แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยลงข้อความโฆษณาในหนังสือพิมพ์ของจำเลยโดยอาศัยบทความที่เขียนโดยชาวต่างประเทศที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศฉบับหนึ่งซึ่งพิมพ์ออกจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา มีข้อความโดยย่อว่า ซีไอเอ ได้จ่ายเงิน 250 ล้านบาทอุดหนุนหน่วย “นวพล” ที่ซีไอเอ ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยบางคนตั้งขึ้นมาเพื่อกำราบประชาชนและนักศึกษาที่มีกิจกรรมต่อต้านสหรัฐฯโจทก์เป็นผู้เสนอโครงการ “นวพล” นี้โดยมีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของกระทรวงการต่างประเทศและกลาโหมของสหรัฐฯ มาก่อนเงินอุดหนุน “นวพล” นี้ เฉพาะตัวโจทก์ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 8 หมื่นบาท ดังนี้ แม้หากจะฟังว่าข้อความตามที่จำเลยลงโฆษณานั้นมีความหมายเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ก็ตามแต่การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(3) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันลงบทความในหนังสือพิมพ์รายวันแนวหน้าแห่งยุค เดลินิวส์ฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2518 ในหน้า 1 และหน้า 16 ว่า “นายจอห์น รัสกินได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับองค์การ ซี ไอ เอ ไว้ในหนังสือพิมพ์สตาร์ ทรีบูน ฉบับวันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2518 ที่ออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา โดยเปิดเผยว่า ซี ไอ เอ ได้จ่ายเงิน 250 ล้านบาท อุดหนุนหน่วย “นวพล” ที่ซี ไอ เอ ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยบางคนตั้งขึ้นมาเพื่อกำราบประชาชนและนักศึกษาที่มีกิจกรรมต่อต้านสหรัฐ” และว่า “นายวัฒนา เขียววิมล เป็นผู้เสนอโครงงาน “นวพล” นี้โดยมีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของกระทรวงต่างประเทศและกลาโหมของสหรัฐมาก่อน” และว่า “เงินอุดหนุน”นวพล” นี้ เฉพาะตัวนายวัฒนา เขียววิมล ได้เงินเดือน ๆ ละ 8 หมื่นบาท”ดังปรากฏในหนังสือพิมพ์ของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อความที่จำเลยเคยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ก็โดยอาศัยบทความของนายจอห์น รัสกิน ที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สตาร์ ทรีบูน ที่พิมพ์ออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา และตามเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์มีถึงเอกอัครราชฑูตสหรัฐประจำประเทศไทย มีข้อความตอนหนึ่งว่า “พวกเรามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่หนังสือพิมพ์ ฉบับหนึ่งชื่อ สตาร์ ทรีบูน ได้ลงเรื่อเท็จเกี่ยวกับนวพล”
มีปัญหาในข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยลงโฆษณาข้อความในหนังสือพืมพ์เอกสารหมาย จ.3 ตามฟ้องจะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้หากจะฟังข้อความตามที่จำเลยลงโฆษณานั้นมีความหมายเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ดังฟ้องก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาแล้วดังกล่าวข้างต้นถือได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรมต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3)ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
พิพากษายืน