แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์เพราะโจทก์และพยานไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงถือว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอสืบพยานโจทก์โดย อ้าง ว่าโจทก์ไม่จงใจขาดนัด ศาลแรงงานทำการไต่สวนตามคำร้องขอ ของโจทก์แล้ว ก็ได้ความว่าเหตุที่โจทก์ไม่มาศาลในวันดังกล่าว เพราะทนายโจทก์เข้าใจผิดเกี่ยวกับวันนัด ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาด ของโจทก์เอง เช่นนี้ การที่ศาลแรงงานไม่สืบพยานโจทก์เพิ่มเติม ตาม คำขอของโจทก์และได้วินิจฉัยชี้ขาดไปตามพยานหลักฐานที่ ปรากฏ ใน สำนวนจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบ หาขัดต่อ บทบัญญัติ ของพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ไม่ คำเบิกความของพยานที่ยังไม่ได้ตอบคำถามค้านของคู่ความอีกฝ่ายและพยานเอกสารที่คู่ความฝ่ายนั้นอ้างส่งศาลพร้อมกับคำเบิกความ ของพยานนั้น ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟัง การสืบพยานในคดีแรงงานนั้น ศาลเป็นผู้มีอำนาจซักถามพยานตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคสอง จึงไม่มี กระบวนพิจารณา เกี่ยวกับการถามค้านพยานในวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะซักถามพยานโจทก์ซึ่งเบิกความไปแล้ว บางส่วน ก็อาจจะขออนุญาตจากศาลได้ แต่ปรากฏว่าเมื่อศาลแรงงาน มีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบในวันนัดสืบพยานโจทก์ต่อมา จำเลยหา ได้แถลงขอซักถามพยานโจทก์ดังกล่าวต่อไปไม่ แสดงว่าจำเลย ไม่ติดใจซักถามพยานโจทก์ปากดังกล่าวอีกต่อไปคำเบิกความของพยาน โจทก์ปากดังกล่าวย่อมสมบูรณ์และ ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่าโจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 แล้วแต่ศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยังไม่ได้เลิกจ้าง จำเลย ที่ 1 เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ชอบ ด้วย วิธีพิจารณาศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานพิจารณา พิพากษาใหม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายหลักทรัพย์ ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2531 ถึงเดือนตุลาคม 2531 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทุจริตกับบุคคลภายนอกเอาหลักทรัพย์ระบุชื่อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไปหลายครั้ง มีมูลค่ารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 27,038,400 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงินค่าจ้างที่ค้างนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเลิกจ้างตามกฎหมาย และให้โจทก์รับจำเลยที่ 1 กลับเข้าทำงาน
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีแต่นายวุฒิกร พินิจมั้งเป็นพยาน แต่นายวุฒิกรยังไม่ได้เบิกความตอบคำซักถามของจำเลยทั้งสองเนื่องจากศาลให้เลื่อนไปสืบพยานในนัดต่อไป ซึ่งเมื่อถึงวันนัดดังกล่าวโจทก์และนายวุฒิกรไม่มาศาล ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ จึงไม่อาจรับฟังคำพยานปากนายวุฒิกรได้ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องและจำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ต้องชดใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้อง โจทก์ยังไม่ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1โจทก์ต้องชำระค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 เดือนพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จำนวน 50,000บาท และเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะมีการเลิกจ้างคำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 2.1และ 2.2 ว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าพยานโจทก์ปากนายวุฒิกรพินิจมั้ง เบิกความโดยมิได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองไม่อาจรับฟังได้นั้น ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา และคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ไม่อนุญาตให้โจทก์สืบพยานและที่ไม่เรียกพยานมาสืบเพิ่มเติมเพื่อให้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานและอุทธรณ์ในข้อ 2.3 ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีโดยยังไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนสมบูรณ์และเพียงพอ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 44 วรรคแรก และมาตรา 45วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานและอุทธรณ์ในข้อ 2.4 ว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าโจทก์ยังไม่ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1จึงต้องจ่ายค่าจ้างจนกว่าบอกเลิกการจ้างนั้นเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า การที่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้โจทก์สืบพยานและไม่เรียกพยานมาสืบเพิ่มเติมเพื่อให้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานหรือไม่ และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีโดยยังไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนสมบูรณ์และเพียงพอ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 44วรรคแรก และมาตรา 45 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 เวลา 9 นาฬิกา แต่เอกสารยังไม่พร้อม จึงเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2532กับวันที่ 16 และ 18 สิงหาคม 2532 เวลา 9 นาฬิกา ทั้งสามวันเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2532 ไม่มีการสืบพยานเพราะเอกสารไม่พร้อม ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 16 และ 18 สิงหาคม 2532 เวลา 9 นาฬิกาทั้งสองวันตามที่นัดไว้แล้ว เมื่อถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2532 โจทก์นำสืบนายวุฒิกร พินิจมั้ง พยานโจทก์ซึ่งเป็นทนายโจทก์เสร็จแล้วแต่นายวุฒิกรยังไม่ได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอเลื่อนเนื่องจากเอกสารที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียก โจทก์ยังไม่ได้ส่งมา โจทก์ไม่ค้านและเพื่อส่งเอกสารให้ทันในวันนัด จึงขอยกเลิกวันนัดสืบพยานในวันที่ 18 สิงหาคม 2532ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตและให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันที่8 กันยายน 2532 เวลา 9 นาฬิกา และวันที่ 12 กันยายน 2532 เวลา13.30 นาฬิกา รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่16 สิงหาคม 2532 เมื่อถึงวันนัดในวันที่ 