แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า”กระทรวงการคลังโดยก.อธิบดีกรมธนรักษ์ผู้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารเรือมีอำนาจดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งกับผู้บุกรุกพร้อมบริวารให้ออกไปจากที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ชบ.481ตามข้อความดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ที่บุกรุกที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ชบ.481หาใช่มอบอำนาจทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา801ไม่และในกรณีเช่นนี้ก็ไม่อาจระบุชื่อผู้ที่จะถูกฟ้องไว้ล่วงหน้าก็ได้เมื่อจำเลยที่1และที่2ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ชบ.481ผู้รับมอบอำนาจก็ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่1และที่2ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินอำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรีพ.ศ.2479มีความมุ่งหมายกำหนดเขตหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าสำหรับไว้ใช้ในราชการทหารที่ดินที่หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1304(3)แม้ต่อมาในปี2498จะมีผู้แจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1)นั้นตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ.2497มาตรา5ก็ตามที่ดินนั้นก็ยังคงเป็นที่หวงห้ามต่อไปตามมาตรา10ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้แจ้งที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ราชพัสดุตามความหมายของมาตรา4แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุพ.ศ.2518 จำเลยทั้งสี่ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบเมื่อผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบแจ้งให้จำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมออกการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการไม่ชอบการที่โจทก์ที่2ถึงที่8ได้กระทำการขัดขวางมิให้จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่แต่ละคนมีอยู่มิได้มีเจตนาจะกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นละเมิดต่อจำเลยทั้งสี่การทำละเมิดของบริษัทจำเลยที่1ได้แสดงออกโดยจำเลยที่2ซึ่งเป็นผู้แทนและเป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่1จำเลยที่2จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา76วรรคสอง จำเลยที่1และที่2ไม่ได้นำดินลูกรังไปไถไปถมทะเลแต่นำที่ดินลูกรังไปถมทำถนนและถมที่ดินพิพาทแล้วปรับพื้นที่ให้ทราบจำเลยที่1และที่2ไม่ได้นำดินลูกรังออกไปจากพื้นที่ของโจทก์ที่1ดินลูกรังยังคงอยู่ในที่ดินของกระทรวงการคลังโจทก์ที่1มิได้สูญหายไปไหนโจทก์ที่1จึงมิได้เสียหายเกี่ยวกับดินลูกรัง
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยสำนวนหลังรับโอนคดีมาจากศาลแพ่ง ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่2694/2530 และหมายเลขแดงที่ 15736/2530 และเพื่อความสะดวกให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกเป็นโจทก์ที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 เรียงลำดับ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกหรือโจทก์ที่ 1 และที่ 2ในสำนวนหลัง กับโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ในสำนวนหลังให้เรียกเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เรียงตามลำดับ
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,987,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันขนย้ายบริวารและรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและปรับสภาพพื้นที่ ซึ่งจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดให้กลับคืนสภาพเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้โจทก์ดำเนินการแทนโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ผู้บัญชาทราบทหารเรือ พลเรือเอกธาดา ดิษฐบรรจง ดำเนินคดีแก่จำเลย การขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ ไม่เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมิได้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสองนำที่ดินไปถมทะเลและทำถนนประมาณ119,500 ลูกบาศก์เมตร นั้น โจทก์ไม่อาจคำนวณได้เพราะเป็นที่ดินที่อื่นที่จำเลยที่ 1 นำมาถมเพื่อประกอบการ มิใช่นำไปใช้ถมทะเลโจทก์คิดคำนวณค่าเสียหายไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.คง1) เลขที่ 69, 90, 117, 140 และ142 เป็นที่ดินของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ห้ามมิให้จำเลยทั้งเจ็ดรบกวนการครอบครองหรือขัดขวางเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอีกวันละ22,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งเจ็ดจะหยุดกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดในสำนวนหลังให้การว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 69, 90, 117, 140และ 142 อยู่ในเขตหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2479 จำเลยที่ 6และที่ 7 ได้รายงานเสนอเรื่องต่อจำเลยที่ 5 เกี่ยวกับที่ดินพิพาทโดยสุจริตตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกลั่นแกล้งโจทก์ที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับรายงานเห็นว่าถูกต้องจึงได้มีหนังสือในนามจำเลยที่ 1 ถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม แจ้งเหตุผลที่ไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ประกอบกิจการตามที่ขอได้ต่อมาโจทก์ที่ 1 ที่ 2 กับพวกได้บุกรุกเข้าไปดำเนินการปรับที่ดินและขุดดินจากเขาล้านเนิน 52 และบริเวณใกล้เคียงไปถมทะเลจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมมีอำนาจที่จะหวงห้ามไม่ให้โจทก์ที่ 1 ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวได้ จำเลยที่ 6 และที่ 7ได้รายงานเกี่ยวกับการที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 