คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจและโจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรี แม้จำเลยจะมีระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานอันถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งมีผลใช้บังคับตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯมาตรา 54 วรรคสอง แต่ก็มิได้หมายความว่าห้ามมิให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และแม้พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ จะมิได้บัญญัติวิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ก็ตามแต่ก็ไม่อาจนำขั้นตอนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาใช้ได้เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในกิจการของเอกชนเท่านั้นไม่ได้ใช้บังคับแก่กิจการรัฐวิสาหกิจด้วย เมื่อประเทศประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจคณะรัฐมนตรีย่อมมีมติให้ปรับลดเงินโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจลงได้โดยให้ปรับลดเงินโบนัสกรรมการและพนักงานฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ลงทุกแห่งทุกคนจึงมิได้ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 20 และพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 54 วรรคสองและมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้ปรับลดเงินโบนัสกรรมการและพนักงานฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ลงทุกแห่งทุกคนจึงไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลใด

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งห้าสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 297ตามลำดับ แต่โจทก์ที่ 103 ขอถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีแล้ว คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 102และโจทก์ที่ 104 ถึงที่ 297
โจทก์ทั้งสองร้อยเก้าสิบหกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องในทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 และเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสองร้อยเก้าสิบหก จำเลยมีระเบียบปฏิบัตินอกจากจ่ายเงินเดือนแล้วจำเลยยังกำหนดสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานและลูกจ้างเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดหลักเกณฑ์อย่างแน่นอนตามหนังสือของกระทรวงการคลังที่ กค.0512/52334 ลงวันที่ 29ธันวาคม 2524 และตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสพ.ศ. 2523 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2525 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2525 ปรากฏว่ากระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการปรับลดเงินโบนัสของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้ปรับลดลงในอัตราร้อยละ 30 ของวงเงินโบนัสที่กรรมการและพนักงานมีสิทธิได้รับตามหนังสือของกระทรวงการคลังที่ กค.0529.2/35559 ลงวันที่ 26พฤศจิกายน 2541 ต่อมาเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแจ้งให้ทราบและให้แจ้งรัฐวิสาหกิจในสังกัดทราบว่า ได้ลงมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังขอเปลี่ยนแปลงข้อเสนอในมาตรการปรับลดเงินโบนัสของคณะกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และให้มีผลใช้บังคับเฉพาะกรรมการและฝ่ายบริหารตามความหมายในพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534โดยไม่รวมพนักงานกระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงจำเลย เป็นหนังสือด่วนมากที่ กค.0529.2/5493 แจ้งยอดเงินกำไรสุทธิของผลประกอบการปี 2541 และได้จัดสรรเงินโบนัสที่ต้องจ่ายให้แก่กรรมการและพนักงานของจำเลย โดยได้ปรับลดเงินโบนัสกรรมการและพนักงานบริหารลงร้อยละ 30 ซึ่งเป็นการปรับลดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากพนักงานที่กระทรวงการคลังกำหนดให้เป็นฝ่ายบริหารทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่มีความเสมอภาคกันระหว่างพนักงานของจำเลยและของรัฐวิสาหกิจแต่ละรัฐวิสาหกิจในการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งฝ่ายบริหาร การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 54 วรรคสอง ทั้งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540มาตรา 26 และมาตรา 30 ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินในส่วนที่จำเลยได้หักเงินของโจทก์แต่ละคนไว้จำนวนตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันหักจนกว่าจะชำระคืนแก่โจทก์ดังกล่าวเสร็จ
