คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6789/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษ คำว่า มีไว้ในครอบครองนั้น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มิได้บัญญัติให้มีความหมายพิเศษจึงต้องถือว่ามีความหมายทั่วไปว่า คือการมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแล โดยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลาง แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางจะไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ก็ถือได้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.25 กรัม ไว้ในครอบครองจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย แต่เมื่อกฎหมายกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามความร้ายแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมอันเนื่องมาจากการกระทำความผิด โดยการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ว่าด้วยการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการกระทำที่จะเกิดอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงเพราะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของยาเสพติดให้โทษหรือเป็นการทำให้ยาเสพติดให้โทษนั้นแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น กฎหมายจึงต้องกำหนดโทษสูง เมื่อความมุ่งหมายของกฎหมายเป็นเช่นนี้ คำว่า การแบ่งบรรจุหรือการรวมบรรจุในมาตรา 4 ดังกล่าวจึงต้องหมายถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุที่เป็นอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงทำนองเดียวกับการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าเป็นการบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่หลอดพลาสติกซึ่งเป็นเพียงวัตถุห่อหุ้มโดยไม่ได้มีการกระทำใดแก่สภาพของเมทแอมเฟตามีนนั้นจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนตามบทกฎหมายดังกล่าว เหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา 225

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2721/2547 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 3 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความอย่างเดียวกันว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันแบ่งบรรจุ รวมบรรจุเมทแอมเฟตามีนอันเป็นการผลิตเมทแอมเฟตามีนยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 111 เม็ด น้ำหนัก 9.78 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.25 กรัม ซึ่งมีหน่วยการใช้เกินกว่า 15 หน่วยการใช้ และน้ำหนักสารบริสุทธิ์เกินกว่า 1.5 กรัมขึ้นไป โดยการผลิตดังกล่าวได้กระทำเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและจำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 83, 91 ริบของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลวยที่ 3 ที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15 วรรคสาม, 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิต ริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15 วรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบมาตรา 52 (1) คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จึงนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้มาบวกโทษจำเลยที่ 3 ตามที่โจทก์ขออีกไม่ได้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย โจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างไม่ฎีกาจึงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ข้อเท็จจริงที่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาโต้แย้งกันจึงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกันจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีนบรรจุในหลอดพลาสติกหลอดละ 10 เม็ด 4 หลอด หลอดพลาสติกหลอดละ 1 เม็ด 63 หลอด เมทแอมเฟตามีนที่ยังไม่บรรจุหลอดพลาสติกอีก 8 เม็ด ไฟแช็ก 1 อัน มีดคัทเตอร์ 1 เล่ม และหลอดพลาสติกเปล่า 16 หลอด เป็นของกลาง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ในคดีอื่นจึงอายัดตัวมาดำเนินคดีนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลาง 111 เม็ด น้ำหนัก 9.78 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.25 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางใส่หลอดพลาสติก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีแมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีดาบตำรวจกฤศน์วัตและจ่าสิบตำรวจประยงค์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า ก่อนเข้าจับกุมได้แอบดูที่รอยแตกของฝาบ้านที่เกิดเหตุ เห็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั่งอยู่ในห้องจำเลยที่ 2 กำลังเอาเมทแอมเฟตามีนใส่หลอดพลาสติก จำเลยที่ 1 ใช้ไฟแช็กลนปิดหัวท้ายหลอดพลาสติกซึ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีน ขณะนั้นนางสาวสราญจิต ซึ่งพักอยู่ที่บ้านเกิดเหตุขี่รถจักรยานยนต์กลับมาจึงขอให้เคาะประตูห้องเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 2 เดินมาเปิดประตูห้อง พยานโจทก์ทั้งสองกับพวกจึงเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมของกลางซึ่งวางอยู่ที่พื้นห้อง และโจทก์มีนางสาวสราญจิตซึ่งเป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 1 และเป็นพี่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความสนับสนุนพยานผู้จับกุมทั้งสองว่า เมื่อขี่รถจักรยานยนต์กลับมาถึงบ้านที่เกิดเหตุเห็นเจ้าพนักงานตำรวจแอบมองที่ช่องรอยแตกของฝาบ้าน และเจ้าพนักงานตำรวจใช้ให้เคาะประตูห้อง ขณะเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เห็นเมทแอมเฟตามีนกองอยู่ที่พื้นห้อง เห็นว่า ประจักษ์พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 ทั้งสองปากเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามหน้าที่ และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 ส่วนนางสาวสราญจิตก็เป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับโทษทั้งในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุม พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกันจึงมีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปในห้องที่เกิดเหตุเพื่อช่วยจำเลยที่ 2 เปลี่ยนหน้ากากและเสียงกริ่งเรียกโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลางนั้น จำเลยที่ 2 เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า ขณะเกิดเหตุประตูห้องที่เกิดเหตุปิดล็อกอยู่และจำเลยที่ 2 เป็นผู้เปิดประตูห้องที่เกิดเหตุเมื่อนางสาวสราญจิตเคาะเรียก เห็นว่าหากจำเลยที่ 1 เข้าไปในห้องที่เกิดเหตุเพียงเพื่อช่วยจำเลยที่ 2 เปลี่ยนหน้ากากและเสียงกริ่งเรียกโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็ไม่มีเหตุผลประการใดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องปิดล็อกประตูห้องที่เกิดเหตุไว้ การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่มีโทษสูงซึ่งผู้กระทำผิดย่อมกระทำอย่างลับๆ เพื่อปกปิดไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ถ้าจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดก็ไม่มีเหตุให้ผู้กระทำผิดยอมให้จำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นอยู่ในห้องที่เกิดเหตุด้วย พยานจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ที่ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนอยู่ในห้องที่เกิดเหตุ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การครอบครองเมทแอมเฟตามีนต้องมีเจตนายึดถือเพื่อตน เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยที่ 3 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองนั้น เห็นว่า การครอบครองโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตนตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง เป็นเรื่องการได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษนั้นเป็นเรื่องความรับผิดทางอาญา คำว่ามีไว้ในครอบครองนั้นพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติให้มีความหมายพิเศษ จึงต้องถือว่ามีความหมายทั่วไปว่า การมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนคือการมีเมทแอมเฟตามีนนั้นอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 รู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเท่านั้น สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 ร่วมแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลาง แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางจะไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ก็ถือได้แล้วว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.25 กรัม ไว้ในครอบครอง ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางใส่หลอดพลาสติกเป็นการผลิตเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงโทษฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งมาตรา 65 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดผลิตนำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาทแล้วเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามความร้ายแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดโดยการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ว่าด้วยการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพเปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการกระทำที่จะเกิดอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงเพราะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นการทำให้ยาเสพติดให้โทษนั้นแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นกฎหมายจึงต้องกำหนดโทษสูง เมื่อความมุ่งหมายของกฎหมายเป็นเช่นนี้ คำว่า การแบ่งบรรจุหรือการรวมบรรจุในมาตรา 4 ดังกล่าวจึงต้องหมายถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุที่เป็นอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงทำนองเดียวกับการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูปหรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าเป็นการบรรจุเมทแอมเฟตามีนใส่หลอดพลาสติกซึ่งเป็นเพียงวัตถุห่อหุ้มโดยไม่ได้มีการกระทำใดแก่สภาพของเมทแอมเฟตามีนนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนตามบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น และเหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), มาตรา 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 คงจำคุก 8 ปี และปรับ 300,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกคนละ 12 ปี และปรับคนละ 450,000 บาท ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 8 ปี และปรับคนละ 300,000 บาท ให้นำโทษจำคุก 3 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 280/2545 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 ปี 3 เดือน และปรับ 300,000 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับคนละไม่เกิน 1 ปี ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยทั้งสามในความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share