กับพวกบุกรุกที่ดินพิพาทดังกล่าวต่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยสุจริต ซึ่งจำเลยที่ 5เห็นว่าถูกต้อง จึงได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีให้พิจารณาดำเนินการแจ้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพิกถอนใบอนุญาตจำเลยที่ 4 ได้ตรวจรายงานของจำเลยที่ 6 และที่ 7 แล้ว เห็นว่าถูกต้อง จึงแจ้งมิให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินการดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 จึงเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาสำนวนแรกให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขนย้ายบริวารและรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและปรับสภาพพื้นที่ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ให้กลับคืนสภาพเดิมหากไม่ดำเนินการให้โจทก์ดำเนินการแทน โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากไม่สามารถกระทำได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน2,987,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำนวนหลัง
โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอส่วนที่ให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินการให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขนย้ายบริวารและรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างได้เองโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของนายไกรศรี จาติกวณิชอธิบดีกรมธนรักษ์ ผู้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเนื่องจากหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมายจ.1 มีข้อความว่า” กระทรวงการคลังโดยนายไกรศรี จาติกวณิชอธิบดีกรมธนรักษ์ ผู้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 47823/2539สั่ง ณ วันที่ 22 กันยายน 2529 ขอมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารเรือมีอำนาจดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งกับผู้บุกรุกพร้อมบริวารให้ออกไปจากที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที ชบ.481 และให้มีอำนาจเรียกค่าเสียหายต่าง ๆ อันจะพึงมีดังต่อไปนี้ (2) แต่งตั้งทนายความเพื่อฟ้องคดีหรือแก้ต่างคดี ทั้งในและนอกศาล” ตามข้อความดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ที่บุกรุกที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ.481 หาใช่มอบอำนาจทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 ไม่ และในกรณีเช่นนี้ก็ไม่อาจระบุชื่อผู้ที่จะถูกฟ้องไว้ล่วงหน้าได้ เมื่อจำเลยที่ 1และที 2 ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ.481 ผู้รับมอบอำนาจก็ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1ได้มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารเรือพลเรือเอกธาดา ดิษฐบรรจงฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 แล้ว
ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า ที่ดินพิพาท 5 แปลง ตาม ส.ค.1เลขที่ 69, 90, 117, 140 และ 142 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ(เดิมขึ้นกับอำเภอบางละมุง) จังหวัดชลบุรี ตามเอกสารหมาย จ.7,จ.5, จ.6, จ.8 และ จ.9 ตามลำดับ ไม่ใช่ที่ราชพัสดุ จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ได้รับโอนการครอบครองมาจากผู้ครอบครองเดิมซึ่งได้ครอบครองมาก่อนปี 2479 จำเลยที 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวนั้น ในปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ คดีได้ความว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2479มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน อำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2479 ออกใช้บังคับ กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี สำหรับไว้ใช้ในราชการทหาร ซึ่งมาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ผู้บังคับการสถานีทหารเรือสัตหีบ(ปัจจุบันคือผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ) เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการหวงห้ามที่ดินตามพระราชกฤษฎีกานี้” และมาตรา 4บัญญัติว่า “ที่ดินรกร้างว่างเปล่า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีซึ่งอยู่ภายในแนวเขตหวงห้ามตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าจับจองหักร้างเข้าจัดทำหรือปลูกสร้างด้วยประการใด ๆ ในที่ดินเหล่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่” ที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลงดังกล่าวอยู่ภายในเขตหวงห้ามตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีความมุ่งหมายกำหนดเขตหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าสำหรับไว้ใช้ในราชการทหาร ที่ดินที่หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) แม้ต่อมาในปี 2498จะมีผู้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) นั้น ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 5 ก็ตาม ที่ดินนั้นก็ยังคงเป็นที่หวงห้ามต่อไป ตามมาตรา 10 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้แจ้งแต่อย่างใด ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ราชพัสดุ ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518เมื่อที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลงอยู่ภายในเขตหวงห้ามตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลงจึงเป็นที่ราชพัสดุ ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลงหรือไม่ พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้ที่ครอบครองอยู่ก่อน เพราะที่ดินที่มีการครอบครองนั้นมิใช่เป็นที่รกร้างว่างเปล่า แต่ถ้าเข้าครอบครองตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2479 เป็นต้นมา โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บังคับบัญชาฐานทัพเรือสัตหีบ ก็เป็นการครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ย่อมเป็นการไม่ชอบและไม่ได้สิทธิครอบครอง สำหรับกรณีของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ซื้อที่ดินพิพาทตาม ส.ค.1เลขที่ 69, 90, 117 และ 140 จากพลอากาศโทอุตสาห์ ชัยนามตามหนังสือสัญญาจ่ายค่าตอบแทนเอกสารหมาย จ.11 พลอากาศโทอุตสาห์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แล้วตามหนังสือส่งมอบการครอบครองเอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทตาม ส.ค.1 เลขที่ 142 จากนายแสวง กล้าหาญและนายแสวงได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว เมื่อพิจารณา ส.ค.1 ทั้ง 5 ฉบับดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ครอบครองคนเดิมได้แจ้งการครอบครองเมื่อปี 2498 ว่าได้ที่ดินมาโดยเข้าครอบครองภายหลังปี 2479 ทุกคน และเมื่อพิจารณาถึงว่าขณะที่ผู้ครอบครองคนเดิมแจ้งการครอบครองก็ยังไม่มีข้อพิพาทคดีนี้เกิดขึ้น และแจ้งไว้ก่อนเกิดคดีนี้นานถึง 30 ปีเศษไม่มีเหตุที่ผู้ครอบครองอยู่เดิมจะแจ้งปีที่เข้าครอบครองและทำประโยชน์ให้ผิดไปจากความเป็นจริง นอกจากนี้นายจรินทร์ หอมกลิ่นผู้ครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 69 พยานจำเลยทั้งสี่ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ที่ 1 ว่า ข้อความที่พยานแจ้งให้บันทึกลงใน ส.ค.1 เลขที่ 69 ถูกต้องแล้ว ข้อความที่แจ้งไว้ใน ส.ค.1ทั้ง 5 ฉบับ จึงน่าเชื่อถือ ที่จำเลยทั้งสี่นำสืบพยานบุคคลและพยานแวดล้อมต่าง ๆ ว่ามีการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตาม ส.ค.1 ทั้ง 5 แปลง มาก่อนปี 2479 ก็ดี นำสืบอ้างสำเนาทะเบียนโรงเรียนบ้านช่องแสมสาร พ.ศ. 2479 ตามเอกสารหมาย ล.35 ว่าเด็กชายสว่าง หนองใหญ่บุตรของนายอุ่น หนองใหญ่เข้าโรงเรียนดังกล่าวในปี 2479 แสดงว่านายอุ่นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทส.ค.1 เลขที่ 90 ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อนปี 2479 ก็ดี และอ้างว่าการที่ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่เดิมทั้ง 5 แปลงแจ้งปีที่เข้าครอบครองผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ที่ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่เดิมตาม ส.ค.1 ทั้ง5 แปลงได้ที่ดินมาโดยการครอบครองหลังปี 2479 และคดีไม่ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินเดิมเหล่านั้นหรือจำเลยทั้งสี่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบให้เข้าครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลง การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ที่ครอบครองอยู่เดิม จึงขัดต่อพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ที่ครอบครองอยู่เดิมไม่ได้สิทธิครอบครอง ผู้รับโอนการครองครองต่อ ๆ มารวมทั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ส.ค.1 ทั้ง 5 แปลง นั้นด้วย
ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 ทำละเมิดต่อจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องนั้น เห็นว่า ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2479 และเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งหวงห้ามสำหรับไว้ในราชการทหาร โดยมีผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นผู้มีอำนาจดูแลหวงห้ามมิให้ผู้ใดเข้าจับจองหักร้างเข้าจัดทำหรือปลูกสร้างด้วยประการใด ๆ ในที่ดินเหล่านั้นเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบจำเลยทั้งสี่ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบแจ้งให้จำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมออก การเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการไม่ชอบ การที่โจทก์ที่ 2ถึงที่ 8 ได้กระทำการตามฟ้องเพื่อขัดขวางมิให้จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นการปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่แต่ละคนมีอยู่ มิได้มีเจตนาจะกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสี่แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตามฟ้องจึงไม่เป็นละเมิดต่อจำเลยทั้งสี่
ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ราคาที่ดินลูกรังตามฟ้องให้แก่โจทก์ที่ 1 นั้น ในปัญหานี้ได้ความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบและศาลฎีกาเคยมีคำสั่งห้ามชั่วคราวก่อนพิพากษามิให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ปรับไถพื้นดินเนิน 52 ที่พิพาทเพิ่มมากขึ้น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740/2532 ระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์บริษัทน้ำหนาวคอนติเนนตัลจำกัด ที่ 1 พันเอกสุรเดช สุนทรนาวินที่ 2 จำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 โดยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและปรับไถพื้นดินเนิน 52 โดยไม่ชอบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย เพราะจำเลยที่ 2 กระทำในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 มิได้กระทำในฐานะส่วนตัวนั้น เห็นว่า การทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ได้แสดงออกโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนและเป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 วรรคสอง สำหรับค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 มีเพียงใดนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำดินลูกรังที่ไถไปถมทะเล แต่นำดินลูกรังไปถมทำถนนและถมที่ดินพิพาทแล้วปรับพื้นที่ให้ทราบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำดินลูกรังออกไปจากพื้นที่ของโจทก์ที่ 1 ดินลูกรังยังคงอยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 1มิได้สูญหายไปไหนโจทก์ที่ 1 จึงมิได้เสียหายเกี่ยวกับดินลูกรังจำนวนดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอส่วนที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 2,987,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยเสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์