แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลทหารกลาง (ศาลอุทธรณ์)ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน
พลทหารที่เป็นผู้คุมเรือนจำจังหวัดทหารบก เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
ย่อยาว
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ พยานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยต้องขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดทหารบกพิษณุโลกแล้วหลบหนี พลทหารบุญมาผู้คุมประจำเรือนจำกับพวกเข้าจับกุมจำเลย ๆ กลับต่อสู้ขัดขวางใช้มีดทำร้ายพลทหารบุญมา
ศาลจังหวัดทหารบกพิษณุโลกฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 163, 254 ปรานีลดโทษตามมาตรา 59 แล้วคงจำคุกจำเลยรวม 2 กระทง 1 ปี
ผู้มีอำนาจตั้งกรรมการศาลและโจทก์อุทธรณ์
ศาลทหารกลางเห็นว่าจำเลยใช้มีดทำร้ายเจ้าพนักงานตามข้อบังคับทหารของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเรือนจำ ตามพระราชบัญญัติเรือนจำทหาร พ.ศ. 2479 มาตรา 5, 24 และจำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 120 หาใช่มาตรา 254 ไม่ พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลย 2 ปี ลดตามมาตรา 59 คงจำคุก 1 ปี นอกจากนี้ยืน
จำเลยฎีกาว่าพลทหารบุญมาไม่ใช่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาเพราะความในมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายอาญาทหาร หมายถึงบรรดานายทหารบก ทหารเรือ ชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนประจำการ ไม่รวมถึงพลทหาร ที่ลงโทษจำเลยตามมาตรา 120 แห่งกฎหมายลักษณะอาญานั้นไม่ชอบ
ศาลฎีกาเห็นว่าในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลทหารกลาง (ศาลอุทธรณ์) ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน และเห็นว่าพลทหารบุญมาผู้คุมเรือนจำเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญาทหารมาตรา 4 ซึ่งบัญญัติว่า “คำว่า””เจ้าพนักงาน” ที่ใช้ในประมวลกฎหมายอาญานั้นท่านหมายความตลอดถึงบรรดานายทหารบก นายทหารเรือ ชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนที่อยู่ในกองประจำการนั้นด้วย” ตามนี้เจ้าพนักงานหมายถึงเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญาและรวมตลอดถึงนายทหารชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนที่อยู่ในกองประจำการด้วย มิใช่หมายความแต่เฉพาะนายทหารชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนประจำการเท่านั้น