คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีแรงงาน โจทก์หรือจำเลยอาจฟ้องหรือให้การเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ทั้งการดำเนินคดีควรเป็นไปโดยสะดวก ประหยัด รวดเร็ว เสมอภาค และเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ
เหตุที่จำเลยเลิกจ้างเป็นเรื่องที่โจทก์ตวาดใส่จำเลยว่า “หยิบขึ้นมาทำไม” จำเลยโกรธจึงเลิกจ้างโจทก์ ถ้อยคำดังกล่าววิญญูชนโดยทั่วไปในฐานะนายจ้างอาจไม่พอใจบ้างที่ถูกลูกจ้างกล่าวทำนองทักท้วงเช่นนั้น และนายจ้างอาจได้รับความเสียหายบ้างในด้านการบังคับบัญชา แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างการทำงานของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งย่อมมีการสั่งงาน สอบถาม ถกเถียง และโต้แย้งกันเป็นปกติวิสัย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กล่าวถ้อยคำนั้นโดยมีเจตนาหรือประสงค์ให้จำเลยได้รับความเสียหายการกระทำของโจทก์จึงมิใช่การจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ
โจทก์ฟ้อง บ. ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท อ. และบริษัท อ. ในฐานะนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 ในชั้นพิจารณาจำเลยยอมรับว่าเป็นกรรมการบริษัท อ. และเป็นนายจ้าง ทั้งต่อสู้คดีโดยอ้างความผิดที่โจทก์ได้กระทำซึ่งเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย บ. กับบริษัท อ. จึงต่างเป็นนายจ้างของโจทก์และมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีนี้ด้วย และเนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท อ. จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เป็นเงิน 31,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การด้วยวาจา ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 31,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีนี้เป็นคดีแรงงาน โจทก์หรือจำเลยอาจฟ้องหรือให้การเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ ทั้งการดำเนินคดีควรเป็นไปโดยสะดวก ประหยัด รวดเร็วเสมอภาค และเป็นธรรม ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างฟ้องคดีด้วยตนเองโดยมิได้ตั้งแต่งทนายความเข้าดำเนินคดีแทน ในคำฟ้องระบุชื่อ “นายบุญส่ง อำนวยเดชกร” และระบุตำแหน่งหน้าที่ว่า “กรรมการผู้จัดการบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัด” เป็นจำเลยและบรรยายในคำฟ้องว่า “โจทก์ได้สมัครเข้าทำงานตำแหน่งลูกจ้างกับบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัด… จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด…”ตามคำฟ้องข้างต้นแม้มิได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้ดังที่จำเลยอ้าง แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ฟ้องบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัด และนายบุญส่ง อำนวยเดชกร ในฐานะนายจ้างตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยฟ้องบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัดในฐานะนิติบุคคลผู้ซึ่งตกลงรับโจทก์เข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และฟ้องนายบุญส่งอำนวยเดชกร ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัดนิติบุคคล คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่มีข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกับจำเลย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนข้ออ้างของจำเลยเรื่องการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วและจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นและไม่อาจนำมาพิจารณาในชั้นนี้ได้อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาได้ความว่า ในวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์กำลังทำงานตามปกติ จำเลยเดินตรวจดูคนงาน เห็นโจทก์ทำงานได้ไม่เรียบร้อยจึงแนะนำและสั่งให้โจทก์แก้ไข ครั้นกลับมาตรวจดูอีกก็ถูกโจทก์พูดจาไม่สุภาพ ซึ่งคำไม่สุภาพดังกล่าวจำเลยว่า โจทก์ตวาดใส่จำเลยว่า “หยิบขึ้นมาทำไม” จำเลยโกรธจึงเลิกจ้างโจทก์ ดังนี้ เหตุที่จำเลยเลิกจ้างจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวถ้อยคำข้างต้นซึ่งวิญญูชนโดยทั่วไปในฐานะนายจ้างอาจไม่พอใจบ้างที่ถูกลูกจ้างกล่าวทำนองทักท้วงเช่นนั้น และนายจ้างอาจได้รับความเสียหายบ้างในด้านการบังคับบัญชา แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างการทำงานของนายจ้างและลูกจ้างซึ่งย่อมมีการสั่งงานสอบถาม ถกเถียง และโต้แย้งกันเป็นปกติวิสัย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กล่าวถ้อยคำนั้นโดยมีเจตนาหรือประสงค์ให้จำเลยได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นจึงมิใช่การจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามมาตรา 119(2) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยกล่าวมาในตอนท้ายของอุทธรณ์นี้ว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์มากเกินไป อายุการทำงานของโจทก์ในวันข้างหน้าเป็นเรื่องอนาคต โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องนั้น โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายและศาลแรงงานกลางก็มิได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวด้วย อุทธรณ์ส่วนนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

อนึ่ง คดีนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้ฟ้องทั้งนายบุญส่งอำนวยเดชกร ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัด และบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัด ในฐานะนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 5 ในชั้นพิจารณาจำเลยก็ยอมรับว่าเป็นกรรมการบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัด และเป็นนายจ้าง ทั้งต่อสู้คดีโดยอ้างความผิดที่โจทก์ได้กระทำซึ่งเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย นายบุญส่ง อำนวยเดชกร จำเลยกับบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัดจึงต่างเป็นนายจ้างของโจทก์และมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีนี้ด้วย และเนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ศาลฎีกาจึงเห็นควรกำหนดให้คำพิพากษาผูกพันบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัด นายจ้างโดยให้บริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัด ร่วมรับผิดกับจำเลยในการจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและบริษัทอบพื้นไม้ปาเก้เด่นชัย จำกัด จ่ายค่าชดเชย31,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2543เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

Share