แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 นั้น หากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานรับฟังมายังไม่เพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาไม่มีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงเอง แต่ต้องให้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่คู่ความอุทธรณ์ต่อไป
เดิมโจทก์ซึ่งทำงานเป็นกะจะได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดเฉพาะที่ทำงานตรงกับวันหยุด ต่อมาจำเลยออกข้อบังคับว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ กำหนดอัตราเงินเพิ่มให้แก่ผู้ปฏิบัติงานกะทุกคนโดยให้ทุกคนมีสิทธิได้รับทุกวันที่มาปฏิบัติงาน แม้จะไม่ตรงกับวันหยุดและโจทก์ได้รับเงินเพิ่มเป็นจำนวนมาก ดังนี้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะจ่ายเงินเพิ่มค่ากะดังกล่าวเป็นค่าทำงานในวันหยุดไปในตัวทั้งมิได้มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้กำหนดการจ่ายเงินค่ากะโดยให้รวมค่าทำงานในวันหยุดไว้ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าทำงานในวันหยุดจากจำเลยอีกได้.
โจทก์ได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีตามข้อบังคับเดิมจากจำเลยไปแล้วจำนวนหนึ่ง ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะโดยให้มีผลบังคับย้อนหลังไปด้วย และโจทก์ได้รับเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะไปตามข้อบังคับใหม่ครบถ้วนแล้วซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนกับเงินที่ได้รับไปแล้วเช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทำงานในวันหยุดที่จ่ายตามข้อบังคับเดิมพร้อมดอกเบี้ยคืนจากโจทก์ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย อัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 5,940 บาทระหว่างปี 2527 และ 2528 จำเลยประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของจำเลยปีละ 15 วัน จำเลยได้ให้โจทก์ทำงานในวันหยุดดังกล่าวโดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์รวม 26 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ทำให้โจทก์ขาดรายได้เป็นเงิน 5,882.24 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 823.53 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจากจำนวนเงิน 5,882.24 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า งานของโจทก์มีลักษณะการทำงานตลอด 24 ชั่วโมงการทำงานของโจทก์แบ่งเป็น 3 กะ โดยพนักงานของจำเลยเข้าทำงานวันละ 1 กะหมุนเวียน จนครบทุกกะในเวลา 3 วันแล้วจะได้หยุดพัก 1 วันจำเลยจัดวันหยุดแก่พนักงานที่ต้องทำงานเป็นกะหยุดรวมทั้งวันหยุดตามประเพณีด้วยปีละ 91 วัน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ หากวันทำงานตามปกติของโจทก์ตรงกับวันหยุดตามประเพณี โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดได้ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดให้นายจ้างกำหนดวันหยุดอื่นแทนวันหยุดตามประเพณีได้ ทั้งเมื่อ พ.ศ.2522 จำเลยตกลงจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัย หากปฏิบัติงานตามปกติตรงกับวันหยุดตามประเพณี ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2527 จำเลยได้ออกข้อบังคับว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ พ.ศ.2527 โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 มกราคม 2527 ซึ่งจำเลยได้เหมาจ่ายเงินค่ากะให้กับพนักงานที่ทำงานเป็นกะโดยไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดอีกและให้คิดตามเงินเดือนซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าเงินค่าทำงานในวันหยุดที่โจทก์เรียกร้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าทำงานในวันหยุดอีก นอกจากนั้นการจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาของจำเลยตามข้อบังคับต่าง ๆ ของจำเลยนั้น จำเลยให้ลูกจ้างทำงานวันละ 8 ชั่วโมง จำเลยคิดว่าลูกจ้างปฏิบัติงานเพียง 7 ชั่วโมง จึงนำเวลา 7 ชั่วโมงมาคำนวณหาค่าจ้างในเวลา 1 ชั่วโมง ทำให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในแต่ละชั่วโมงของการทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดสูงกว่าที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย หากศาลจะให้จำเลยจ่ายค่าทำงานตามปกติซึ่งตรงกับวันหยุดตามประเพณีจำเลยขอหักกลบลบหนี้กับเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ในปี 2527 รวม 10 วัน เป็นเงิน282.40 บาท
