คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้เยาว์ ล. ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่ ก. โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1574 การซื้อขายที่ดินพิพาทจึงไม่มีผลผูกพัน ส่วนของโจทก์ แม้ล.ได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้ ก. และจำเลยเข้าทำประโยชน์ตลอดมาถึง 16 ปีเศษก็ถือว่า ก. และจำเลยเข้ายึดถือที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์แทนโจทก์จึงไม่อาจยกเอาระยะเวลาที่ ก. และจำเลยเข้าทำนาในที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้กับโจทก์จนกว่าก. และจำเลยจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาท โดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่โจทก์บรรลุนิติภาวะจึงขาดอายุความมิได้ยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์มิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ได้ความชัดว่า ส.ได้ที่ดินพิพาทมาก่อนสมรส หรือได้มาในระหว่างสมรสกับ ล. จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคท้าย เมื่อ ส. ตายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสย่อมตกเป็นของ ล. กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625(1) ประกอบมาตรา 1533 อีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกตกแก่ ล. กับโจทก์ คนละส่วนเท่า ๆ กัน ตามมาตรา 1629(1) ประกอบด้วยมาตรา 1635(1) แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ล. กับ ก. จะไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ แต่หลังจากทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว ล. ได้ยอมให้จำเลยกับ ก. เข้าทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา ประกอบกับที่ดินเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งบุคคลมีเพียงสิทธิครอบครอง และอาจโอนการครอบครองให้แก่กันด้วยการส่งมอบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 ล. มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยกับ ก. เข้าทำนาจึงมีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของ ล. ให้แก่จำเลยกับ ก. จำเลยกับ ก. ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินส่วนของ ล. จำเลยฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งหมด แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองเพียงบางส่วน ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งตามสิทธิของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายเหลื่อมกับนายกว้างเป็นโมฆะ ให้จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ให้โจทก์ทั้งสี่ไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นชื่อของจำเลย หากโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 4 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ร่วมบิดามารดาของโจทก์ที่ 4 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 166 ตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่ไม่สมบูรณ์ ให้จำเลยส่งมอบที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสี่ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนดังกล่าวอีกต่อไป คำขอนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ทั้งสี่และจำเลยมีสิทธิครอบครองร่วมกันในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ คำขออื่นตามฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นข้อพิพาทตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสี่ยินยอมให้นายเหลื่อมขายที่ดินพิพาทให้แก่นายกว้างหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่านอกจากตัวจำเลยแล้วจำเลยยังมีพยานบุคคลอีกหลายปาก เป็นต้นว่านางบุญรัง เขียวเขว้าและนางพิไลวรรณ พรรณจิตร บุตรสาวของจำเลย ซึ่งร่วมรู้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่นายเหลื่อมทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับนายกว้างเบิกความยืนยันว่าโจทก์ทั้งสี่ได้รู้เห็นและยินยอมให้นายเหลื่อมขายที่ดินพิพาทให้นายกว้างแต่เมื่อตรวจดูคำเบิกความของจำเลยกับนางบุญรังและนางพิไลวรรณแล้วไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสี่อยู่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะทำสัญญาซื้อขายด้วย อนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ว่าขณะนั้นโจทก์ทั้งสี่ยังเป็นผู้เยาว์ โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น ส่วนโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อายุ 14 ปี 11 ปี และ 8 ปีตามลำดับ เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสี่ยังอยู่ในวัยเยาว์เกินกว่าที่จะมีส่วนร่วม ในการจัดการทรัพย์สินของตน ทั้งตามคำเบิกความของนายพัง วรรณชาติกับนายสุด ดีชัย พยานโจทก์ ซึ่งเป็นที่รับกันว่าได้ร่วมรู้เห็นเหตุการณ์ในขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทก็ได้ความว่าขณะที่นายเหลื่อมทำสัญญซื้อขายที่ดินพิพาทกับนายกว้างโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้อยู่ด้วย นอกจากนี้แล้วนายบุญเหลือ ยืนชีวิต พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งเคยเห็นสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทยังเบิกความว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมีข้อความระบุว่านายเหลื่อมแต่ผู้เดียวเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ขายมิได้ระบุชื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้ขายด้วย ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแสดงว่านายเหลื่อมขายที่ดินพิพาทส่วนของตนและส่วนของโจทก์ทั้งสี่ให้แก่นายกว้าง โดยถือตนว่าเป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ทั้งสี่ยินยอมให้ขายที่ดินพิพาทโดยหยิบยกเหตุผลขึ้นกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นหลานของนายกว้างสามีของจำเลยและเคยไปมาหาสู่กับจำเลยอยู่เสมอ โจทก์ทั้งสี่ย่อมรู้ดีว่านายเหลื่อมขายที่ดินพิพาทให้แก่นายกว้างนั้น ความข้อนี้โจทก์ทั้งสี่นำสืบว่าหลังจากที่นางสมดีถึงแก่ความตายแล้วโจทก์ทั้งสี่ต่างเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร นาน ๆ จึงจะกลับไปบ้านสักครั้งหนึ่ง ไม่รู้ความเป็นไปของที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยกับนางสุณี ผุดผ่อง พยานจำเลยเบิกความรับว่าหลังจากที่นางสมดีตายแล้ว บุตรของนางสมดีบางคนไปบวชบางคนไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร นาน ๆ จะกลับไปเยี่ยมบ้านสักครั้งหนึ่ง คำเบิกความของพยานจำเลยเจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสี่ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ว่า นายเหลื่อมขายที่ดินพิพาทให้แก่นายกว้างโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสี่ และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายเหลื่อมกับนายกว้างจึงไม่มีผลผูกพันส่วนของโจทก์ทั้งสี่ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่านายเหลื่อมได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้นายกว้างและจำเลยเข้าทำประโยชน์ตลอดมาเป็นเวลาถึง 16 ปีเศษ ดังที่จำเลยฎีกาก็ต้องถือว่านายกว้างและจำเลยเข้ายึดถือที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่แทนโจทก์ทั้งสี่จำเลยไม่อาจยกเอาระยะเวลาที่ตนเองกับนายกว้างเข้าทำนาในที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสี่จนกว่าจำเลยกับนายกว้างจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสี่ว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสี่อีกต่อไปแต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยได้ให้การไว้ว่า โจทก์ทั้งสี่นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่โจทก์ทั้งสี่บรรลุนิติภาวะจึงขาดอายุความมิได้ยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์มิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 ดังที่จำเลยยกขึ้นฎีกา แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกัน โดยมิได้วินิจฉัยว่าฝ่ายใดมีสิทธิครอบครองเป็นส่วนสัดเท่าใดยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากคู่ความต่างนำสืบพยานหลักฐานของตนจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณา ข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายหมากับนางคำหล่า ตาและยายของโจทก์ทั้งสี่ ต่อมาวันเดือนปีใดไม่ปรากฏนายหมากับนางคำหล่ายกที่ดินพิพาทให้แก่นางสมดีมารดาของโจทก์ทั้งสี่เมื่อทางพิจารณาไม่ได้ความชัดว่านางสมดีได้ที่ดินพิพาทมาก่อนสมรส หรือได้มาในระหว่างสมรสกับนายเหลื่อม อันมีผลให้ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายเหลื่อมกับนางสมดี กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคท้าย เมื่อนางสมดีถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสย่อมตกเป็นของนายเหลื่อมกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625(1) ประกอบด้วย มาตรา 1533 อีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกตกแก่นายเหลื่อมกับโจทก์ทั้งสี่คนละส่วนเท่า ๆ กันตามมาตรา 1629(1) ประกอบด้วยมาตรา 1635(1) ดังนั้น นายเหลื่อมจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหกในสิบส่วน อีกสี่ในสิบส่วนเป็นของโจทก์ทั้งสี่คนละส่วนเท่า ๆ กัน แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายเหลื่อมกับนายกว้างจะไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ทั้งสี่ก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า หลังจากทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแล้วนายเหลื่อมได้ยอมให้จำเลยกับนายกว้างเข้าทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา ประกอบกับที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งบุคคลมีเพียงสิทธิครอบครอง และอาจโอนการครอบครองให้แก่กันด้วยการส่งมอบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 การที่นายเหลื่อมมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยกับนายกว้างเข้าทำนาจึงมีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของนายเหลื่อมให้แก่จำเลยกับนายกว้าง จำเลยกับนายกว้างย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหกในสิบส่วน คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งหมดเมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งตามสิทธิของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2) แต่ที่จำเลยมีคำขอให้บังคับโจทก์ทั้งสี่ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับโจทก์ทั้งสี่ แต่ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจจำเลยที่จะขอให้บังคับเช่นนั้นได้ อีกทั้งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 77 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2497) กฎกระทรวงฉบับที่ 42 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ได้กำหนดวิธีการในการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้แล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร จำเลยย่อมสามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวให้ได้รับผลตามวัตถุประสงค์ได้อยู่แล้ว โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมกับแนบคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุดที่แสดงว่าจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาท กรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทสี่ในสิบส่วนจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหกในสิบส่วน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share