แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยตกลงซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์แต่ในวันทำสัญญาจำเลยชำระค่ามัดจำให้โจทก์ไม่ครบส่วนที่ขาดอยู่จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์ไว้พร้อมทั้งออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวการออกเช็คพิพาทจึงเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการวางเงินมัดจำตามสัญญาซื้อขายเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมโอนที่ให้จำเลยการที่จำเลยสั่งระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คโดยทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงผิดจากสำนวน ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบฟังได้ว่า โจทก์ตกลงขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยในราคา 11,200,000 บาท ตกลงวางมัดจำในวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายคือวันที่ 2 พฤษภาคม 2523 จำนวน 4,000,000 บาท จำนวนนี้ให้ชำระเป็นเงินสด 1,600,000 บาท ที่เหลือจ่ายเป็นเช็คเงินสด 3 ฉบับแต่ในวันทำสัญญาดังกล่าว จำเลยคงชำระเงินสดให้โจทก์เพียง 100,000บาท ที่ขาดอยู่ 1,500,000 บาท จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์พร้อมทั้งทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2523 ให้โจทก์โจทก์นำเช็คพิพาทไปขึ้นเงินธนาคาร ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งระงับการจ่าย ศาลอุทธรณ์ก็ฟังข้อเท็จจริงตามนี้ จึงมิใช่ฟังข้อเท็จจริงผิดจากสำนวน
โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ผิดสัญญาซื้อขายเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงเพื่อให้แน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำผิด การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิสั่งระงับการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยกระทำโดยสุจริต จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ก็เป็นการใช้ดุลพินิจตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ข้อสุดท้ายโจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์จำเลยทำสัญญากู้ยืม เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำนวนเงินที่ปรากฏในสัญญากู้ยืม หมาย จ.4 ก็คือส่วนหนึ่งของเงินมัดจำที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขายหมาย จ.3 ก็ตาม แต่ในสัญญากู้ยืมได้มีการคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 22 ต่อปี กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยล่วงหน้าทุกเดือนและกำหนดให้ชำระเงินต้นคืนภายในวันที่1 พฤษภาคม 2524 โดยจำเลยออกเช็คพิพาทลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2524ให้โจทก์ เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระเงินกู้ก็ให้โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินได้ จำเลยเองยังเบิกความด้วยว่า จำเลยตกลงชำระค่าดอกเบี้ยให้กับโจทก์โดยชำระเป็นเช็คจำนวน 12 ฉบับ นับจากวันทำสัญญาจนถึงวันครบกำหนด และได้ชำระดอกเบี้ยตลอดมาจนถึงเดือนตุลาคม 2523 โจทก์ไม่โอนที่ดินให้ จำเลยจึงไม่ชำระอีกต่อไป เห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้จากเงินมัดจำเป็นหนี้เงินกู้การที่โจทก์จำเลยทำสัญญากู้ยืมจึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าแม้เช็คพิพาทจำเลยจะสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมแต่ก็เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการวางเงินมัดจำตามสัญญาซื้อขายศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขาย การที่จำเลยสั่งระงับการจ่ายเงินตามเช็คก็เพื่อมิให้จำเลยต้องสูญเสียเงินเพิ่มขึ้นจากการผิดสัญญาของโจทก์ จำเลยจึงไม่มีเจตนาทุจริตและไม่มีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน.