คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำบังคับเป็นหน้าที่ของศาลเมื่อศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี ศาลต้องมีคำบังคับถ้าศาลมิได้มีคำบังคับไว้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ขอให้ศาลมีคำบังคับได้
ศาลได้พิพากษาตามยอมและมีคำสั่งท้ายคำพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอม ไม่ปฏิบัติตามจะถูกยึดทรัพย์ จำขังฯลฯ นั้น ถือว่าได้มีคำบังคับไว้แล้ว ศาลจึงไม่ออกคำบังคับซ้ำให้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาขายที่ดินให้โจทก์เป็นเงิน 10,500 บาท และได้รับเงินล่วงหน้าไป 6,500 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมทำการโอนให้ เพราะโจทก์เป็นภรรยาคนต่างด้าว โจทก์จำเลยจึงตกลงเลิกสัญญา จำเลยรับรองจะคืนเงิน 6,500 บาทให้ แต่ไม่คืนขอให้บังคับ

จำเลยให้การปฏิเสธ

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม

ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญายอม ขอให้ศาลมีคำบังคับ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยได้ดำเนินการตามสัญญายอมแล้วจึงไม่บังคับให้

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยชำระเงิน 6,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คำบังคับเป็นหน้าที่ของศาล เมื่อศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใด ซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี ศาลต้องมีคำบังคับถ้าศาลมิได้มีคำบังคับไว้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ขอให้ศาลมีคำบังคับได้ สำหรับคดีนี้โจทก์น่าจะเข้าใจว่า ในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ศาลยังมิได้มีคำบังคับจำเลย โจทก์จึงแถลงขอโดยใช้ถ้อยคำว่าขอศาลได้โปรดมีคำบังคับ ถ้าโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลบังคับคดี โจทก์คงจะร้องขอมาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เหตุนี้ จึงฟังว่าคำแถลงของโจทก์นั้น โจทก์ขอให้ศาลมีคำบังคับ ไม่ใช่ขอให้ศาลบังคับคดี

ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ขอให้มีคำบังคับได้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ไม่จำต้องขออีก เพราะคำพิพากษาตามยอมได้มีคำบังคับไว้แล้ว ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่บังคับให้ จึงเป็นการถูกในผลที่จะไม่บังคับซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้บังคับตามผลศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งให้มีคำบังคับ

Share