คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2763/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งที่โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่ตกเป็นของผู้เช่าจนกว่าจะแสดงเจตนารับคำมั่นของผู้ให้เช่าจนเกิดเป็นสัญญาซื้อขาย เงินค่าเช่าก็ไม่อาจถือว่ารวมค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าไว้ด้วย และผู้เช่าไม่อาจบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าได้ เมื่อสัญญาเช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งดังกล่าวมิใช่สัญญาเช่าซื้อ การที่ศาลล้มละลายกลางนำบทบัญญัติมาตรา 574 แห่ง ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 5 เช่าซื้อ มาปรับใช้แก่มูลหนี้ตามฟ้องแล้ววินิจฉัยว่ามูลหนี้ตามฟ้องยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และพิพากษายกฟ้องนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ 3 ถึง 19 และยังคงค้างชำระค่าเช่ารวม 6,881,401.90 บาท ดังนี้ แม้มูลหนี้ดังกล่าวจะยังมิได้คำนวณเบี้ยปรับตามสัญญา จำเลยที่ 1 ก็เป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและไม่จำกัดจำนวนต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าที่ค้างชำระดังกล่าวต่อโจทก์ หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ตามสัญญาที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ไม่ให้การต่อสู้คดีและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายเนื่องจากมูลหนี้ตามฟ้องยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและคิดดอกเบี้ยกับเบี้ยปรับซ้ำซ้อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองตามสัญญาเช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งซึ่งต้องนำกฎหมายในเรื่องเช่าซื้อมาปรับใช้ได้ เห็นว่า โจทก์นำสืบโดยมีนายเกรียงศักดิ์ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นประกอบเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.14 ได้ความว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2543 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าทรัพย์สิน คือ อุปกรณ์อัดรายการโทรทัศน์ ตามสัญญาเช่าแบบลีสซิ่ง เลขที่ 00 แอล 923071 ในราคารวม (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) 6,396,827.21 บาท จำเลยที่ 1 วางมัดจำค่าเช่าไว้เป็นเงิน 397,430 บาท และมีกำหนดเวลาเช่า 48 งวด ชำระค่าเช่างวดที่ 1 ถึงที่ 12 งวดละ 100,0000 บาท งวดที่ 13 ถึง 24 งวดละ 150,000 บาท และงวดที่ 25 ถึง 48 งวดละ 257,500 บาท เริ่มผ่อนชำระงวดแรกวันที่ 25 ธันวาคม 2543 และงวดต่อไปทุกวันที่ 25 ของเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จ หากผิดนัดยอมเสียเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ แต่หากจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าครบถ้วน โจทก์ให้สิทธิจำเลยที่ 1 ซื้อทรัพย์สินที่เช่าได้ในราคา 397,430 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) การเช่าดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนดังนี้ สัญญาเช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งที่โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าให้คำมั่นสัญญาว่าจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว สัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญาเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 เพราะสัญญาเช่าซื้อนั้นเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมโอนไปยังผู้เช่าซื้อทันที โดยค่าเช่าซื้อรวมไว้ทั้งค่าเช่าและค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อด้วย และผู้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดด้วยการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 แต่สัญญาเช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งดังกล่าว เมื่อผู้เช่าชำระค่าเช่าจนครบกำหนดการเช่าแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่ตกเป็นของผู้เช่าจนกว่าจะแสดงเจตนารับคำมั่นของผู้ให้เช่าจนเกิดเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าเสียก่อน เงินค่าเช่าก็ไม่อาจถือว่ารวมค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าไว้ด้วย และผู้เช่าไม่อาจบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าได้ เมื่อสัญญาเช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งดังกล่าวมิใช่สัญญาเช่าซื้อ การที่ศาลล้มละลายกลางนำบัญญัติมาตรา 574 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 5 เช่าซื้อ มาปรับใช้แก่มูลหนี้ตามฟ้องโจทก์แล้ววินิจฉัยว่ามูลหนี้ตามฟ้องยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และพิพากษายกฟ้องนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด นายเกรียงศักดิ์พยานโจทก์ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นประกอบเอกสารหมาย จ.16 ถึง จ.19 ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ 3 ถึง 19 โดยชำระหนี้ไม่ครบจำนวนค่าเช่าและไม่ตรงตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2546 เป็นค่าเช่าบางส่วนของงวดที่ 19 จำนวน 93,457.94 บาท และยังคงค้างชำระค่าเช่ารวม 6,881,401.90 บาท จำเลยที่ 2 ไม่สามารถหักล้างหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าแก่โจทก์เป็นเงิน 6,881,401.90 บาท แม้จะยังมิได้คำนวณเบี้ยปรับตามสัญญา จำเลยที่ 1 ก็เป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ตามสัญญาเช่า ถือเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและไม่จำกัดจำนวน ตามสำเนาหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.14 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่จึงเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และหนี้ค้ำประกันดังกล่าวถือเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเช่นกัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ โจทก์นำสืบฟังได้ว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้รวม 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.23 แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ว่า จำเลยทั้งมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสองมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 35402 ตำบลสามวาตะวันตก อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย ล.2 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมีราคาท้องตลาดปัจจุบันประมาณ 2,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวติดจำนองธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 1,600,000 บาท ตามราคาซื้อขาย จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบให้เห็นว่าภาระหนี้ตามสัญญาจำนองคงเหลือเท่าใด ส่วนที่จำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์อ้างว่ามีที่ดินที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็เป็นการเบิกความลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุนให้รับฟังตามที่อ้าง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพเป็นผู้ดำเนินการบริหารด้านสำนักงานและวางแผนบริหารการตลาด การขายสินค้าอุปกรณ์ประหยัดน้ำมันให้แก่บริษัทเจน แอนด์ ชาญ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 200,000 บาท โดยสัญญาจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 ตามสำเนาหนังสือสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.1 นั้น แต่ตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นสำเนาหนังสือรับรองของบริษัทเจน แอนด์ ชาญ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนเพียง 500,000 บาท และเพิ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2548 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ทำหนังสือสัญญาจ้างจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าว ทั้งสัญญาจ้างนั้นทำขึ้นก่อนหน้าจำเลยที่ 2 มาเบิกความต่อศาลล้มละลายกลางประมาณ 15 วัน โดยจำเลยที่ 2 มาเบิกความต่อศาลในวันที่ 9 กันยายน 2548 ส่วนพยานจำเลยที่ 2 ปากนางสาวสรยาซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทดังกล่าวแม้จะมาเบิกความว่า บริษัทดังกล่าวได้รับสิทธิในการจัดจำหน่าย ตัวแทนจำหน่าย ให้บริการและประชาสัมพันธ์อุปกรณ์ช่วยประหยัดน้ำมันฯ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าบริษัทจะมีรายได้จากการดำเนินการเป็นจำนวนเท่าใดจึงสามารถทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงินที่สูงเช่นนั้นได้ เห็นว่า พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบเกี่ยวกับรายได้ดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือว่าจำเลยที่ 2 จะมีรายได้ตามที่นำสืบจริง และจำเลยที่ 2 ไม่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด ทั้งไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายแต่อย่างใด ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์สองข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

Share