ในปี 2527 และ 2528 จำเลยได้ประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีปีละ 15 วัน ซึ่งในปี 2527 ก่อนที่ข้อบังคับของจำเลยฉบับใหม่ออกใช้บังคับโจทก์ทำงานตรงกับวันหยุดตามประเพณี 10 วันและได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุดนั้นตามข้อบังคับเดิมไปแล้วเป็นเงิน 2,262.40 บาท และตั้งแต่ 1 กันยายน 2527 ถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2528 โจทก์ทำงานตรงกับวันหยุดตามประเพณีรวม 12 วันและไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าทำงานในวันหยุดจากจำเลยตามข้อบังคับฉบับใหม่ หากจำเลยต้องรับผิดก็มีจำนวน 12 วันเป็นเงิน 2,370 บาท เท่านั้น โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งว่าในปี พ.ศ. 2527 โจทก์ได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีจำนวน 10 วันเป็นเงิน 2,262.40บาท ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ พ.ศ. 2527 โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 มกราคม 2527 ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทำงานตามปกติซึ่งตรงกับวันหยุดตามประเพณี แต่มีสิทธิได้รับแต่เงินค่ากะซึ่งรวมค่าทำงานในวันหยุดแล้ว และโจทก์ได้เบิกเงินไปแล้วแต่ยังไม่ได้คืนเงินค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีที่ได้รับไปก่อนแล้วดังกล่าวให้จำเลยและจำเลยเข้าใจว่าวันหนึ่งทำงาน 8 ชั่วโมง พัก 1 ชั่วโมง การหาค่าจ้างรายชั่วโมงต้องนำ 8 ชั่วโมงเป็นตัวหาร จำเลยเพิ่งทราบว่าคำนวณผิดมาตลอด ขอให้บังคับโจทก์คืนค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีเป็นเงิน 2,262.40 บาท ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีและค่าล่วงเวลาที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เกินไปตั้งแต่ พ.ศ. 2524ถึง 2528 เป็นเงิน 2,571.14 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์รับเกินไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำให้การโดยมิได้มีคำสั่งเรื่องฟ้องแย้งของจำเลยและโจทก์มิได้ให้การแก้ฟ้องแย้ง
วันนัดพิจารณาโจทก์แถลงว่าตั้งแต่ใช้ข้อบังคับว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ จำเลยไม่เคยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2527 ถึงวันที่ 4 ตุลาคม2528 โจทก์ทำงานในวันหยุดตามประเพณี 12 วันจริง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อบังคับจำเลยว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ พ.ศ. 2527 ใช้บังคับได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทำงานในวันหยุดอีก สำหรับฟ้องแย้งจำเลยใช้แบบพิมพ์ไม่ถูกต้องจึงไม่ถือว่าเป็นฟ้องแย้ง คงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การ จึงไม่วินิจฉัยให้ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การได้โดยไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าต้องพิมพ์คำว่า ‘และฟ้องแย้ง’ต่อจากคำว่า ‘คำให้การ’ พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาสั่งฟ้องแย้งของจำเลยแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยและโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดชดเชย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดค่าทำงานเป็นกะไม่ใช่ค่าจ้างตามกฎหมาย จำเลยกำหนดให้โจทก์ทำานเป็นกะแล้วจ่ายค่ากะให้ก็เป็นสิทธิของโจทก์ การทำงานเป็นกะต้องทำงานเต็ม 8 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพักที่จำเลยคำนวณค่าจ้างรายชั่วโมงโดยคิดจากจำนวน 7 ชั่วโมงหารค่าจ้างใน 1 วันจึงชอบแล้ว โจทก์ไม่ต้องคืนเงินและดอกเบี้ยให้จำเลยขอให้ยกฟ้องแย้ง
คู่ความแถลงรับกันว่าได้มีการรับและจ่ายเงินกันตามคำฟ้องและคำให้การ เอกสารท้ายคำให้การและในสำนวนจริงศาลแรงงานกลางให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยตามขอ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ส่วนการทำงานเป็นกะไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ จำเลยคงค้างค่าทำงานในวันหยุดรวม 15 วัน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดต่าง ๆ ค่าล่วงเวลาและจำเลยจ่ายให้แล้ว โจทก์ไม่ต้องคืน การคำนวณค่าจ้างรายชั่วโมงชอบแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,115.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ได้ความว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นงานเฝ้าดูแลสถานที่และทรัพย์สินของจำเลย จำเลยได้แบ่งการทำงานในแต่ละวันเป็น 3 กะ กะที่ 1 เริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 00.00นาฬิกา ถึง 08.00 นาฬิกา กะที่ 2 ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึง 16.00 นาฬิกา และกะที่ 3 ตั้งแต่เวลา 16.00 นาฬิกา ถึง 24.00 นาฬิกา โดยลูกจ้างของจำเลยเข้าทำงานวันละ 1 กะ หมุนเวียนจนครบทุกกะในเวลา 3 วัน แล้วให้หยุดพัก 1 วัน ระหว่างกะมีเวลาพัก 24 ชั่วโมง ซึ่งใน 1 ปี จำเลยจะมีวันหยุดรวมทั้งสิ้นปีละ 91 วัน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2527 จำเลยได้ออกข้อบังคับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ พ.ศ. 2527 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 เป็นต้นไป จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า เดิมศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโดยให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งฟ้องแย้งของจำเลยแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาใหม่อันมีผลตรงข้ามกับคำพิพากษาเดิมโดยไม่มีการฟังข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ทั้งที่ศาลฎีกาย้อนสำนวนมาให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ก็เพียงเฉพาะเรื่องฟ้องแย้งของจำเลยเท่านั้นคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่พิพากษาใหม่นี้จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 พิเคราะห์แล้ว ความในมาตรา 56 ของบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกา เห็นว่า