คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2596/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรุงเทพมหานครโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และมีสิทธิทำกิจการเทศพาณิชย์ได้ตามมาตรา 57 ประกอบด้วยมาตรา 54 (12) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2511 การที่โจทก์จัดทำกิจการสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ) ซึ่งเป็นการค้าขายอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 ย่อมถือได้ว่าเป็นการจัดทำกิจการเทศพาณิชย์อย่างหนึ่ง เพราะคำว่า “เทศพาณิชย” หมายความถึงการค้าขายของประเทศ ของบ้านเมือง หรือของท้องถิ่น
จำเลยไม่ได้ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนว่าการค้ำประกันเริ่มตั้งแต่เมื่อใด เมื่อจำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเหตุดังกล่าวศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ เพราะไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน พ. รายละเอียดปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง และตามเอกสารท้ายฟ้องก็เป็นสำเนาสัญญาค้ำประกันที่จำเลยทำสัญญาค้ำประกัน พ.ต่อโจทก์ตรงกับที่บรรยายฟ้อง ดังนี้ แม้สำเนาค้ำประกันท้ายสำเนาฟ้องที่ส่งให้จำเลยจะเป็นสำเนาค้ำประกันบุคคลอื่นไม่ใช่สำเนาค้ำประกัน พ.ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะจำเลยอาจขอดูสำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องหรือขอให้ศาลสั่งให้โจทก์ส่งสำเนาค้ำประกันที่ถูกต้องให้จำเลยได้
พ.กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ไป โจทก์ย่อมฟ้องเรียกคืนทรัพย์หรือให้ใช้ราคาได้ อันเป็นการฟ้องเรียกคืนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 และปรากฏว่าการที่ พ.ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวศาลอาญาพิพากษาจำคุก พ.คดีถึงที่สุดแล้วก่อนโจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยผู้ค้ำประกันเป็นคดีนี้ สิทธิของโจทก์ซึ่งจะเรียกร้องให้ พ.รับผิดในทางแพ่งย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม มิใช่มีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ซึ่งจำเลยยกข้อต่อสู้ของ พ.ผู้เป็นลูกหนี้ที่มีต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ตามมาตรา 694

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยให้ทำการเทศพาณิชย์เกี่ยวกับสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ) จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันนายพิศาลซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ว่า ถ้าโจทก์ได้รับความเสียหายใด ๆ เพราะนายพิศาล จำเลยจะยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ ต่อมาปรากฏว่านายพิศาลทุจริตเบียดบังยักยอกเอาทรัพย์สินของโจทก์ไป ๑,๐๐๙,๗๕๐ บาท จึงขอให้จำเลยชดใช้ พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจกระทำกิจการสถานธนานุบาลฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยอ้างว่ากิจการสถานธนานุบาลไม่ใช่เทศพาณิชย์ จึงอยู่นอกวัตถุประสงค์ของโจทก์ คณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการจัดการมีอำนาจหน้าที่จัดการควบคุมดำเนินงานสถานธนานุบาลต่างหากจากโจทก์ และทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องเป็นของผู้รับจำนำ ไม่ใช่เป็นทรัพย์ของโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นว่าแม้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ มิได้นิยามคำว่าเทศพาณิชย์ไว้ และโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ากิจการสถานธนานุบาลเป็นเทศพาณิชย์ แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ นิยามคำว่า เทศว่า เทศ คือ น.ประเทศ, บ้านเมือง, ถิ่นที่, ท้องถิ่น และนิยามคำว่า พาณิชย์ว่า พาณิชย์ น. การค้าขาย คำว่าเทศพาณิชย์จึงหมายถึงการค้าขายของประเทศ การค้าขายของบ้านเมืองและการค้าขายของท้องถิ่น สถานธนานุบาลก็คือโรงรับจำนำ ซึ่งพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.