คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2750/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์มอบอำนาจให้ ช.ซึ่งเป็นคนต่างด้าวมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลย หาใช่เป็นการมอบอำนาจให้ประกอบธุรกิจบริการ โดยการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนการค้าไม่ จึงไม่ต้องห้ามตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 4 และตามบัญชี ก.ท้ายประกาศ หมวด 3(5)
ค่าสิทธิประดิษฐ์ในการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ฝึกสอนวิธีการประดิษฐ์กระเบื้องซีรามิคตามสัญญา ซึ่งมีการตกลงจ่ายเป็นงวด ๆ โดยคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย นั้น ไม่เข้าลักษณะการเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) (7) จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164
หนังสือของจำเลยตอบหนังสือของโจทก์ที่ถามความเห็นเกี่ยวกับการต่ออายุสัญญาว่าจำเลยตกลงใจไม่ต่อสัญญาความช่วยเหลือทางเทคนิคกับโจทก์และโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่า โจทก์ตกลงตามที่จำเลยตัดสินใจ ดังนี้ หนังสือของจำเลยดังกล่าวไม่ใช่หนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์ แต่เป็นหนังสือที่มีลักษณะเป็นการสนองตอบตามที่โจทก์ขอความเห็นหรือหารือล่วงหน้าก่อนครบกำหนดต่ออายุสัญญาว่า จะมีการต่ออายุสัญญาต่อไปหรือไม่โจทก์กลับมีหนังสืออันมีข้อความในลักษณะเป็นการตกลงตามที่จำเลยสนองตอบข้อหารือของโจทก์นั้น จึงเท่ากับตกลงที่จะไม่ต่ออายุสัญญากันด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย จำเลยมิได้เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด
สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อความว่า ข้อขัดแย้งหรือข้อเรียกร้องใดซึ่งเกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้หรือการประพฤติปฏิบัติผิดสัญญานี้ คู่สัญญาจะทำความตกลงกันด้วยสันติวิธี ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้จะต้องชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ ดังนี้ สัญญามิได้บังคับเด็ดขาดว่าต้องตั้งอนุญาโตตุลาการให้ชี้ขาดข้อพิพาทเสียก่อน จึงจะฟ้องได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เสนอให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากับโจทก์เพื่อขอความช่วยเหลือทางเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงงานและประดิษฐ์กระเบื้องซีรามิคตามกรรมวิธีของโจทก์ จำเลยตกลงจะจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์เป็นเงิน 1,152,000 บาท และตกลงจ่ายค่าสิทธิประดิษฐ์ในการให้ความช่วยเหลือแนะนำฝึกสอนวิธีการประดิษฐ์กระเบื้องซีรามิค ในอัตราร้อยละ 3.5 ของยอดราคาขายผลิตภัณฑ์ทั้งหมด กำหนดระยะเวลา 5 ปีโจทก์ช่วยเหลือจำเลยตามสัญญา แต่จำเลยขาดส่งเงินค่าสิทธิประดิษฐ์แก่โจทก์ 6 งวดเป็นเงิน 2,348,250.99 บาท จำเลยบอกเลิกสัญญาให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคกับโจทก์ จำเลยต้องจ่ายเงินทดแทนความเสียหายให้โจทก์ 818,000 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินค่าสิทธิประดิษฐ์ 2,348,250.99 บาท ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 11 เดือน เป็นเงิน 161,442.16 บาท และดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนความเสียหาย 818,000 บาท เป็นเวลา 14 เดือน เป็นเงิน 71,575 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,399,268.15 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นายซูโตมุ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นคนต่างด้าว ไม่มีอำนาจกระทำการเป็นตัวแทนในประเทศไทยจำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่ส่งเรื่องให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อน และฟ้องเกินกำหนด 2 ปี คดีขาดอายุความ ระหว่างอายุสัญญาโจทก์ทำสัญญาให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทอื่น เป็นการผิดสัญญา ทำให้จำเลยเสียหายเป็นเงิน 2,000,000 บาท วิศวกรของโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมเครื่องจักร ทำให้เครื่องจักรระเบิด จำเลยเสียหายเป็นเงิน 4,072,911.25 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 6,072,911.25 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาที่โจทก์ทำกับบริษัทอื่นทำขึ้นด้วยความรู้เห็นยินยอมของจำเลย โจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา การที่เครื่องจักรระเบิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,509,693.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 2,348,250.99 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย 1,288,292.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์มอบอำนาจให้นายซูโตมุซึ่งเป็นคนต่างด้าวมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยนั้น หาใช่เป็นการมอบอำนาจให้ประกอบธุรกิจบริการโดยการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนการค้าไม่ไม่ต้องห้ามตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24พฤศจิกายน 2515 ข้อ 4 และตามบัญชี ก. ท้ายประกาศ หมวด 3 (5) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าสิทธิประดิษฐ์โจทก์อยู่ 2,348,250.99 บาท โจทก์ฟ้องเรียกค่าสิทธิประดิษฐ์ตามสัญญาซึ่งมีการตกลงจ่ายเป็นงวด โดยคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย นั้นไม่เข้าลักษณะการเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) (7) จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ฎีกาข้อ 3 จำเลยผิดสัญญาโดยเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดหรือไม่ ความข้อนี้ ปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 27 กรกฎาคมค.ศ. 1976 สอบถามจำเลยเกี่ยวกับเรื่องการต่อสัญญามีข้อความว่าสัญญาจะครบกำหนดที่จะต่ออายุสัญญาในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1976 จึงให้จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยมีความเห็นเกี่ยวกับการต่ออายุสัญญาอย่างไร จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1976 ตอบโจทก์ว่าจำเลยได้ตกลงใจไม่ต่อสัญญาความช่วยเหลือทางเทคนิคกับโจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่17 กันยายน ค.ศ. 1976 ตอบจำเลยว่า โจทก์ตกลงการตัดสินใจของจำเลยที่จะไม่ต่ออายุสัญญาอีกต่อไป จึงเห็นว่า หนังสือของจำเลยไม่ใช่หนังสือที่บอกเลิกสัญญากับโจทก์ แต่เป็นหนังสือมีลักษณะเป็นการสนองตอบตามที่โจทก์ขอความเห็นหรือหารือล่วงหน้าก่อนครบกำหนดต่ออายุสัญญาว่า จะมีการต่ออายุสัญญาต่อไปหรือไม่ โจทก์กลับมีหนังสืออันมีข้อความในลักษณะเป็นการตกลงตามที่จำเลยสนองตอบข้อหารือของโจทก์นั้น กรณีจึงเท่ากับตกลงที่จะไม่ต่ออายุสัญญากันด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
ฎีกาข้อ 4 โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ พิจารณาเสียก่อนได้หรือไม่ ตามข้อนี้ ข้อ 19 มีข้อความว่าข้อขัดแย้งหรือข้อเรียกร้องใดซึ่งเกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้หรือการประพฤติปฏิบัติผิดสัญญานี้คู่สัญญาจะทำความตกลงกันด้วยสันติวิธี ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ จะต้องชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ และข้อตัดสินของอนุญาโตตุลาการให้ถือว่าผูกพันคู่สัญญา จึงเห็นว่า สัญญามิได้บังคับเด็ดขาดว่าต้องตั้งอนุญาโตตุลาการให้ชี้ขาดข้อพิพาทเสียก่อน จึงจะฟ้องได้ ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้เสนอให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการเสียก่อนแต่อย่างใดโจทก์จึงฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาก่อน
โจทก์มิได้ผิดสัญญาในกรณีให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทอื่นเครื่องจักรระเบิดขึ้นเพราะความผิดของคนงานของจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share