แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในเรื่องมรดกนั้นเมื่อบุคคลใดตาย ทรัพย์สินของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท (ทายาทโดยธรรมผู้รับพินัยกรรม) ถ้าไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมมรดกของผู้นั้นจะตกทอดแก่แผ่นดินพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ เมื่อมีการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมเป็นนิติบุคคลแล้วจึงให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นของมูลนิธินิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรมมีผลพินัยกรรมที่สั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 81 เช่น เพื่อบำเพ็ญทานการศาสนา ฯลฯ ผู้รับตามพินัยกรรมนั้นจะต้องเป็นบุคคลสามารถมีสิทธิหน้าที่ได้ตามกฎหมาย เพราะถ้าผู้รับมิใช่บุคคล ไม่สามารถมีสิทธิเหนือทรัพย์สิน ทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์สินอันไม่มีเอกชนเป็นเจ้าของจะตกทอดแก่แผ่นดิน ในกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่สถานที่สักการะบรรพบุรุษ (ชื่อตึ๊ง) เมื่อสถานที่สักการะบรรพบุรุษมิใช่บุคคล จึงไม่อาจเป็นผู้ทรงสิทธิเหนือทรัพย์สินได้ดังนั้น ข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าในฐานะพินัยกรรมธรรมดาหรือพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายกิมฮงได้ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ในข้อ 3 ว่าเนื่องจากนายบั๊กบิดาได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 20 กันยายน 2473 ให้เอาเงินหุ้นส่วนและผลกำไรของนายบั๊กในโรงรับจำนำเซียงเฮงไปจัดบำรุงสถานที่สักการะบรรพบุรุษที่ประเทศจีนนั้นนายกิมฮงได้นำเงินจำนวนนี้ไปตั้งโรงพิมพ์แสงนครไว้ เมื่อนายกิมฮงตายแล้วให้ผู้จัดการมรดกนำเงินจำนวนนี้ไปบำรุงสถานที่สักการะบรรพบุรุษที่ประเทศจีนตามคำสั่งของนายบั๊กเมื่อเด็กชายอุทัย เด็กชายอุดร เด็กชายชัยศรี เด็กชายวีระ บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ให้เข้าจัดการมรดกแทนกรรมการจัดการมรดกผู้จัดการมรดกของนายกิมฮงได้เอาเงินของโรงพิมพ์แสงนครแล้วรวมกิจการโรงพิมพ์ทั้งสองเข้าด้วยกันเป็นบริษัทแสงนครการพิมพ์ จำกัด แบ่งเป็น 100 หุ้น ๆ ละ4,000 บาท และให้บุคคลจำนวน 12 คนเป็นผู้ถือหุ้น โดยรู้กันว่าเป็นเงินที่นายกิมฮงได้มีคำสั่งให้ใช้บำรุงสถานที่สักการะบรรพบุรุษคณะกรรมการจัดการมรดกได้เรียกผู้ถือหุ้นให้โอนหุ้นให้แก่คณะกรรมการจัดการมรดกเพื่อจะได้ส่งมอบให้แก่บุคคลตามคำสั่งในพินัยกรรมของนายกิมฮงจัดการต่อไป จำเลยไม่คืนหรือใช้เงินค่าหุ้นให้ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมของนายบั๊กเป็นการก่อตั้งทรัสต์จึงเป็นโมฆะ มรดกของนายบั๊กจึงตกทอดแก่จำเลย นายกิมฮงไม่มีอำนาจเอาเงินซึ่งตกแก่จำเลยไปทำพินัยกรรมให้ผู้อื่นจัดการนายบั๊กไม่ได้ตัดทายาทอื่นไม่ให้รับมรดกรายนี้ หากถือว่านายบั๊กตัดทายาทไม่ให้รับมรดก เงินจำนวนนี้ย่อมตกได้แก่แผ่นดิน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ทรัพย์ตามที่นายกิมฮงกล่าวไว้ในพินัยกรรมนั้น ไม่ใช่เป็นทรัพย์ของนายกิมฮง แต่เป็นทรัพย์ของนายบั๊ก ข้อกำหนดในพินัยกรรมของนายบั๊กนั้นย่อมกำหนดขึ้นได้ เพราะพินัยกรรมนั้นทำขึ้นโดยสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อบำเพ็ญทาน การศาสนา ฯลฯ ไม่จำต้องทำพินัยกรรมขึ้น โดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาวะติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิก็ได้