๒๕๐๕ นิยามคำว่าโรงรับจำนำว่า โรงรับจำนำหมายความว่าสถานที่รับจำนำซึ่งประกอบการรับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุระแต่ละรายมี จำนวนเงินไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และหมายความรวมตลอดถึงการรับหรือซื้อสิ่งของโดยจ่ายเงินให้สำหรับสิ่งของนั้นเป็นปกติธุระแต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทโดยมีข้อตกลง หรือเข้าใจกันโดยตรงหรือโดยปริยายว่าจะได้ไถ่คืนในภายหลัง การจัดทำกิจการสถานธนานุบาลหรือโรงรับจำนำจึงเป็นการค้าขายอย่างหนึ่ง การที่โจทก์จัดทำกิจการสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ) จึงเป็นการจัดทำกิจการเทศพาณิชย์อย่างหนึ่งซึ่งโจทก์ไม่จำต้องนำสืบว่าการจัดทำกิจการสถานธนานุบาลเป็นการจัดทำ กิจการเทศพาณิชย์ โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ และมีสิทธิทำกิจการเทศพาณิชย์ได้ ตามมาตรา ๕๗ ประกอบด้วยมาตรา ๕๔ (๑๒) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๑๑ ทั้งกระทรวงมหาดไทยก็อนุมัติให้โจทก์จัดตั้งสถานธนานุบาลได้ การจัดทำกิจการสถานธนานุบาลจึงอยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์ แม้กระทรวงมหาดไทยจะวางระเบียบว่าด้วยการควบคุมและดำเนินงานสถานธนานุบาลของเทศบาล ให้มีคณะกรรมการอำนวยการสถานธนานุบาลคณะหนึ่งเรียกว่าคณะกรรมการควบคุมและดำเนินงานสถานธนานุบาล ของเทศบาลเรียกชื่อย่อว่า ส.ธ.ท. และให้มีคณะกรรมการจัดการสถานธนานุบาลของเทศบาลคณะหนึ่งเรียกชื่อย่อว่า จ.ส.ท. ก็ตาม แต่คณะกรรมการทั้ง ๒ คณะดังกล่าวไม่เป็นนิติบุคคล จึงไม่มีอำนาจฟ้องทั้งจำเลยทำสัญญาค้ำประกันนายพิศาลไว้กับโจทก์ว่า ถ้าโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะนายพิศาลประพฤติบกพร่องหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้สถานธนานุบาลของโจทก์ต้องเสียหาย จำเลยยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิ้นตามเอกสารหมาย จ.๒๙ เมื่อนายพิศาลกระทำผิดหน้าที่โดยสุจริตเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายรวมเป็นเงิน ๑,๐๐๗,๗๕๐ บาท แล้วนายพิศาลและจำเลยไม่ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันได้ ที่จำเลยอ้างว่าทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องไม่ใช่เป็นของโจทก์ แต่เป็นของผู้จำนำ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นก็ปรากฏจากข้อนำสืบของโจทก์ว่านายพิศาลมิได้ยักยอกทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง แต่ยักยอกเงินสดของโจทก์โดยนายพิศาลนำเอาทรัพย์ที่รับจำนำไว้ออกมาจำนำและรับเงินไปอีก การที่โจทก์ฟ้องว่านายพิศาลกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังยักยอกทรัพย์ของโจทก์ และไม่ยอมคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๑,๐๐๗,๗๕๐ บาท ปรากฏรายละเอียดตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องแล้วนำสืบว่านายพิศาลกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตยักยอกเงินสดของโจทก์โดยนำเอาทรัพย์ที่รับจำนำไว้ออกมาจำนำและรับเงินไปรวมทั้งสิ้น ๑,๐๐๗,๗๕๐ บาท ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นเพราะโจทก์คงนำสืบตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่า นายพิศาลกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังยักยอกเอาทรัพย์สินของโจทก์ไปหรือไม่ และเป็นค่าเสียหายเท่าใด รูปคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๖๕/๒๕๑๗ ที่จำเลยอ้าง ไม่ตรงกับรูปคดีในคดีนี้
ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนว่าการค้ำประกันเริ่มกันตั้งแต่เมื่อใด มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ และสำเนาสัญญาค้ำประกันที่แนบท้ายสำเนาฟ้องเป็นสัญญาค้ำประกันนางอัปสรแตกต่างกับสำเนาสัญญาค้ำประกันที่ แนบท้ายฟ้องซึ่งเป็นสัญญาค้ำประกันนายพิศาล ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะหลงข้อต่อสู้นั้นศาลฎีกาเห็นว่าในการตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น จำเลยจะต้องให้การให้ชัดแจ้งว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเหตุใด และในการอุทธรณ์ฎีกาจำเลยจะต้องอุทธรณ์ฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเหตุอย่างเดียวกับที่จำเลยให้การไว้ หากว่าจำเลยอุทธรณ์ฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเหตุอื่นที่จำเลยไม่ได้ให้การไว้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะไม่ วินิจฉัยอุทธรณ์หรือฎีกาของจำเลยเพราะไม่ใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ และไม่ใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔๙ จำเลยมิได้ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนว่าการค้ำประกันเริ่มตั้งแต่เมื่อใด ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเหตุดังกล่าว เพราะไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนว่าการค้ำประกันมีกำหนดระยะเวลาหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ฟ้องของโจทก์จะไม่บรรยายว่าการค้ำประกันมีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม แต่ตามภาพถ่ายสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ระบุไว้ในข้อ ๒ ว่า สัญญาค้ำประกันนี้ข้าพเจ้า (จำเลย) ยินยอมให้ดำรงอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่นายพิศาลยังปฏิบัติงานอยู่ในสถานธนานุบาลเทศบาลกรุงเทพ จึงถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าสัญญาค้ำประกันมีกำหนดตลอดระยะเวลาที่นายพิศาลยังปฏิบัติงานอยู่ในสถานธนานุบาลของโจทก์ และที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะสำเนาสัญญาค้ำประกันที่แนบท้ายสำเนาฟ้องเป็นสัญญาค้ำประกันนางอัปสร แตกต่างกับสำเนาสัญญาค้ำประกันที่แนบท้ายฟ้องซึ่งเป็นสัญญาค้ำประกันนายพิศาลนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จำเลยจะทราบเหตุดังกล่าวหลังจากที่ได้ยื่นคำให้การแล้ว แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันนายพิศาลรายละเอียดปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง และตามเอกสารท้ายฟ้องก็เป็นสำเนาสัญญาค้ำประกันที่จำเลยทำสัญญาค้ำประกันนายพิศาลต่อโจทก์ตรงกับที่โจทก์ บรรยายฟ้อง แม้สำเนาค้ำประกันท้ายสำเนาฟ้องที่ส่งให้จำเลยจะเป็นสำเนาสัญญาค้ำประกันนางอัปสร ไม่ใช่สำเนาสัญญาค้ำประกันนายพิศาลก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะตามสำเนาฟ้องก็บรรยายว่าจำเลยค้ำประกันนายพิศาลรายละเอียดปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง เมื่อสำเนาเอกสารท้ายฟ้องสำเนาฟ้องเป็นสัญญาค้ำประกันนางอัปสรไม่ใช่สัญญาค้ำประกันนายพิศาล จำเลยก็อาจขอดูสำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องหรือขอให้ศาลสั่งให้โจทก์ส่งสำเนาค้ำประกันที่ถูกต้องให้จำเลยได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมดังที่จำเลยฎีกา
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากทราบการกระทำผิดอาญาของนายพิศาลเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ อันเป็นการยกข้อต่อสู้ที่นายพิศาลผู้เป็นลูกหนี้มีต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙๔ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่นายพิศาลกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังยักยอกเอาทรัพย์สินของโจทก์ไป แล้วโจทก์ฟ้องให้นายพิศาลคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าว เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์ของโจทก์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ ไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด นอกจากนี้ยังปรากฏว่าการที่นายพิศาลกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังยักยอกเอาทรัพย์ของโจทก์ไปนั้น ศาลอาญาพิพากษาจำคุกนายพิศาล และคดีถึงที่สุดแล้วก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้ สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะเรียกร้องให้นายพิศาลรับผิดในทางแพ่งย่อมมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๘ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ วรรคสาม คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามฎีกาของจำเลย
พิพากษายืน

Share