8 กันยายน 2532 โจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีพยานมาศาลจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอเลื่อนไปสืบพยานจำเลยทั้งสอง และจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 12 กันยายน2532 เวลา 13.30 นาฬิกา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลย วันที่ 20 กันยายน 2532 เวลา 9 นาฬิกา และยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 12 กันยายน 2532 ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่8 กันยายน 2532 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2532 โจทก์ได้ยื่นคำร้องว่าเหตุที่โจทก์ไม่มาศาลเพราะทนายโจทก์สำคัญผิดว่าวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 กันยายน 2532 เวลา 9 นาฬิกา ถูกยกเลิกไปแล้ว ขอให้ศาลแรงงานกลางทำการไต่สวน และมีคำสั่งให้โจทก์นำพยานเข้าสืบต่อไปศาลแรงงานกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ ตามคำสั่งลงวันที่ 9 ตุลาคม 2532 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2532 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบอีกครั้งหนึ่งเมื่อจำเลยทั้งสองได้แถลงหมดพยานแล้ว หรือศาลจะสั่งให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในเวลาใดตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 ศาลแรงงานกลางได้สืบพยานจำเลยต่อไปจนเสร็จแล้วและนัดฟังคำพิพากษาวันที่25 ธันวาคม 2532 เวลา 13.30 นาฬิกา และมีคำสั่งว่าไม่เห็นสมควรเรียกพยานโจทก์มาสืบตามที่โจทก์ขอ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 ธันวาคม 2532 โจทก์ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งศาลที่สั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบและไม่ให้โจทก์นำสืบพยานตามคำร้องลงวันที่ 7 ธันวาคม 2532 เห็นว่า การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์เพราะโจทก์และพยานไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 กันยายน 2532 เวลา 9 นาฬิกา โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องจึงถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอสืบพยานโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ไม่จงใจขาดนัด ศาลแรงงานกลางทำการไต่สวนตามคำร้องขอของโจทก์แล้ว ก็ได้ความว่าเหตุที่โจทก์ไม่มาศาลในวันที่ 8 กันยายน2532 เพราะทนายโจทก์เข้าใจผิดเกี่ยวกับวันนัด ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดของโจทก์เอง ศาลแรงงานกลางไม่สืบพยานโจทก์เพิ่มเติมตามคำขอของโจทก์และได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว หาขัดต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522ตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายวุฒิกรพินิจมั้ง พยานโจทก์เบิกความโดยมิได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยจึงไม่อาจรับฟังได้ เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้นายวุฒิกรพยานโจทก์ได้เบิกความเป็นพยานโจทก์เสร็จแล้ว ยังไม่ได้ตอบทนายจำเลยถามค้าน นายวุฒิกรได้เบิกความถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองที่โจทก์กล่าวหาว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ยังได้นำสืบพยานเอกสารต่าง ๆ ด้วย คำเบิกความของนายวุฒิกรที่ยังไม่ได้ตอบคำถามและพยานเอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลพร้อมกับคำเบิกความของนายวุฒิกรนั้นไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบพยานในคดีแรงงานนั้น ศาลเป็นผู้มีอำนาจซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 45 วรรคสอง จึงไม่มีกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการถามค้านพยานในวิธีพิจารณาคดีแรงงาน หากจำเลยทั้งสองประสงค์จะซักถามนายวุฒิกรก็อาจจะขออนุญาตจากศาลได้ แต่ปรากฏว่าเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบในวันนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน2532 จำเลยทั้งสองก็หาได้แถลงขอซักถามนายวุฒิกรพยานโจทก์ต่อไปไม่แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ติดใจซักถามนายวุฒิกรพยานโจทก์อีกต่อไปคำเบิกความของนายวุฒิกรจึงสมบูรณ์และใช้เป็นพยานหลักฐานได้ศาลแรงงานกลางไม่นำคำเบิกความของนายวุฒิกรมาเป็นพยานหลักฐานโดยอ้างว่านายวุฒิกรไม่ได้เบิกความตอบคำถามค้าน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากศาลแรงงานกลางไม่นำคำเบิกความของนายวุฒิกรมาเป็นพยานหลักฐานและให้งดสืบพยานอื่นของโจทก์ศาลแรงงานกลางได้หยิบยกเอาเหตุนี้ขึ้นวินิจฉัยว่า ฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องคดีโดยมีนายวิเชียรเจียกเจิม และนางสาวฐิตินันท์ วัธนเวคิน กรรมการของโจทก์เป็นผู้ดำเนินคดีแทน โจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องว่า บุคคลทั้งสองเป็นกรรมการมีอำนาจร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ทำการแทนโจทก์และในนามของโจทก์ได้ ปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือรับรองของนายทะเบียนท้ายฟ้องเอกสารหมาย 1 ซึ่งปรากฏแจ้งชัดว่านายวิเชียรกับนางสาวฐิตินันท์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารนี้คงให้การเกี่ยวกับเรื่องนี้ลอย ๆ ว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีกรรมการที่จะกระทำการแทนและผูกพันบริษัทโจทก์ได้ตามเอกสารหมาย 1หรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่รับรอง ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเลย ทางพิจารณาจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเหตุใด ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์ยังไม่ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 และพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1ตามฟ้องแย้ง เป็นการขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนนั้น เห็นว่า คดีนี้นายวุฒิกรพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าโจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1แล้ว จำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่า โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 แล้วแต่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยังไม่ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ โดยรับวินิจฉัยคำเบิกความของนายวุฒิกร พินิจมั้งพยานโจทก์ด้วยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนยังไม่พอแก่การวินิจฉัยก็ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร.