แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่วัด แม้จำเลยจะได้นำรังวัดออกโฉนดเป็นของจำเลย และครอบครองทำประโยชน์มานานสักเท่าใดก็ตาม จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ทั้งจะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดไม่ได้ เพราะตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ก็ดี พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2477 ก็ดี พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ก็ดี และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ก็ดี ได้มีข้อบัญญัติไว้ตลอดมาว่า ที่วัด ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ที่นั้นไปไม่ได้ จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ และห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นอารามราษฎร์ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ตั้งอยู่ตำบลหิรัญรูจี อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี มีอาณาเจตด้านทิศเหนือติดถนนยาวประมาณ ๔ เส้น ๕ วาเศษ ด้านทิศใต้ยาวประมาณ ๔ เส้นเศษ จดที่ดินของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์กับทางสาธารณะ ด้านทิศตะวันออกกว้างประมาณ ๑ เส้น ๑๑ วาเศษ ติดที่ดินของกระทรวงการคลัง ด้านทิศตะวันตกกว้างประมาณ ๑ เส้น ๑๔ วาเศษ จดคลองบางกอกใหญ่ เมื่อปี ร.ศ. ๑๒๔ กระทรวงกลาโหมได้นำรังวัดออกโฉนดที่ ๒๓๑๗ รุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่ตั้งวัดโจทก์กว้างประมาณ ๑๐ วาเศษ ยาวประมาณ ๑ เส้น ๘ วา คิดเป็นเนื้อที่ ๓ งาน ๑๘ วา ราคา ๑๕,๙๐๐ บาท ต่อมากระทรวงกลาโหมได้โอนที่ดินตามโฉนดที่ ๒๓๑๗ ดังกล่าวให้กระทรวงการคลังจำเลย และกระทรวงการคลังได้ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดที่ ๒๓๑๗ นี้เฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่วัดโจทก์ออกเป็นโฉนดที่ ๒๖๙๓ ในนามของจำเลยเป็นเนื้อที่ ๓ งาน ๑๘ วา และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ กระทรวงการคลังได้นำรังวัดที่ดินวัดโจทก์ออกโฉนดที่ ๒๖๔๙ อีกแปลงหนึ่งเนื้อที่ ๑ งาน ๙๐ วา ราคาประมาณ ๙,๕๐๐ บาท จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดที่ ๒๖๙๓ และโฉนดที่ ๒๖๔๙ เป็นของโจทก์ ให้เพิกถอนโฉนดทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า จัดโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจริง แต่ที่ดินพิพาททั้ง ๒ แปลงนั้น ไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ เดิมที่ทั้ง ๒ แปลงเป็นที่ดินของกระทรวงกลาโหมใช้ประโยชน์ในทางราชการมาก่อน ร.ศ. ๑๒๕ ต่อมาได้มอบให้กระทรวงการคลังขึ้นทะเบียนเป็นราชพัสดุของกระทรวงการคลัง แล้วต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ กระทรวงการคลังได้ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดที่ ๒๓๑๗ ซึ่งเป็นที่ดินแปลงหนึ่งที่กระทรวงการคลังรับมอบมาจากกระทรวงกลมโหม ออกเป็นโฉนดที่ ๒๖๙๓ คือที่ดินที่พิพาทในคดีนี้แปลงหนึ่ง กับแบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดที่ ๒๖๙๔ ซึ่งได้พระราชทานให้แก่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์อีกแปลงหนึ่ง กับในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ กระทรวงการคลังได้นำรังวัดที่ดินที่ได้รับมอบจากกระทรวงกลมโหมอีกแปลงหนึ่ง ออกเป็นโฉนดที่ ๒๖๔๙ คือที่ดินที่พิพาทในคดีนี้ กระทรวงการคลังจำเลยได้ขอนำรังวัดออกโฉนดที่ดินทั้ง ๒ แปลงโดยชอบด้วยกฎหมาย วัดโจทก์ไม่เคยได้เข้าเกี่ยวข้อง และจำเลยได้ครอบครองจัดหาประโยชน์ให้เช่าที่ดินพิพาทตลอดมาจนบัดนี้ ๔๐ ปีเศษแล้ว ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขาดอายุความ จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทโฉนดที่ ๒๖๔๙ เป็นที่ดินของวัดประดิษฐาราม โจทก์ ให้เพิกถอนโฉนดที่ ๒๖๔๙ ของกระทรวงการคลัง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ดินโฉนดที่ ๒๖๙๓ เป็นของโจทก์ด้วย จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ดินโฉนดที่ ๒๖๔๙ เป็นของจำเลย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วพิพากษาแก้ว่า ที่ดินโฉนดที่ ๒๖๙๓ เป็นที่ดินวัดประดิษฐารามโจทก์ ให้เพิกถอนทำลายโฉนดที่ ๒๖๙๓ ของกระทรวงการคลังเสียด้วย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยฎีกาต่อมาว่า ที่ดินพิพาททั้ง ๒ แปลงเป็นของจำเลย
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังว่า ที่ดินพิพาททั้ง ๒ แปลง ตามโฉนดที่ ๒๖๙๓ และโฉนดที่ ๒๖๔๙ เป็นที่ดินวัดประดิษฐารามโจทก์ กระทรวงการคลังจำเลยได้นำรังวัดออกโฉนดที่ดินทั้ง ๒ แปลง นี้รุกล้ำเอาที่ดินซึ่งเป็นที่วัดโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า กระทรวงการคลังจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้ง ๒ แปลงโดยเก็บค่าเช่าจากผู้อยู่อาศัยตลอดมาเกิน ๑๐ ปี และวัดโจทก์ก็ไม่คัดค้าน หรือไม่ส่งคนไปรังวัดแนวเขตในเมื่อมีการรังวัดออกโฉนดพิพาท ก็หาใช่ข้อสำคัญไม่ เพราะเมื่อฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่วัดเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโจทก์แล้ว กระทรวงการคลังจำเลยจะเข้าไปยึดไปเป็นกรรมสิทธิ์หาได้ไม่ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ มาตรา ๗ ซึ่งต่อมาได้แก้ไขตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๑ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๓๔ ซึ่งบัญญัติได้ตลอดมาว่า ที่วัด ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ที่นั้นไปไม่ได้ และว่าที่วัด จะโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ และห้ามมิให้บุคคลยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน