คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 654/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การคำนวณค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 นั้น ให้ถือค่าจ้างอัตราสุดท้ายของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเป็นฐานในการคำนวณ ส่วนการคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ก็ต้องถือตามจำนวนสินจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับในระยะเวลาที่นายจ้างเลิกสัญญาจ้างนั้น เมื่อจำเลยมิได้ยกเอาเหตุที่โจทก์ยักยอกเงินของจำเลยขึ้นอ้างในคำสั่งเลิกจ้าง ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าโจทก์ยักยอกเงินของจำเลยไป จึงเป็นเหตุหรือข้ออ้างที่อยู่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ โจทก์เสียหายเป็นเงิน 8,499,360 บาท มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 2,124,840 บาท สิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 354,140 บาท และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 330,530 บาท รวมกับค่าจ้างค้างจ่ายและเงินเพิ่มกรณีจงใจผิดนัดชำระค่าจ้างแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 13,236,870 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 13,236,870บาท กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีทุก ๆ 7 วันจากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เหตุเพราะระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติงานเป็นผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป โจทก์ได้ทุจริตปลอมแปลงเอกสารสำคัญเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและโจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นหากโจทก์มีสิทธิเรียกร้องจริงต้องคำนวณจากค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของโจทก์ตามที่จำเลยนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่า โจทก์มีกิริยาก้าวร้าวอาฆาต ข่มขู่ผู้บังคับบัญชา หรือประพฤติตนไม่เหมาะสม หรือมีพฤติการณ์ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นการเลิกจ้างที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดการเลิกจ้างนั้นจึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์รวมทั้งค่าเสียหาย โจทก์ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลา 11 ปี5 เดือน เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ 600,000 บาทส่วนเงินค่าส่วนแบ่งจากการขายที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องมา 144,500บาท นั้น เป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องโดยคำนวณเอาจากอัตราเดิมที่โจทก์เคยได้รับขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป เมื่อตำแหน่งนี้ถูกยุบเลิกไปและโจทก์ไปดำรงตำแหน่งอื่น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งจากการขายจำนวนนี้และถือไม่ได้ว่าจำเลยค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดเงินเพิ่มจากเงินจำนวนดังกล่าวพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 996,950 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์จำเลย ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ถูกต้องหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 4. ว่า อัตราค่าจ้างสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยแก่โจทก์ควรคำนวณจากค่าจ้างของโจทก์เดือนละ 350,150 บาท คิดเป็นเงิน2,100,900 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวด เป็นเงิน350,150 บาท เพราะเดิมโจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปมีค่าจ้างเดือนละ 50,150 บาท พร้อมเงินส่วนแบ่งจากการขาย ขณะนั้นเป็นเงินเดือนละ 300,000 บาท จำเลยย้ายโจทก์ไปอยู่ตำแหน่งอื่นเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2533 ตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นผลให้สิทธิประโยชน์ของโจทก์ขาดหายไปเดือนละ 300,000 บาท เห็นว่า การคำนวณค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ46 นั้น ให้ถือค่าจ้างอัตราสุดท้ายของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเป็นฐานในการคำนวณ ส่วนการคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ก็ต้องถือตามจำนวนสินจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับในระยะเวลาที่นายจ้างเลิกสัญญาจ้างนั้นซึ่งค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์ในขณะที่ถูกเลิกจ้างและสินจ้างที่โจทก์ควรจะได้รับในระยะเวลาที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างตามที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมา คือ เงินเดือน เดือนละ 50,000 บาทและค่าครองชีพเดือนละ 150 บาท รวมเดือนละ 50,150 บาท เท่านั้นโจทก์มิได้รับเงินส่วนแบ่งจากการขายอีกเดือนละ 300,000 บาทแต่อย่างใด เพราะโจทก์มิได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปอันจะมีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งจากการขายนั้นมาตั้งแต่วันที่21 กันยายน 2533 แล้ว ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางถือเอาอัตราค่าจ้างประจำเดือนสุดท้ายที่โจทก์ได้รับเดือนละ 50,150 บาทมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฯลฯ
ข้อ 3. จำเลยจะยกเหตุเลิกจ้างอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้างตามเอกสารหมาย จ.4 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้หรือไม่ปัญหาข้อนี้ จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 12.2 ว่า การที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ทุจริตปลอมแปลงเอกสารกรณีนายสุชาติเปลี่ยนรถและยักยอกเงินของจำเลยจำนวน 40,000 บาท มิใช่ข้อต่อสู้ที่นอกเหนือจากคำสั่งเลิกจ้างตามเอกสารหมาย จ.4 ศาลฎีกาได้ตรวจคำสั่งเลิกจ้างตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว มีข้อความว่า “ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่บริษัทฯ ได้แต่งตั้งขึ้นว่าในระหว่างที่ท่านทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทฯนั้น ท่านได้ใช้วิธีการอันไม่สุจริตและปลอมแปลงเอกสารบางอย่างเกี่ยวกับการจองซื้อรถยนต์วอลโว่เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตัวทำให้บริษัทฯ ต้องเสียประโยชน์อันพึงได้และได้รับความเสียหายนอกจากนี้ ยังปรากฏว่าท่านได้ปฏิบัติตนเป็นปัญหากับเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา จนเป็นเหตุให้บริษัทฯ ต้องโยกย้ายตำแหน่งของท่านเพื่อความเหมาะสม แต่ท่านไม่เพียงแต่ไม่พยายามปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งใหม่นั้นให้ดี กลับแสดงพฤติการณ์ดื้อแพ่งต่อคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แสดงกิริยาข่มขู่และกล่าวคำอาฆาตผู้บังคับบัญชา ละทิ้งการงาน และยุยงส่งเสริมพนักงานของบริษัทฯ ให้เกลียดชังบริษัทฯ และทำการอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นพนักงานของบริษัท อีกหลายประการ ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯจึงมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2534เป็นต้นไป ทั้งนี้ ท่านมีสิทธิได้รับเงินเดือนสำหรับเดือนเมษายน2534 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ท่านมีสิทธิได้รับเงินเดือนสำหรับเดือนเมษายน 2534 ทั้งเดือนขอให้ท่านติดต่อรับได้ที่ฝ่ายการเงินของบริษัทฯ…” ดังนี้ จะเห็นได้ว่าจำเลยมิได้ยกเอาเหตุที่โจทก์ยักยอกเงินจำนวน 40,000 บาท ของจำเลยขึ้นอ้างแต่อย่างใด เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานของจำเลยไม่พอฟังว่า โจทก์ได้ใช้วิธีการอันไม่สุจริตปลอมแปลงเอกสารกับการจองซื้อรถยนต์วอลโว่เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตัวและทำให้จำเลยเสียหาย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าโจทก์ยักยอกเงินของจำเลยไป 40,000บาท จึงเป็นเหตุหรือข้ออ้างที่อยู่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share