ในคดีแรงงานนั้นคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานได้เฉพาะในข้อกฎหมายแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น ดังนั้นในการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานได้วินิจฉัยมา แต่ถ้าข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานวินิจฉัยและรับฟังมานั้นยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของคู่ความได้ ศาลฎีกาไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงเองได้ คงมีอำนาจสั่งให้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามที่ศาลฎีกาจะกำหนดแล้ว ศาลแรงงานต้องส่งสำนวนคืนศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของคู่ความต่อไป แต่ถ้าศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วอาจเป็นผลให้คำพิพากษาของศาลแรงงานที่ได้พิพากษาไปแล้วนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น เช่นนี้ ศาลแรงงานก็มีอำนาจที่จะมีคำพิพากษาใหม่ได้ แต่กรณีตามอุทธรณ์ของจำเลยนี้ ศาลฎีกาได้พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางโดยให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งฟ้องแย้งของจำเลยแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่อันมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลฎีกาสั่งตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 56 ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิพากษาใหม่ได้
จำเลยอุทธรณ์ข้อสองว่า เดิมโจทก์ไม่มีเงินเพิ่มค่ากะแต่จะได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดเฉพาะที่ทำงานตรงกับวันหยุดเท่านั้นการที่จำเลยได้ออกข้อบังคับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ พ.ศ.2527 ซึ่งกำหนดจำนวนเงินค่ากะให้มากกว่าค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด ข้อบังคับของจำเลยจึงใช้บังคับได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามบัญชีเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ ตามข้อบังคับของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ พ.ศ.2527 ได้กำหนดอัตราเงินเพิ่มให้แก่ผู้ปฏิบัติงานกะทุกคนไว้โดยมิได้มีข้อยกเว้นไว้ว่าผู้ปฏิบัติงานกะจะได้รับเงินเพิ่มนี้เฉพาะมาปฏิบัติงานในวันหยุดตามประเพณีหรือวันหยุดประจำสัปดาห์เท่านั้น แต่ให้ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับทุกวันที่มาปฏิบัติงานแม้จะไม่ตรงกับวันหยุด ซึ่งเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับเงินเพิ่มเป็นจำนวนมากอันแสดงเจตนาของจำเลยที่จะจ่ายเป็นค่าทำงานในวันหยุดไปในตัวโดยพนักงานอื่นที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่เช่นโจทก์จะพึงมีสิทธิได้รับด้วย ทั้งมิได้มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้กำหนดการจ่ายเงินค่ากะโดยให้รวมค่าทำงานในวันหยุดไว้ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าทำงานในวันหยุดจากจำเลยอีกได้
จำเลยอุทธรณ์ข้อสามว่า เมื่อโจทก์ได้รับเงินตามข้อบังคับใหม่ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดที่ได้รับไปก่อนข้อบังคับดังกล่าวของจำเลยมีผลใช้บังคับตามฟ้องแย้ง พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าในปี พ.ศ.2527 โจทก์ได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีจากจำเลย จำนวน 10 วัน เป็นเงิน 2,262 บาท 40 สตางค์ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ พ.ศ.2527 โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 มกราคม 2527 ซึ่งโจทก์ก็ได้รับเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะตามข้อบังคับใหม่นี้ไปครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์มิได้คืนเงินที่ได้รับไปก่อนนั้นให้แก่จำเลย โจทก์แถลงรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 29 กันยายน2529 ว่า ได้มีการรับและจ่ายเงินกันตามคำฟ้องและคำให้การและที่ศาลบันทึกไว้จริง และได้ขอให้งดสืบพยาน ซึ่งศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งให้งดสืบพยานตามคำขอ เมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุดตามข้อบังคับเดิมไปแล้วเป็นเงิน 2,262 บาท 40 สตางค์ และต่อมาได้รับเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะไปตามข้อบังคับใหม่ซึ่งซ้ำซ้อนกันเช่นนี้จำเลยก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทำงานในวันหยุดที่จ่ายตามข้อบังคับเดิมพร้อมดอกเบี้ยคืนจากโจทก์ได้
จำเลยอุทธรณ์ข้อสี่ว่า โจทก์ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ในการคำนวณหาค่าจ้างรายชั่วโมงจึงต้องหารด้วย 8 แต่ความเข้าใจของจำเลยคลาดเคลื่อนโดยคำนวณหาค่าจ้างรายชั่วโมง โดยหารด้วย 7 ซึ่งเป็นเวลาทำงานจริง ๆ โจทก์จึงได้รับค่าจ้างเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยไม่มีมูลหนี้อันจะอ้างได้ตามกฎหมายเห็นว่า แม้จำเลยจะได้จ่ายค่าจ้างโดยเกิดจากความเข้าใจผิดพลาดดังอ้างในคำให้การและตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยก็ตามกรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยได้กระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนนี้คืนจากโจทก์ได้
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์คืนเงินจำนวน 2,262.40 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย.