเทศดังกล่าว มูลคดีไม่ได้เกิดในประเทศไทย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องสาเหตุที่บริษัทฯ นายจ้างเลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย โดยโจทก์จองตั๋วเครื่องบินในนามของบริษัทฯ นายจ้างเพื่อให้คนงานไทยในประเทศดังกล่าวเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อจะเอาส่วนลดจากบริษัทสายการบิน บริษัทฯ นายจ้างต้องยกเลิกการจองตั๋วเครื่องบินซ้ำซ้อนทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นเงินจำนวนมาก และโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควรคือโจทก์ลากิจส่วนตัวเดินทางกลับประเทศไทยสิบวัน ก่อนครบกำหนดลาโจทก์มีหนังสือถึงนายจ้างขอลาต่ออีกสามสัปดาห์ นายจ้างไม่อนุญาตและแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์ไม่กลับเข้าทำงานเป็นการผิดสัญญาจ้างและข้อบังคับเกี่ยวกับการจ้าง นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันทีมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าชดเชยตามฟ้องไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ทำงานยังไม่ครบสามปี ตามสัญญาจ้างกำหนดให้ใช้กฎหมายสัญชาติของนายจ้าง คือประเทศสวีเดนบังคับ และตามข้อตกลงนี้จะต้องตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดข้อพิพาทเสียก่อน โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยยังมิได้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาด จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓๑,๑๖๗ บาท ค่าชดเชย ๖๒,๓๓๔ บาทแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.๗ เป็นสัญญาที่บริษัท “แสตมป์” ทำแทนบริษัทเอบี สแกนสกาซีเมนจูทีเรียต จำกัด สาขาสำนักงานในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับแห่งลิเบีย ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า บริษัทจำกัดนั้นนอกจากมีสำนักงานแห่งใหญ่แล้วย่อมจะมีสาขาสำนักงานอื่นอีกได้ สาขาสำนักงานแห่งใดก็คือส่วนหนึ่งของบริษัทนั่นเองสำนักงานแห่งใหญ่และสาขาสำนักงานมีฐานะตามกฎหมายเป็นนิติบุคคลเดียวกัน แต่ภูมิลำเนาอาจมีได้หลายแห่งสุดแต่กิจการอันทำนั้นจะทำ ณ ที่ใดตามที่ประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑ บัญญัติไว้ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สาขาสำนักงานประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับแห่งลิเบีย มอบอำนาจให้นายสุพันธ์ มุ่งวิชา ผู้จัดการสำนักงานจัดหางาน “แสตมป์”ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.๗ แทนจำเลย “จำเลย” คือบริษัท เอบี สแกนสกาซีเมนจูทีเรียต จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเดียว ไม่ว่าโจทก์จะทำสัญญากับสาขาสำนักงานใด ย่อมถือว่าทำกับจำเลยสำนักงานแห่งใหญ่ทั้งสิ้นกรณีถือว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยแล้ว เพราะฉะนั้นจำเลยจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.๗ ที่ทำในประเทศไทยไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย สาขาสำนักงานในประเทศไทย
จำเลยต่อสู้ในคำให้การสรุปเป็นใจความได้ว่า จำเลยเป็นสาขาสำนักงานประกอบธุรกิจได้เป็นบางประการ จำเลยไม่มีอำนาจทำสัญญาจ้างแรงงานกับผู้ใดได้จำเลยไม่ได้ทำสัญญากับโจทก์ หากแต่โจทก์กับบริษัทสแกนสกา ซีเมนจูทีเรียต จำกัดสาขาประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนแห่งลิเบียทำสัญญากันเอง และทำในประเทศดังกล่าวมิใช่ทำในประเทศไทย จำเลยให้การดังนี้ ซึ่งหมายความว่าในประเทศไทยแล้วจำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์จำเลย ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด ไม่ว่าจะเป็นโดยจำเลยว่าจ้างโดยตรงหรือโดยผู้รับมอบอำนาจ ครั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๗ ในประเทศไทย ซึ่งตามกฎหมายจำเลยไม่อาจอุทธรณ์ข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่นได้ จำเลยจะอุทธรณ์ว่าระยะเวลาว่าจ้างตามเอกสารหมาย จ.๗ สุดสิ้นลงแล้ว ด้วยมีกำหนดเวลาเพียงหนึ่งปี แล้วโจทก์ทำสัญญากับบริษัทสแกนสกา ซีเมนจูทีเรียต จำกัด สาขาประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับแห่งลิเบียตามแบบพิมพ์เอกสารหมาย ล.๑ ซึ่งเป็นทำนองว่า หากโจทก์จำเลยเคยมีนิติสัมพันธ์กันมาก่อนจริง บัดนี้นิติสัมพันธ์นั้นก็สุดสิ้นแล้ว นับแต่นั้นโจทก์กับผู้อื่นมีนิติสัมพันธ์อันใดกันหาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยด้วยไม่ได้ เนื่องจากไม่เป็นประเด็นในคำให้การ ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลแรงงานกลางว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาว่าจ้างกันตามเอกสารหมาย จ.๗ ไม่มีสัญญาตามแบบพิมพ์สัญญาเอกสารหมาย ล.๑ ระหว่างโจทก์กับบริษัท “แสตมป์”หรือระหว่างโจทก์กับจำเลยสาขาสำนักงานในประเทศไทย หรือสาขาสำนักงานในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับแห่งลิเบีย ดังนั้น ข้ออุทธรณ์ประการต่อมาที่ว่า ตามแบบพิมพ์สัญญาเอกสารหมาย ล.๑ กำหนดให้ใช้กฎหมายของประเทศสวีเดนบังคับแก่คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพุทธศักราช ๒๔๘๑ มาตรา ๑๓ ต้องใช้กฎหมายสวีเดนบังคับ หรือมิฉะนั้นก็ต้องใช้กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับแห่งลิเบียบังคับ หากใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานบังคับแก่คดี จะเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายสากล เป็นการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต โจทก์จะฟ้องคดีทันทีมิได้เพราะมิได้ตั้งอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทก่อน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องซึ่งข้ออุทธรณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาล้วนสืบเนื่องมาแต่อุทธรณ์ประการที่สองทั้งสิ้นเมื่อไม่ฟังว่ามีสัญญาเอกสารหมาย ล.๑ อันเป็นเหตุเสียแล้ว ผลที่จะเกิดแต่เหตุย่อมจะมีไม่ได้ อุทธรณ์ข้อที่กล่าวข้างต้นจึงเป็นอันตกไปในตัว
ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสวีเดนมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในประเทศสวีเดน สาขาสำนักงานในประเทศไทยประกอบธุรกิจตามใบอนุญาตประกอบธุรกิจเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายคำให้การ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับเหมาก่อสร้าง จะถือว่าสาขาสำนักงานในประเทศไทยเป็นภูมิลำเนาของสำนักงานแห่งใหญ่ไม่ได้ ข้อนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า สำนักงานแห่งใหญ่กับสาขาสำนักงานตามกฎหมายเป็นนิติบุคคลเดียวกัน วัตถุประสงค์ของสำนักงานแห่งใหญ่เป็นประการใดย่อมต้องถือว่าสาขาสำนักงานมีวัตถุประสงค์เป็นเช่นนั้นด้วยส่วนเหตุที่สาขาสำนักงานในประเทศไทยจำต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายคำให้การและมีหนังสือรับรองของกรมทะเบียนการค้าตามเอกสารหมาย จ.๑ นั้น ก็เพราะจำเลยเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๘๑ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕ มีเจตนารมณ์ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพื่อรักษาดุลอำนาจทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อให้การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นส่วนรวม ดังนี้ จึงต้องให้คนต่างด้าวไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน จึงจะประกอบธุรกิจได้ การได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจกับการมีวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือเอกสารจัดตั้งเป็นกรณีที่แตกต่างกัน มีความหมายต่างกัน จำเลยจะถือเอาใบอนุญาตประกอบธุรกิจตามเอกสารหมายเลข ๑ ท้ายคำให้การและหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.๑ เป็นวัตถุประสงค์ของจำเลยไม่ได้ ถือว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการรับเหมาก่อสร้างจำเลยสำนักงานแห่งใหญ่ มีภูมิลำเนาในประเทศไทยในส่วนกิจการที่สาขาสำนักงานในประเทศไทยทำแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย
ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย พิเคราะห์แล้ว ตามใบลากิจเอกสารหมาย จ.๑๒ โจทก์มีสิทธิหยุดงานได้ถึงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ครั้นโจทก์ขอลากิจต่ออีกตามเอกสารหมาย จ.๑๔ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดลานั้นเอง สาขาสำนักงานในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับแห่งลิเบีย ก็มีคำสั่งเลิกจ้างทันทีดังปรากฏตามโทรพิมพ์ถึงสาขาสำนักงานในประเทศไทยเอกสารหมาย จ.๒ ในวันดังกล่าวจะเห็นว่าโจทก์ยังมิได้ละทิ้งหน้าที่ประการใด เพราะโจทก์ยังมีสิทธิหยุดงานได้อีก ๑ วัน และการที่สาขาสำนักงานในประเทศไทย ได้โทรเลขแจ้งคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามโทรเลขเอกสารหมาย จ.๔ ก็แจ้งถึงโจทก์เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๗ นับแต่สุดสิ้นวันลาซึ่งเป็นวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๒๗ หากโจทก์ละทิ้งหน้าที่โจทก์ก็ละทิ้งหน้าที่เพียง ๒ วันเท่านั้น กล่าวโดยสรุปก็คือจำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนโจทก์ละทิ้งหน้าที่ ๓ วัน ก่อนโจทก์กระทำความผิด กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๔)
จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลาง กำหนดให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อนเป็นการไม่ถูกต้อง และมีคำสั่งให้งดสืบตัวโจทก์เป็นพยานจำเลยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ซึ่งจำเลยได้แถลงโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้แล้ว ขอให้ศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ให้ถูกต้อง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าการกำหนดหน้าที่นำสืบก่อนหลังของศาลแรงงานกลางจะไม่ชอบไม่ถูกต้องจริงหรือไม่ก็ตาม บัดนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายก็ได้สืบพยานสิ้นกระแสความแล้วหาควรที่จะย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานหลักฐานใหม่อีกไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ ส่วนการที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบตัวโจทก์ในฐานะเป็นพยานจำเลยนั้นเห็นว่า โจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานอ้างตนเองเป็นพยานอยู่แล้วว่าโดยปกติโจทก์ก็ต้องเข้าเบิกความตามที่โจทก์ระบุอ้าง หากจำเลยประสงค์จะซักถามต้องการทราบข้อเท็จจริงอันใดจากตัวโจทก์ต้องการให้โจทก์อธิบายข้อเท็จจริงใด ๆ หรือให้ดู ให้อธิบายข้อความในเอกสารใดก็ย่อมกระทำได้ในชั้นซักค้านอยู่แล้วที่ศาลแรงงานกลางไม่เรียกโจทก์เข้าสืบในฐานะพยานจำเลยผู้มีหน้าที่นำสืบก่อนโดยเห็นว่าไม่จำเป็น จึงไม่เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา คดีไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่
พิพากษายืน