คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2725/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะไม่ได้อ้างมาตรา92แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522ไว้แต่โจทก์ก็ได้อ้างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่2)พ.ศ.2528มาตรา9ซึ่งเป็นบทที่ให้ยกเลิกมาตรา92แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522และให้ใช้มาตรา92ใหม่แทนการอ้างถึงมาตรา9แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่2)พ.ศ.2528ก็คือการอ้างถึงมาตร92ที่แก้ไขใหม่แล้วนั่นเองถือได้ว่าโจทก์ได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการเสพกัญชาเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(6)แล้ว ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้นโจทก์ไม่ได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลยในความผิดฐานร่วมกันเสพกัญชาโดยฝ่าฝืนกฎหมายจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา193วรรคสองประกอบด้วยมาตรา225ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 26, 67, 76, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 9ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 26, 67, 76, 102พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528มาตรา 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 เรียงกระทงลงโทษฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตและฐานร่วมกันเสพกัญชาโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุกกระทงละ 2 เดือน และปรับกระทงละ1,000 บาท ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 2,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปีคุมความประพฤติของจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อจ่าศาลทุก 3 เดือนต่อครั้งภายในกำหนด 2 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมตามที่จ่าศาลเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตให้ลงโทษตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง รวมโทษจำคุก 7 เดือน และปรับ 500 บาทยกฟ้องความผิดบานร่วมกันเสพกัญชาโดยฝ่าฝืนกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าความผิดฐานร่วมกันเสพกัญชาโดยฝ่าฝืนกฎหมาย โจทก์ได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดไว้แล้ว คือพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 9 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้>จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะไม่ได้อ้างมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ไว้แต่โจทก์ก็ได้อ้างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 มาตรา 9 ซึ่งเป็นบทที่ให้ยกเลิก มาตรา 92แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้มาตรา 92ใหม่แทน การอ้างถึง มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 ก็คือการอ้างถึง มาตรา 92 ที่แก้ไขใหม่แล้วนั่นเอง ถือได้ว่าโจทก์ได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการเสพกัญชาเป็นความผิด ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) แล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันเสพกัญชาโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น โจทก์ไม่ได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลยในความผิดฐานร่วมกันเสพกัญชาโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share