คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสามออกจากงานโดยมีความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากเหตุที่จำเลยที่ 1 นำมาอ้างในขณะที่ให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานว่าโจทก์ทั้งสามได้กระทำผิดตามเหตุที่อ้างนั้นหรือไม่ เหตุอื่นนอกเหนือจากที่อ้างต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะใช้เป็นเหตุให้ออกจากงาน จึงไม่ต้องนำมาพิจารณา ฉะนั้น เหตุที่ว่าโจทก์ทั้งสามปฏิบัติงานโดยฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย อันเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 มิได้อ้างไว้ขณะให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานจึงนำมาพิจารณาประกอบการจ่ายเงินบำเหน็จโดยถือว่าเป็นเหตุสืบเนื่องกัน เพื่อให้มีผลว่าโจทก์ทั้งสามออกจากงานโดยมีความผิด และไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยที่ 1 ย่อมมิได้ เพราะถือว่า เหตุดังกล่าวนี้จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะยกมาเป็นเหตุในการให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานเสียแต่ต้นแล้วจึงไม่อาจนำมาพิจารณาเป็นเหตุเลิกจ้างได้อีก

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์ทั้งสามขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 209,100 บาท 200,900 บาท และ 269,650 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 25,900 บาท 24,108 บาท และ 32,358 บาท และเงินบำเหน็จเป็นเงิน 501,840 บาท 421,890 บาท และ 943,775 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทั้งสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ทั้งสามขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 209,100 บาท 200,900 บาท และ 269,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 25,092 บาท 24,108 บาท และ 32,358 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 และเงินบำเหน็จเป็นเงิน 465,850 บาท 390,390 บาท และ 891,275 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ
จำเลยที่ 1 ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่ยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ เป็นการขัดคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำความผิดอันมีผลทำให้โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การจะพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสามออกจากงานโดยมีความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากเหตุที่จำเลยที่ 1 นำมาอ้างในขณะที่ให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานว่าโจทก์ทั้งสามได้กระทำผิดตามเหตุที่อ้างนั้นหรือไม่ เหตุอื่นนอกเหนือจากที่อ้างต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะใช้เป็นเหตุให้ออกจากงาน จึงไม่ต้องนำมาพิจารณา ได้ความจากที่คู่ความแถลงรับกันและศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานเพราะเหตุที่โจทก์ทั้งสามไม่ยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ชดใช้ความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1เห็นว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งและเป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2541 ของจำเลยที่ 1 ดังปรากฏตามคำสั่งให้พนักงานออกจากการเป็นพนักงาน โดยจำเลยที่ 1 มิได้อ้างเหตุอื่นอีกดังนี้ จะนำเหตุที่โจทก์ทั้งสามปฏิบัติงานโดยฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ซึ่งมิใช่เหตุที่จำเลยที่ 1 อ้างไว้ขณะให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานมาพิจารณาประกอบการจ่ายเงินบำเหน็จโดยถือว่าเป็นเหตุสืบเนื่องกัน เพื่อให้มีผลว่าโจทก์ทั้งสามออกจากงานโดยมีความผิดและไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยที่ 1 ย่อมมิได้ เพราะถือว่าเหตุดังกล่าวนี้จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะยกมาเป็นเหตุในการให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานเสียแต่ต้นแล้วจึงไม่อาจนำมาพิจารณาเป็นเหตุเลิกจ้างได้อีก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานเพราะเหตุโจทก์ทั้งสามไม่ยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวไม่เป็นการขัดคำสั่งของนายจ้างหรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานโดยโจทก์ทั้งสามไม่มีความผิดแล้ว โจทก์ทั้งสามซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับว่าด้วยเงินบำเหน็จและเงินบำนาญฯ ของจำเลยที่ 1 ดังที่กล่าวมาข้างต้นย่อมมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share