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันมีว่า พินัยกรรมของนายบั๊กทำเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2473 และนายบั๊กถึงแก่กรรมเมื่อปลายปี พ.ศ. 2473 หรือต้น พ.ศ. 2474 นายกิมฮงบุตรนายบั๊กได้ทำพินัยกรรมเมื่อวันที่ 25 มกราคม2485 ซึ่งในข้อ 3 มีความว่าหุ้นส่วนในโรงรับจำนำเซียงเฮงได้เลิกและนายกิมฮงได้รับเงินทุนกำไรมาแล้ว นายกิมฮงได้ทำพินัยกรรมสั่งให้ผู้จัดการมรดกของนายกิมฮงมีอำนาจจัดการเงินจำนวนนี้ต่อไป เมื่อเด็กชายอุทัย เด็กชายอุดร เด็กชายชัยศรี เด็กชายวีระ บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงให้ทั้ง 4 คนนี้เป็นผู้จัดการแทนกรรมการจัดการมรดก คดีนี้ โจทก์จำเลยตกลงท้ากันให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า ตามข้อความในพินัยกรรมของนายบั๊กข้อ 1กับของนายกิมฮง ข้อ 3 มีผลใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าใช้ได้ตามกฎหมายจำเลยยอมโอนหุ้นจำนวน 48,000 บาท นั้นให้แก่กรรมการจัดการมรดกเป็นเงินตามข้อกำหนดในพินัยกรรมต่อไป ถ้าใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย โจทก์ยอมให้จำเลยมีสิทธิได้ส่วนแบ่งจากเงิน 300,000 บาทนั้น หนึ่งในสาม ส่วนประเด็นอื่นโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานต่อไป
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว ตามหลักกฎหมายนั้น เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายนั้นตกทอดแก่ทายาท และการเป็นทายาท (คือผู้รับพินัยกรรมและทายาทโดยธรรม) นั้น ถ้าเป็นนิติบุคคล ก็ย่อมสามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมายอยู่ในตัว แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพเป็นบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามกฎหมาย ถ้าไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลผู้ตายนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน
ดังนี้ แสดงว่าวิธีการของกฎหมายนั้น มิได้ปล่อยให้ทรัพย์สินซึ่งเจ้าของ แต่ได้กำหนดให้ตกเป็นของทายาทซึ่งอาจเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่สามารถมีสิทธิได้ตามกฎหมายในทันทีเมื่อเจ้าของตายเว้นแต่ในกรณีที่มีพินัยกรรมทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิถ้าและมีการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรมซึ่งเป็นนิติบุคคลแล้ว จึงถือว่าทรัพย์สินซึ่งผู้ทำพินัยกรรมจัดสรรไว้นั้น ตกเป็นของมูลนิธินิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรมมีผล
โดยหลักกฎหมายดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า พินัยกรรมสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 81 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นบำเพ็ญทานก็ดี เพื่อการศาสนาก็ดีผู้รับพินัยกรรมนั้นจะต้องเป็นบุคคล สามารถมีสิทธิหน้าที่ได้ตามกฎหมายด้วย เพราะถ้าผู้รับมิใช่บุคคล ไม่สามารถมีสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นทรัพย์สินอันไม่มีเอกชนเป็นเจ้าของ จะต้องตกทอดแก่แผ่นดิน เว้นแต่จะมีทายาทโดยธรรมหรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม
ข้อกำหนดตามพินัยกรรมของนายบั๊ก ข้อ 1 นั้น ระบุชัดว่านายบั๊กไม่ติดใจจะให้เงินจำนวนนี้แก่บุคคลผู้หนึ่งผู้ใด แต่นายบั๊กขอยกให้เป็นเงินสำหรับบำรุงหรือซ่อมแซมสถานที่สักการะบรรพบุรุษซึ่งมิใช่บุคคล ไม่มีบุคคลเป็นผู้รับเงินนั้น หรือรับประโยชน์จากเงินนั้น แม้จะกล่าวว่าการใช้เงินจำนวนนี้ นายบั๊กขอมอบอำนาจให้นายกิมฮงบุตรเป็นผู้จัดการได้เต็มอำนาจ ถ้านายกิมฮงหาชีวิตไม่แล้วให้ผู้สืบตระกูลของนายกิมฮงเป็นผู้จัดการต่อไปก้ดี ก็มิใช่นายบั๊กเงินจำนวนนี้ให้นายกิมฮงและผู้สืบตระกูลถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการมอบการเก็บรักษาขอให้จัดการเพื่อประโยชน์แก่สถานที่สักการะบรรพบุรุษสถานที่สักการะบรรพบุรุษเป็นผู้รับการยกให้ ก็เมื่อสถานที่สักการะบรรพบุรุษมิใช่บุคคล ไม่สามารถมีสิทธิหน้าที่ได้ตามกฎหมายสถานที่สักการะบรรพบุรุษจึงไม่อาจเป็นผู้ทรงสิทธิเหนือเงินจำนวนนี้หรือประโยชน์จากเงินจำนวนนี้ ไม่อาจเป็นเจ้าของ ไม่อาจเป็นผู้รับการยกให้ ไม่อาจเป็นทายาท ผู้รับพินัยกรรมตามกฎหมาย ดังนั้น ข้อกำหนดตามพินัยกรรมของนายบั๊กข้อ 1 จึงไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายไม่ว่าในฐานะพินัยกรรมธรรมดาหรือพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์ โจทก์ต้องแพ้คดีตามคำท้า
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นนี้ 800 บาทแทนจำเลย