คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 มิได้บังคับว่าหากในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่มีการจดทะเบียนซื้อขายกันที่สำนักงานทะเบียนที่ดินแล้ว จะต้องถือเอาราคาที่ดินของกรมที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์ การที่จำเลยที่ 2 ถือเอาราคาที่ดินตามบัญชีดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงไม่ถูกต้องเพราะมิใช่ราคาซื้อขายกันในท้องตลาด โจทก์จึงมีอำนาจขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ ใช้บังคับ ไม่มีการซื้อขายที่ดินบริเวณที่ถูกเวนคืนการที่โจทก์นำสืบว่าได้มีการซื้อขายที่ดินที่มีสภาพและทำเลที่ตั้งเช่นเดียวกับที่ดินของโจทก์ ในราคาตารางวาละ 15,000 บาทจึงเป็นการเพียงพอที่ศาลจะใช้ดุลพินิจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบเพื่อคำนวณหาราคาที่ดินของโจทก์ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับได้ จะถือว่าโจทก์ไม่นำสืบจึงต้องถือตามที่จำเลยที่ 2กำหนดไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองใช้เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน จำนวน 5,464,825.62 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยทั้งสองให้การร่วมกัน ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งหก จำนวน 1,108,100 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2525 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ทั้งหกและจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งหกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 12706 ตำบลบางแค(หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่2 งาน 55 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวได้ถูกแนวทางตัดผ่านเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษ สายพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน-บางบัวทอง ตอนพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน พ.ศ. 2523 เป็นเนื้อที่ 3 งาน74 ตารางวา จำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวและสร้างทางหลวงพิเศษไปแล้ว ส่วนเงินค่าทดแทนจำเลยที่ 2 ได้กำหนดให้โจทก์โดยถือเอาราคาที่ดินของกรมที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในอัตราตารางวาละ 2,600 บาท 800 บาทและ 750 บาท ตามความลึกจากถนนเพชรเกษมไปตามลำดับ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 561,900 บาท โจทก์เห็นว่าเงินค่าทดแทนที่จำเลยที่ 2 กำหนดให้ต่ำกว่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดจึงไม่ยอมตกลง ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้นำเงินไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี โจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 คงมีเพียงว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2526 ธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 66543 ไว้เป็นที่ตั้งสาขาบางแค ในราคาตารางวาละ 15,000 บาทที่ดินดังกล่าวมีสภาพและทำเลใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ กล่าวคือที่ดินของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาบางแค อยู่ห่างจากตลาดบางแคหนึ่งกิโลเมตรครึ่ง ส่วนที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินถมแล้วอยู่ห่างจากตลาดดังกล่าวสองกิโลเมตร และด้านที่อยู่ติดถนนเพชรเกษมกว้างเป็นสองเท่าของที่ดินดังกล่าว หากคำนวณราคาที่ดินในช่วงแรกที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯใช้บังคับในปี 2523 ที่ดินของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาบางแคและที่ดินของโจทก์ควรมีราคาตารางวาละ 10,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 5,000 บาท จึงต่ำไป ขอให้ศาลฎีกากำหนดให้ตารางวาละ 10,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าในวันที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯ ใช้บังคับที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดตารางวาละเท่าใด แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่ามีราคาตารางวาละเท่าใด จึงต้องถือเอาตามราคาที่ดินที่จำเลยที่ 2 กำหนด ราคาที่ดินที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ซื้อไว้จะนำมาเปรียบเทียบกับราคาที่ดินของโจทก์ไม่ได้เพราะเป็นการซื้อขายกันระหว่างเอกชนต่อเอกชนโดยมีพฤติการณ์พิเศษราคาย่อมอยู่ที่ความพอใจของทั้งสองฝ่ายมิใช่เป็นราคาในท้องตลาดที่จะนำมาเปรียบเทียบเป็นราคาที่ดินของโจทก์เพื่อกำหนดเงินค่าทดแทนได้ ทั้งเงินค่าทดแทนที่สั่งจ่ายให้มิใช่เงินทดแทนความเสียหายตามความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง แต่เป็นเงินชดเชยที่กำหนดให้โดยคำนึงถึงความจำเป็นของรัฐในลักษณะที่เป็นธรรมและเหมาะสมด้วยกันทั้งสองฝ่ายด้วย ข้อโต้แย้งของทั้งสองฝ่ายดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 กำหนดว่า”เงินค่าทดแทนนั้นถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้(2) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับ ในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น” บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับว่าหากในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่มีการจดทะเบียนซื้อขายกันที่สำนักงานทะเบียนที่ดินแล้วจะต้องถือเอาราคาที่ดินของกรมที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาด เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์ การที่จำเลยที่ 2 ถือเอาราคาที่ดินตามบัญชีของทางราชการเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงไม่ถูกต้องเพราะมิใช่ราคาซื้อขายกันในท้องตลาด โจทก์จึงมีอำนาจขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับกันว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯ ใช้บังคับไม่มีการซื้อขายที่ดินบริเวณถูกเวนคืน การที่โจทก์นำสืบว่าในปี 2526 ธนาคารกรุงไทย จำกัดได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 66543 ไว้ในราคาตารางวาละ 15,000 บาทโดยที่ดินดังกล่าวมีสภาพและทำเลที่ตั้งเช่นเดียวกับที่ดินของโจทก์โดยที่ดินของธนาคารกรุงไทย จำกัด ห่างจากตลาดบางแคหนึ่งกิโลเมตร ใกล้กว่าที่ดินโจทก์ประมาณครึ่งกิโลเมตร แต่ที่ดินของโจทก์ด้านที่อยู่ติดถนนเพชรเกษมมีมากกว่าที่ดินของธนาคารกรุงไทย จำกัด ประมาณสองเท่าและเป็นที่ถมดินไว้แล้วจึงเป็นการเพียงพอที่จะให้ศาลใช้ดุลพินิจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบเพื่อคำนวณหาราคาที่ดินของโจทก์ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับได้ จะถือว่าโจทก์ไม่นำสืบจึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 กำหนดไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2ฎีกาคัดค้านว่าการซื้อขายที่ดินของธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นการซื้อขายกันระหว่างเอกชนต่อเอกชน ราคาอยู่ที่ความพอใจของทั้งสองฝ่ายจะถือว่าเป็นราคาท้องตลาดไม่ได้นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยมิได้นำเอาราคาที่ซื้อขายดังกล่าวมากำหนดเป็นราคาที่ดินของโจทก์โดยตรง แต่ได้นำมาเปรียบเทียบเพื่อหาราคาที่ดินของโจทก์เท่านั้น ปัญหาจึงเหลือเพียงว่าศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดแล้วหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ติดถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นถนนสายสำคัญและอยู่ห่างจากตลาดบางแคเพียงสองกิโลเมตร เป็นที่ดินที่เหมาะที่จะพัฒนาเป็นสถานประกอบการค้า แม้ก่อนที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯ ใช้บังคับโจทก์ทั้งหกและครอบครัวก็ยังใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานจัดการเดินรถโดยสาร ทำอู่เก็บรถและซ่อมรถโดยสาร ตามสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินประกอบกับการซื้อขายที่ดินในบริเวณใกล้เคียงที่โจทก์นำสืบมา เห็นได้ว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษฯ ใช้บังคับที่ดินของโจทก์น่าจะมีราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 10,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนให้ตารางวาละ5,000 บาท จึงไม่ใช่กำหนดตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515ข้อ 76(2) ดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดใหม่โดยกำหนดให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 10,000 บาท ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 3 งาน 34 ตารางวา หรือ 334 ตารางวา คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 3,340,000 บาท โจทก์ได้รับไปแล้วจำนวน 561,900 บาทโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน 2,778,100 บาทฎีกาของโจทก์ทั้งหกฟังขึ้น ส่วนของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งหกจำนวน 2,778,100 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share