คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3674/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างและฟ้องเรียกค่าชดเชยที่ขาดจากจำเลยหลังจากศาลชั้นต้นชี้สองสถานแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องเพิ่มเติมข้อหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม ขอให้ใช้ค่าเสียหายด้วยดังนี้ มูลกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยที่ขาดกับค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นมูลกรณีเดียวกัน โจทก์ย่อมทราบถึงสิทธิเรียกร้องทั้งสองประเภทดีอยู่แล้วขณะยื่นฟ้องจึงอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน และเมื่อคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การแก้ไขฟ้องดังกล่าวจึงไม่ชอบเมื่อศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขฟ้อง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยต้องใช้ค่าเสียหาย ในการจ่ายค่าชดเชยจำเลยไม่ได้นำเบี้ยเลี้ยงมาคำนวณด้วย เป็นการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายกับค่าชดเชยที่ขาดแก่โจทก์
จำเลยให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าเบี้ยเลี้ยงจำเลยไม่ต้องนำมาคำนวณจ่ายค่าชดเชย เพราะไม่ได้ค่าจ้าง ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมจำต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ การจ่ายค่าชดเชยไม่ต้องนำเบี้ยเลี้ยงมาคำนวณด้วย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิมโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าชดเชยที่ขาดประเภทเดียวโดยอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ แล้วจ่ายค่าชดเชยไม่ถูกต้อง เพราะมิได้นำค่าเบี้ยเลี้ยงมาคำนวณจำเลยให้การต่อสู้หลายประการ ครั้นถึงวันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ และกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง โดยขอเพิ่มเติมข้อหาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ใช้ค่าเสียหายอีกจำนวนหนึ่งศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขฟ้องในวันเดียวกันโดยมิได้สอบถามจำเลยก่อน เมื่อจำเลยยื่นคำให้การแก้ข้อหาตามคำร้องของโจทก์ จำเลยได้โต้แย้งคำสั่งศาลแรงงานกลางไว้ด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขฟ้องหรือคำให้การไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๓๑ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐ วรรคท้ายบัญญัติว่า “(๒) คู่ความที่ขอแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การอาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานแล้วแต่กรณี และคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ชัดแจ้งว่า ถ้าเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้ว กรณีที่คู่ความอาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน ก็ให้ยื่นก่อนวันชี้สองสถาน มิฉะนั้นให้ศาลยกคำร้องนั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า มูลกรณีที่โจทก์ถือเป็นสาเหตุฟ้องเรียกค่าชดเชยที่ขาดและค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นมูลกรณีเดียวกัน ซึ่งเกิดจากจำเลยเลิกจ้างคราวเดียวกัน ดังสั้น ย่อมเห็นได้ว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแต่แรกนั้น โจทก์ทราบถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองประเภทดีอยู่แล้ว โจทก์จึงอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องหลังจากมีการชี้สองสถานไปแล้วย่อมไม่ชอบ และคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนชอบที่ศาลแรงงานกลางจะสั่งยกคำร้องของโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขฟ้องนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ให้ยกคำสั่งของศาลแรงงานกลางเสีย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share