แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันยึดทรัพย์ตามมาตรา 208 วรรคหนึ่งตอนท้าย เมื่อมีการส่งคำบังคับโดยเจ้าหน้าที่ศาลให้แก่จำเลยทั้งสองโดยการปิดคำบังคับไว้ ณ ภูมิลำเนาจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม2531 จำเลยทั้งสองยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2531จึงเลยกำหนด 15 วัน นับจากวันที่การส่งคำบังคับมีผลใช้ได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2523 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 40,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2524 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปครบถ้วนแล้วแต่เมื่อถึงกำหนดชำระเงินคืนจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน70,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ อ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ถ้ามีการพิจารณาใหม่จำเลยทั้งสองมีพยานหลักฐานที่จะชนะคดีได้
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้ว เห็นว่า เหตุที่อ้างว่าขาดนัดฟังไม่ได้ และจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เกินกำหนด 15 วันนับแต่วันทราบคำบังคับ จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองเป็นข้อแรกว่าจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นอกจากโจทก์จะมีนางศิริวรรณ กาญจนสมวงศ์เจ้าหน้าที่ศาลเป็นพยานเบิกความว่าเป็นผู้ไม่ส่งหมายเรียกสำนวนคำฟ้องตามภูมิลำเนาที่ระบุในคำฟ้องพบจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อรับไว้ปรากฏตามใบรับหมายเรียกลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2531แล้ว โจทก์ยังมีหลักฐานที่จำเลยที่ 1 ได้เคยยื่นคำแถลงในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 635/2530 ของศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ถูกเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งฟ้อง จำเลยที่ 1 ระบุภูมิลำเนาบ้านเลขที่ 1หมู่ 6 ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ตรงกับภูมิลำเนาตามคำฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ศาลได้นำหมายเรียกสำเนาคำฟ้องไปส่งตามหลักฐานดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์สอดคล้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 70 มิใช่เลขที่ 1 ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.2ก็ปรากฏว่ามีการขีดฆ่าเลขที่บ้านโดยขีดเลขที่ 1 ออกและแก้เป็นเลขที่ 70 โดยไม่ปรากฏลายเซ็นกำกับของเจ้าหน้าที่ทะเบียนเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 43 นั้น จำเลยที่ 2 ก็เบิกความต่อไปว่า แต่จำเลยที่ 2 มาอยู่กินกับจำเลยที่ 1 เจือสมทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองอยู่บ้านเดียวกัน พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งสอง กรณีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นสามีภรรยากันมีภูมิลำเนาตามที่โจทก์ระบุในฟ้อง ส่วนปัญหาข้อต่อไปที่ว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ได้ยื่นต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนดเวลา 6 เดือน นับแต่วันยึดทรัพย์ตามมาตรา 208 วรรคหนึ่งตอนท้าย นั้น เห็นว่า เมื่อได้มีการส่งคำบังคับโดยเจ้าหน้าที่ศาลให้แก่จำเลยทั้งสองโดยการปิดคำบังคับไว้ ณ ภูมิลำเนาจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2531 ตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่7 กรกฎาคม 2531 จำเลยทั้งสองยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่3 ตุลาคม 2531 จึงเลยกำหนด 15 วัน นับจากวันที่การส่งคำบังคับมีผลใช้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรค 2ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.