คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2254/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีทั้งสามสำนวนนี้โจทก์ได้ขอรวมการพิจารณาพิพากษา เข้าด้วยกัน และจำเลยไม่ได้คัดค้านทั้งสามสำนวน ดังนั้น คำขอท้ายฟ้องคดีทั้งสามสำนวนนี้จึงถือเป็นข้อเท็จจริงและ เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อโจทก์มีความประสงค์มาแต่ต้น โดยต้องการให้ศาลชั้นต้นนับโทษจำคุกจำเลยต่อกับคดีอื่น โจทก์ต้องระบุหรือกล่าวไว้ในคำฟ้องหรือขอแก้ไขเพิ่มเติม ฟ้องในภายหลังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 เสียก่อนที่จะมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อคำฟ้องของโจทก์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวและไม่มีคำขอให้นับโทษจำคุกจำเลย ต่อกันไว้การที่โจทก์ขอรวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสามสำนวน ด้วยกันก็เพื่อประโยชน์ในการนำสืบพยานหลักฐานชุดเดียวกัน ของคู่ความเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติม ฟ้องทำนองขอให้นับโทษในคดีต่อกันดังที่โจทก์แก้ฎีกา ด้วยเหตุนี้ การที่ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดรวมทั้งสิ้น 11 กระทง และให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อกันจึงเป็นการพิพากษา เกินคำขอของโจทก์ที่มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยโจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาทั้งสามสำนวน
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91จำคุกกระทงละ 8 เดือน รวมจำคุก 88 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 เดือน รวม 11 กระทง คงจำคุก 11 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนฎีกาจำเลยที่ว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีอำนาจพิพากษาให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อกันทั้งสามสำนวนโดยโจทก์มิได้มีคำขอนั้น คดีทั้งสามสำนวนนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2539 โจทก์ได้ขอรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน และจำเลยไม่ได้คัดค้านทั้งสามสำนวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าคำฟ้องของโจทก์และคำขอท้ายฟ้องตามคดีหมายเลขดำที่ 1126/2538 คดีหมายเลขดำที่ 1974/2538 และคดีหมายเลขดำที่ 565/2539 ทั้งสามสำนวนนี้ โจทก์มิได้มีคำขอให้นับโทษของจำเลยต่อกันไว้ การจะนับโทษจำเลยต่อกันได้หรือไม่นี้ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงและต้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อโจทก์มีความประสงค์มาแต่ต้นโดยต้องการที่จะให้ศาลชั้นต้นนับโทษจำคุกจำเลยต่อกับคดีอื่นโจทก์ต้องระบุหรือกล่าวไว้ในคำฟ้องหรือขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในภายหลังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163เสียก่อนที่จะมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏมีข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่มีคำขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อกันไว้ การที่โจทก์ขอรวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสามสำนวนเข้าด้วยกันก็เพื่อประโยชน์ในการนำสืบพยานหลักฐานชุดเดียวกันของคู่ความเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องทำนองขอให้นับโทษในคดีต่อกันดังที่โจทก์แก้ฎีกา ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดรวมทั้งสิ้น 11 กระทงและให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อกันจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ที่มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนแรกรวมจำคุก 6 เดือนสำนวนที่สองรวมจำคุก 3 เดือน สำนวนที่สามรวมจำคุก 2 เดือนไม่นับโทษจำคุกจำเลยทั้งสามสำนวนต่อกันนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share