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า จำนวนเงินโบนัสโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยหักไปนั้นที่ถูกต้องปรากฏตามผลการตรวจสอบข้อมูลพนักงานที่ถูกปรับลดเงินโบนัสร้อยละ 30 ตามมติคณะรัฐมนตรี เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 การจ่ายเงินโบนัสของจำเลยเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัส พ.ศ. 2523 ซึ่งในข้อ 2 อัตราโบนัสหมายถึงตัวเลขที่ได้จากการนำจำนวนเงินที่เป็นกำไรสุทธิในปีสำรวจโบนัสมาจัดสรรเป็นเงินโบนัสตามระเบียบกระทรวงการคลัง หารด้วยผลรวมของอัตราเฉลี่ยเงินเดือนหรือค่าจ้างต่อเดือนของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด จำเลยเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลด้วย และโจทก์ทุกคนเป็นพนักงานสังกัดหน่วยงานของรัฐ โจทก์จึงต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐคือจำเลยด้วย การจัดสรรผลกำไรสุทธิเป็นอำนาจของรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ข้อบังคับว่าด้วยวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการเงินขององค์การ พ.ศ. 2495 และระเบียบว่าด้วยการบัญชีและการเงินของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2520 โดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากผู้ใดหรือหน่วยงานใด ๆคณะรัฐมนตรีมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจได้นอกจากนี้เงินโบนัสไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 และก็มิใช่สิทธิประโยชน์ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534มิฉะนั้นผลจะกลายเป็นว่าเงินกำไรสุทธิรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นของประชาชนรัฐวิสาหกิจและพนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถกำหนดผลประโยชน์ให้แก่ตนเองได้ซึ่งขัดต่อหน้าที่ ขัดต่อหลักกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ที่ 103ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองร้อยเก้าสิบหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสองร้อยเก้าสิบหกอุทธรณ์ว่า จำเลยมีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานที่แน่นอนตามระเบียบปฏิบัติงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัส พ.ศ. 2523 เอกสารหมาย จล.34 ฉบับที่ 2 เอกสารหมายจล.35 และฉบับที่ 3 เอกสารหมาย จล.36 อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งยังให้มีผลใช้บังคับต่อไปตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 54 วรรคสอง ระเบียบดังกล่าวได้วางหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินจากกำไรสุทธิจ่ายเป็นโบนัสให้พนักงานและลูกจ้าง โดยจะหักเงินโบนัสได้เฉพาะที่กำหนดไว้ในข้อ 10 ของระเบียบดังกล่าวเท่านั้น หากจะหักนอกเหนือจากข้อ 10 จะต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานและลูกจ้างก่อนการที่คณะรัฐมนตรีมีมติคณะรัฐมนตรีเอกสารหมาย จล.3 ให้ปรับลดเงินโบนัสของโจทก์ทั้งสองร้อยเก้าสิบหกโดยมิได้รับความยินยอมจากพนักงานหรือลูกจ้างและไม่เป็นคุณแก่พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยยิ่งกว่า และเลือกหักเฉพาะเงินโบนัสของพนักงานฝ่ายบริหาร เป็นการไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันและเลือกปฏิบัติมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงขัดต่อสภาพการจ้าง ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ขัดต่อพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 54วรรคสอง และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2540 มาตรา 26 และ 30 เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีผลใช้บังคับนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจและโจทก์ทั้งสองร้อยเก้าสิบหกเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรี แม้จำเลยจะมีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานตามระเบียบเอกสารหมาย จล.34 จล.35 และ จ.36อันถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 54 วรรคสองมีบทเฉพาะกาลให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวที่มีอยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534ยังคงใช้บังคับต่อไป ก็มิได้หมายความว่าห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ไม่อาจดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 ซึ่งบัญญัติถึงวิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ให้นายจ้างหรือลูกจ้างสามารถเรียกร้องให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยการแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเพราะกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในกิจการของเอกชนเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับแก่กิจการรัฐวิสาหกิจด้วย อีกทั้งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ก็มิได้มีบทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าในช่วงปี 2541สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศยังวิกฤตอยู่อย่างต่อเนื่อง การปรับลดเงินโบนัสของรัฐวิสาหกิจจะช่วยให้รัฐวิสาหกิจนำเงินที่ประหยัดได้ไปใช้เพิ่มวงเงินเพื่อใช้ในการลงทุนอันเป็นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจทางหนึ่ง คณะรัฐมนตรีย่อมมีมติให้ปรับลดเงินโบนัสของพนักงานรัฐวิสาหกิจประจำปี 2541 ลงได้ มิได้ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 และพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 54วรรคสอง ดังที่อ้างในอุทธรณ์ อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้ปรับลดเงินโบนัสกรรมการและพนักงานฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆลงทุกแห่ง ทุกคน ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลใดมติคณะรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย จล.3 จึงมีผลใช้บังคับ โจทก์ทั้งสองร้อยเก้าสิบหกไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสที่ถูกปรับลดลงตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองร้อยเก้าสิบหกฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share