แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยร่วมทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคาร สัญญาข้อ 14 กำหนดว่า “ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของตนตามอัตราค่าจ้างและกำหนดเวลาที่ผู้รับจ้างและลูกจ้างได้ตกลงหรือสัญญากันไว้ ถ้าผู้รับจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง…ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเอาเงินค่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างของผู้รับจ้างได้ และให้ถือว่าเงินจำนวนที่จ่ายไปนี้เป็นเงินค่าจ้างที่ผู้รับจ้างได้รับไปจากผู้ว่าจ้างแล้ว…” ต่อมาจำเลยโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยร่วม จำเลยร่วมมีหนังสือตอบไปยังผู้ร้องว่า “จำเลยร่วมพิจารณาแล้วไม่ขัดข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ผู้ร้องแจ้งมา แต่ผู้ร้องจะได้เงินค่าจ้างเพียงเท่าที่จำเลยจะพึงได้รับจากจำเลยร่วมตามสัญญาจ้างดังกล่าวเท่านั้น” ย่อมเท่ากับว่าจำเลยร่วมได้โต้แย้งแสดงการสงวนสิทธิของจำเลยร่วมที่มีอยู่ตามสัญญาจ้างดังกล่าว รวมทั้งตามสัญญาข้อ 14 ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 308แล้ว สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับเงินดังกล่าวจึงไม่อาจเกินไปกว่าสิทธิที่จำเลยมีอยู่ตามสัญญาจ้าง จำเลยร่วมย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ตามสัญญาจ้างที่ตนมีต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้โอนขึ้นต่อสู้กับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนได้ เมื่อจำเลยค้างจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง จำเลยร่วมย่อมใช้สิทธิตามสัญญาจ้างข้อ 14 หักเงินจำนวนดังกล่าวจากค่าจ้างที่จำเลยร่วมจะต้องจ่ายให้แก่ผู้ร้องเพื่อนำไปจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินที่จำเลยร่วมได้ใช้สิทธิหักไว้นี้.