แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ห้างหุ้นส่วนแม้จะได้เลิกกันแล้วก็ให้ถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1249 ดังนั้น การแก้ต่างว่าต่างในนามของห้างฯ โจทก์ในอรรถคดีต่าง ๆ และการดำเนินกิจการของห้างฯ จึงเป็นอำนาจของผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259(1)และ (2) ประมวลรัษฎากร มาตรา 8 และ 34 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือและให้ส่งไปยังผู้อุทธรณ์ กับได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการส่งไว้โดยเฉพาะแล้ว การส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวให้โจทก์จะต้องไปส่งที่สำนักงานของห้างฯ โจทก์ หรืออย่างน้อยก็ต้องส่งให้ผู้ชำระบัญชีของโจทก์ จึงจะเป็นการส่งโดยชอบ กรมสรรพากรจำเลยได้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์โดยนำไปปิดไว้ที่หน้าบ้านของป. ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการของห้างฯ โจทก์ เมื่อห้างฯ โจทก์เลิกไปแล้ว ป. จึงมิใช่ผู้จัดการหรือผู้แทนโจทก์อีกต่อไป และสำนักงานของโจทก์อยู่คนละเลขที่กับบ้านของ ป. การส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์ จึงไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 34 ประกอบมาตรา 8 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้เจ้าพนักงานของจำเลยทำเพื่อจะให้เกิดผลตามกฎหมาย หากจำเลยมิได้ปฏิบัติตามก็จะทำให้การส่งนั้นไม่มีผลเมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานของจำเลยจงใจหรือละเลยไม่นำส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวแต่อย่างใดศาลจึงไม่อาจที่จะสั่งตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ใหม่ได้ เมื่อการส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แก่โจทก์ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร จึงมีผลเท่ากับว่าโจทก์ยังมิได้ทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการที่จำเลยสั่งยึดทรัพย์และประกาศยึดทรัพย์สินส่วนตัวของ ป. มิใช่ทรัพย์ของโจทก์ จึงไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดได้จดทะเบียนเลิกห้าง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2521 มีนางสุภาพคงคำสิงห์ เป็นผู้ชำระบัญชี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2527 จำเลยได้ส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลรวม 2 ฉบับ ให้โจทก์เสียภาษีพร้อมเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2519 เป็นเงิน 4,752.72 บาทและสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 เป็นเงิน 231,615.83 บาทโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้ว โจทก์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบขอให้มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลกับให้สั่งเพิกถอนคำสั่งยึดทรัพย์และประกาศยึดทรัพย์สินของจำเลยและให้จำเลยส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แก่ผู้ชำระบัญชีของโจทก์
จำเลยให้การว่า การประเมินชอบแล้ว จำเลยมีสิทธิยึดทรัพย์ของโจทก์และหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์มาชำระหนี้ค่าภาษี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดและได้วินิจฉัยตลอดจนตามที่โจทก์อุทธรณ์มีดังต่อไปนี้(1) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (2) จำเลยมีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดทรัพย์ของนายปานชัย เลิศสดับสุวรรณ หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์หรือไม่ และ (3) การที่จำเลยแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไปยังหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์เป็นการแจ้งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นควรวินิจฉัยประเด็นข้อที่ 3 ก่อนข้อเท็จจริงได้ความว่าห้างฯ โจทก์ได้จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อเดือนตุลาคม 2521 และมีนางสุภาพ คงคำสิงห์ เป็นผู้ชำระบัญชี ห้างหุ้นส่วนแม้จะได้เลิกกันแล้วก็ให้ถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259ดังนั้น การแก้ต่างว่าต่างในนามของห้างฯ โจทก์ในอรรถคดีต่าง ๆ และการดำเนินกิจการของห้างฯ จึงเป็นอำนาจของผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259(1) และ (2)
ประมวลรัษฎากร มาตรา 34 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือและให้ส่งไปยังผู้อุทธรณ์ กับได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการส่งไว้โดยเฉพาะแล้วในมาตรา 8 ฉะนั้นในเรื่องนี้ การส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์จะต้องส่งไปที่สำนักงานของห้างฯ โจทก์ หรืออย่างน้อยก็ต้องส่งให้ผู้ชำระบัญชีของโจทก์จึงจะเป็นการส่งโดยชอบ
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์โดยนำไปปิดไว้ที่หน้าบ้านของนายปานชัยซึ่งเคยเป็นผู้จัดการของห้างฯ โจทก์ เมื่อห้างฯ โจทก์เลิกไปแล้วนายปานชัยจึงมิใช่ผู้จัดการหรือผู้แทนโจทก์อีกต่อไป และสำนักงานของโจทก์อยู่คนละเลขที่กับบ้านของนายปานชัย ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด การส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์จึงไม่เข้ากรณีที่จะเป็นการส่งโดยชอบตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8ได้เลย แต่การส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้แก่บุคคลที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 34 ประกอบมาตรา 8 นี้เป็นบทบัญญัติให้เจ้าพนักงานของจำเลยทำเพื่อจะให้เกิดผลตามกฎหมายหากจำเลยมิได้ปฏิบัติตามก็จะทำให้การส่งนั้นไม่มีผล เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานของจำเลยจงใจหรือละเลยไม่นำส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิในเรื่องนี้ จึงไม่อาจที่จะสั่งตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ใหม่ได้
เมื่อได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่า การส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แก่โจทก์ไม่ชอบเท่ากับว่าโจทก์ยังมิได้ทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์จึงไม่มีอำนาจอุทธรณ์ต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ จึงต้องยกฟ้องในประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ (1)
ส่วนในประเด็นข้อ (2) นั้น ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการที่จำเลยสั่งยึดทรัพย์และประกาศยึดทรัพย์สินส่วนตัวของนายปานชัยเลิศสดับสุวรรณ มิใช่ทรัพย์ของโจทก์ จึงไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงต้องยกฟ้อง
พิพากษายืน.