คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1794/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตั้งแต่โจทก์อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจรับสินค้า โจทก์ส่งเงินค่าขายสินค้าเพียง 3 ครั้ง ทั้งที่มีการขายสินค้าทุกเดือน และมีการตรวจนับเงินพร้อมใบเสร็จรับเงินชั่วคราวให้โจทก์แล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังส่งเงินให้ฝ่ายการเงินและบัญชีน้อย และไม่ถี่เท่ากับผู้จัดการฝ่ายตรวจรับสินค้าคนก่อนโจทก์ แม้ไม่อาจฟังได้แน่ชัดว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ แต่ย่อมทำให้จำเลยมีเหตุที่ไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้ได้ตามคู่มือพนักงาน ข้อ 32.2 ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรแล้ว ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2532 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานตรวจรับสินค้าของจำเลยสาขารังสิต ครั้งสุดท้ายโจทก์อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจรับสินค้าได้รับค่าจ้างเดือนละ 22,680 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2543 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ทุจริตเงินที่ได้จากการขายแถบรหัสบอกราคาสินค้า(บาร์โค้ด) ของจำเลย ซึ่งเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงตามข้อ 8.4.1 ที่ว่า ทุจริตต่อหน้าที่หรือต่อบริษัทหรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อบริษัท โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า แต่โจทก์มิได้กระทำผิดตามที่จำเลยกล่าวหา การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,996 บาท เงินบำเหน็จ226,800 บาท เงินโบนัส 22,680 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 612,360 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าชดเชย 226,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลย กรณีที่โจทก์ได้รับเงินค่าแถบรหัสบอกราคาสินค้าไว้จากผู้ใต้บังคับบัญชา และมีหน้าที่นำส่งต่อพนักงานผู้รับผิดชอบแต่โจทก์ไม่นำส่งตามหน้าที่กลับเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงหรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 226,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างคือวันที่ 15 มกราคม 2543ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,996 บาท เงินบำเหน็จ 226,800 บาท และเงินโบนัส 22,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินแต่ละประเภท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่โจทก์อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจรับสินค้าโจทก์ส่งเงินค่าขายแถบรหัสบอกราคาสินค้าเพียง 3 ครั้ง ทั้งที่มีการขายแถบรหัสบอกราคาสินค้าทุกเดือน และมีการตรวจนับเงินพร้อมใบเสร็จรับเงินชั่วคราวให้โจทก์แล้ว นอกจากนี้ตามสถิติเอกสารหมาย ล.13 แสดงให้เห็นว่าโจทก์ส่งเงินให้ฝ่ายการเงินและบัญชีน้อย และมีระยะเวลาการส่งมอบเงินก็ไม่ถี่เท่ากับผู้จัดการฝ่ายตรวจรับสินค้าคนก่อนโจทก์ เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวแม้จะไม่อาจฟังได้แน่ชัดว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่แต่พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้จำเลยมีเหตุที่ไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไปจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้ได้ตามคู่มือพนักงานเอกสารหมาย ล.18 ข้อ 32.2 ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรแล้ว ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share