คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6237/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์และจำเลยจึงอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ
โจทก์ทำสัญญาจ้างกับจำเลยหลายฉบับ และโจทก์ลาออกเพื่อรับบรรจุเป็นพนักงาน แต่โจทก์ก็ทำงานกับจำเลยต่อเนื่องมาตลอดโดยมิได้เว้นช่วงระยะเวลาใดตั้งแต่วันที่จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างในวันแรกของสัญญาจ้างฉบับแรก จนถึงวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงเป็นพนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ
การพิจารณาว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 หรือไม่นั้นโดยทั่วไปต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่เป็นสำคัญ แม้จำเลยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่าเลิกจ้างโจทก์ระหว่างทดลองงาน แต่ก็ระบุถึงเหตุผลในการเลิกจ้างไว้ด้วยว่า โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฯ ซึ่งจำเลยได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างในคำให้การด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างและตามคำให้การจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ทราบเหตุการณ์ที่ ธ. ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานร่วมกันรื้อค้นกระเป๋าของผู้โดยสารแล้วกลับนิ่งเสียไม่รายงานผู้บังคับบัญชา นับว่าเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างมีเหตุผลเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และพฤติกรรมของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 13,913 บาท ค่าจ้าง 204,072 บาท ค่าชดเชย 46,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าจ้างและค่าชดเชยนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิมหรือจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ 115,950 บาท

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม2539 โจทก์ไม่ได้สมรู้คบคิดกับนายธีระ อ้อมูล (ที่ถูกเป็นอ้อพูล) ในการที่นายธีระรื้อค้นกระเป๋าผู้โดยสาร แต่การที่โจทก์ทราบถึงการกระทำของนายธีระแล้วกลับนิ่งเสียไม่รายงานผู้บังคับบัญชาถือว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของจำเลยในกรณีไม่ร้ายแรง โจทก์มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ตามระเบียบของจำเลย ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยสั่งพักงานโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายเงินเดือนชอบด้วยระเบียบแล้ว โจทก์ทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 จำเลยไม่ได้เลิกจ้างระหว่างทดลองงาน โจทก์ทำงานมาเกินกว่า 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้โจทก์แล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์7,730 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 31 มกราคม2543) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่สมควรยกขึ้นวินิจฉัยรวมกันไปในข้อแรกว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่เมื่อใดและโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวนเท่าใด โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เริ่มทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2535จนกระทั่งวันที่ 11 มิถุนายน 2542 จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2542 แม้ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวโจทก์และจำเลยจะทำสัญญาจ้างต่อกันและจำเลยให้โจทก์ลาออกก่อนแล้วบรรจุเป็นพนักงานประจำก็ตาม โจทก์ก็ทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมต่อเนื่องมาโดยมิได้ขาดช่วงโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 46,380 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามฟ้อง ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 20, 116, 118 นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์และจำเลยจึงอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ หาใช่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่อย่างใดไม่ ในปัญหาเรื่องสิทธิได้รับค่าชดเชยของโจทก์นั้นระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 กำหนดว่า”ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้าง ดังนี้.. (3) พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไปโดยรวมวันหยุด วันลา และวันที่รัฐวิสาหกิจสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจให้จ่ายไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน…” กรณีจึงมีปัญหาว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบสามปีขึ้นไปหรือไม่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตั้งแต่วันแรกของสัญญาจ้างฉบับแรก เอกสารหมาย ล.4 คือวันที่ 27 มกราคม 2535 ไปจนถึงสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างตามข้อตกลงต่อสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.8 คือ วันที่ 31 ธันวาคม 2539 ครั้นวันที่ 14 กันยายน 2539 โจทก์ได้ยื่นใบลาออกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 ตามเอกสารหมาย ล.9 เนื่องจากได้รับบรรจุเป็นพนักงานของจำเลย และจำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 เป็นต้นมาตามเอกสารหมาย ล.10 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 ตามเอกสารหมาย ล.28 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.20 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้โจทก์จะทำสัญญาจ้างกับจำเลยหลายฉบับและโจทก์ได้ลาออกเพื่อรับบรรจุเป็นพนักงานก็ตามแต่โจทก์ก็ทำงานกับจำเลยต่อเนื่องมาตลอดโดยมิได้เว้นช่วงระยะเวลาใดตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2535 จนถึงวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 1 สิงหาคม 2540 โจทก์จึงเป็นพนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามบทกฎหมายข้างต้นเป็นเงิน 46,380 บาท ส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในฟ้องอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดให้สิทธิโจทก์เรียกได้ในอัตราดังกล่าว จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อมาซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยถึงเหตุเลิกจ้างในเรื่องการบกพร่องต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างระหว่างทดลองงานและจำเลยอ้างสาเหตุว่าโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงานข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยไม่ชัดแจ้ง การเลิกจ้างระหว่างทดลองงานและการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมีข้อพิจารณาแตกต่างกัน ทั้งพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบก็ไม่น่าเชื่อถือและไม่อาจรับฟังเป็นพยานได้นั้น เห็นว่า การพิจารณาวินิจฉัยว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้นโดยทั่วไปจักต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างนั้นโดยมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่เป็นสำคัญ ตามหนังสือเลิกจ้างที่จำเลยมีถึงโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.28 แม้จำเลยระบุในหนังสือว่าให้เลิกจ้างโจทก์ระหว่างทดลองงาน แต่ก็ได้ระบุถึงเหตุผลในการเลิกจ้างไว้ในตอนต้นว่า “ด้วยผลการสอบสวนของบริษัทฯ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 ท่านได้ ปฏิบัติหน้าที่ LEADER ของเที่ยวบินที่ TG. 620โดยมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของลูกทีมอย่างใกล้ชิด แต่ท่านกลับไม่เห็นนายธีระ อ้อพูลกระทำการทุจริตลักทรัพย์จากกระเป๋าผู้โดยสาร ทั้งเมื่อทราบว่ากระเป๋าซิปถูกรูดเปิดออกและถูกรื้อค้นท่านก็ไม่รายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่ การกระทำของท่านดังกล่าวถือเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง ทำให้บริษัทฯ ไม่ไว้วางใจและไม่ประสงค์ที่จะให้ท่านทำงานกับบริษัทฯอีกต่อไป” ซึ่งจำเลยก็ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในคำให้การด้วย ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างและตามคำให้การจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อ้างว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบก็ไม่น่าเชื่อถือและไม่อาจรับฟังเป็นพยานได้นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อมาว่า จำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์หรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าโจทก์ทราบถึงเหตุการณ์ที่นายธีระ อ้อพูล ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานร่วมกันได้รื้อค้นกระเป๋าของผู้โดยสารแล้วกลับนิ่งเสียไม่รายงานผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ และพฤติการณ์ของโจทก์ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างถูกพักงานหรือไม่ โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าจำเลยพักงานโจทก์โดยมิชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 116 ระเบียบของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.17ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างถูกพักงานพร้อมดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 116 วรรคสองและมาตรา 117 นั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไว้แล้วในตอนต้นว่าจำเลยไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามกฎหมายที่โจทก์อ้างมาวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ได้ ทั้งมิได้มีบทบัญญัติใดในเรื่องการพักงานในพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ที่จะยกขึ้นปรับแก่กรณีที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ด้วย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการสั่งพักงานโจทก์ชอบด้วยระเบียบของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้โจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 46,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 31 มกราคม 2543) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share