แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาเช่าซึ่งโจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันแม้ทรัพย์สินที่ให้เช่าจะมิใช่ของโจทก์ แต่เมื่อจำเลยยอมทำสัญญาเช่ากับโจทก์ จำเลยย่อมต้องผูกพันตามสัญญา เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยทำสัญญาเช่าในฐานะตัวแทนของบุคคลอื่นนั้นมิได้มีอยู่ในคำให้การของจำเลย และถือไม่ได้ว่าประเด็นดังกล่าวรวมอยู่ในข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ การที่จำเลยจะต้องรับผิดในผลเสียที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้รับมอบทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งสัญญาเช่าคืนหรือไม่นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษา ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลในชั้นต้น ที่พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302วรรคแรกที่จะวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินบริษัทพื้นสำเร็จรูป จำกัด ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจเป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 102/36 และทรัพย์สินรวม 102 รายการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2524 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดิน อาคารและทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นกับโจทก์โดยโจทก์ทำสัญญาในฐานะส่วนตัวและตัวแทนบริษัทพื้นสำเร็จรูป จำกัด กำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปีนับแต่วันทำสัญญา ค่าเช่าสองปีแรกเดือนละ 30,000 บาท ส่วนปีที่สามเดือนละ 40,000 บาท ต่อมาจำเลยค้างชำระค่าเช่าโจทก์จากเดือนเมษายน2526 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2527 ซึ่งเป็นวันครบอายุสัญญารวม 11 เดือนเป็นเงิน 440,000 บาท และจำเลยยังคงเช่าทรัพย์สินต่าง ๆ ต่อไปอีกและค้างค่าเช่าอีกเป็นเงิน 80,000 บาท รวมค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระโจทก์ 520,000 บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าเรื่อยมาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4987, 4988, 30328 และอาคารเลขที่ 102/36พร้อมส่งมอบที่ดินอาคาร และทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เช่าทั้งหมดคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่เช่าดังกล่าวต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายรวม 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเช่าที่ค้าง520,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากทรัพย์สินที่เช่าและส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยเพียงเช่าเครื่องมือเครื่องอุปกรณ์ของบริษัทพื้นสำเร็จรูป จำกัด และโรงงานซึ่งปลูกบนที่ดินของผู้มีชื่อ ซึ่งไม่ใช่ของโจทก์ทั้งจำเลยไม่เคยเช่าที่ดินของโจทก์ ไม่เคยติดค้างค่าเช่าโจทก์ จำเลยมิเคยได้รับหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่จำเลยเช่าโรงงานเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวนั้น หมายรวมถึงใบอนุญาตประกอบกิจการอุตสาหกรรมหล่อพื้นคอนกรีตด้วย ใบอนุญาตหมดอายุวันที่ 31 ธันวาคม2525 แต่ผู้ให้เช่าไม่จัดการต่อให้จำเลยจึงดำเนินการขออนุญาตในนามจำเลยเอง ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2526 ดังนั้น ช่วงเวลาที่ใบอนุญาตหมดอายุ จำเลยไม่อาจใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าได้ซึ่งเป็นความผิดของผู้ให้เช่าหรือโจทก์เองที่ประพฤติผิดสัญญาจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าจากจำเลย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2526 โจทก์ได้มาเอาแบบพื้นแบนยูคว่ำชนิดมีฝ้าและไม่มีข้าง 64 แบบ ไส้เหล็กแม่แบบ 310 อัน โทรศัพท์ 2 เครื่อง เครื่องพิมพ์ดีด 1 เครื่องและเครื่องคิดเลข 1 เครื่อง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยเช่าไปขายให้แก่ผู้มีชื่อทำให้จำเลยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าได้ และได้รับความเสียหายเพราะจำเลยได้รับงานและมัดจำจากผู้มีชื่อไว้ 200,000 บาท แต่ทำงานให้ไม่ได้ ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมานั้น หากเสียหายจริงก็ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาททั้งฟ้องโจทก์ขาดอายุความ นอกจากนี้เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินและอุปกรณ์จากบริษัทผู้มีชื่อและจากผู้มีชื่อนั้น บุคคลดังกล่าวได้รับเงินค่ามัดจำในการรับจ้างหล่อพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปจากบริษัทรวมชัยสถาปัตย์ จำกัด เป็นเงิน 150,000 บาท จึงตกลงให้จำเลยเป็นผู้ทำงานแทนเพื่อหักกับค่าเช่า 5 เดือน ซึ่งจำเลยได้ทำงานให้เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงเรียกค่าเช่าในส่วนนี้ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและอาคารของโจทก์ที่ให้จำเลยเช่าและให้จำเลยส่งมอบที่ดินอาคาร และทรัพย์สินที่เช่าคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าเช่าและค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินต้นค่าเช่า 520,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 40,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากทรัพย์สินที่เช่าของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่าโจทก์ไม่มีอำนาจเอาทรัพย์สินของบริษัทพื้นสำเร็จรูป จำกัด เช่นอาคารเลขที่ 102/3 ซอยปัญจมิตร แขวงลาดพร้าว เขตบางกะปิ และทรัพยสิน 102 รายการ เป็นต้น ออกให้จำเลยเช่าเพราะกรรมการบริษัทไม่ได้มีมติให้นำทรัพย์สินออกให้เช่า สำหรับที่ดินโฉนดที่ 4988ของหม่อมราชวงศ์โศภา กาญจนะวิชัย น้องสาวโจทก์ซึ่งโจทก์เช่ามานั้นเจ้าของที่ดินก็ไม่ได้ยินยอมให้โจทก์มีอำนาจให้จำเลยเช่าช่วงโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาเช่าซึ่งโจทก์จำเลยทำไว้ต่อกัน แม้ทรัพย์สินที่ให้เช่าจะมิใช่ทรัพย์สินของโจทก์ แต่เมื่อจำเลยยอมทำสัญญาเช่ากับโจทก์แล้วทั้งสองฝ่ายย่อมต้องผูกพันตามสัญญา เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ การที่กรรมการบริษัทพื้นสำเร็จรูปจำกัด จะมีมติให้โจทก์นำทรัพย์สินของบริษัทออกให้เช่าหรือไม่และหม่อมราชวงศ์โสภา น้องสาวโจทก์จะได้ให้อำนาจโจทก์นำทรัพย์สินออกให้เช่าช่วงได้หรือไม่นั้น มิใช่ข้อสำคัญเพราะกรณีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาในสัญญาเช่า มิใช่เป็นเรื่องการพิพาทกันระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ากับจำเลยซึ่งเป็นผู้นำ และเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าก็มิได้โต้แย้งอำนาจของโจทก์ในการนำทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นออกให้จำเลยเช่าแต่ประการใด ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในข้อต่อไปว่า จำเลยทำสัญญาเช่าในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทฉันทนาวิศวะและอุตสาหกรรม จำกัด เมื่อบริษัทดังกล่าวเข้ามารับผิดตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยจึงพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเช่าและจำเลยเห็นว่าความข้อนี้รวมอยู่ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องจึงถือว่าจำเลยได้ยกขึ้นว่ามาในศาลชั้นต้นแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจำเลยเห็นว่าไม่เป็นการถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อต่อสู้ที่ว่าจำเลยทำสัญญาเช่ารายนี้ในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทฉันทนาวิศวะและอุตสาหกรรม จำกัด นั้นมิได้มีอยู่ในคำให้การของจำเลยแต่อย่างใดทั้งประเด็นข้อนี้ก็มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องดังที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยได้ส่งมอบทรัพยสินอันเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาเช่า ซึ่งได้แก่อาคารเลขที่ 102/36 และแบบแม่พิมพ์ต่าง ๆ คืนแก่โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2528 ดังปรากฏตามสำเนาหนังสือเรื่องส่งมอบคืนโรงงาน ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2528 ท้ายฎีกา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในผลเสียหายที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้รับมอบทรัพย์สินคืนเป็นต้นไป โจทก์แก้ฎีกาว่า โจทก์ไม่เคยได้รับมอบทรัพย์สินดังกล่าวคืนจากจำเลย และไม่เคยเห็นหนังสือส่งมอบคืนโรงงานท้ายฎีกา เพราะเป็นหนังสือที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียว ฎีกาจำเลยข้อนี้เป็นเท็จศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาตามฎีกาจำเลยและคำแก้ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้เป็นเรื่องอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นที่จะทำคำวินิจฉัยชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา302 วรรคแรก เมื่อศาลชั้นต้นอันเป็นศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนี้ในชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อนี้แต่ประการใด จำเลยจะฎีกาข้ามขั้นขึ้นมาเช่นนี้หาได้ไม่ ฉะนั้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน.