แหล่งที่มา : 33
ย่อสั้น
โจทก์มอบที่พิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย การที่จำเลยได้ไปยื่นขอรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทเมื่อปี พ.ศ. 2520 และโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2520 เจ้าหน้าที่จึงมิได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการถือที่พิพาทโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าตนไม่เจตนาที่จะยึดถือที่พิพาทไว้แทนโจทก์อีกต่อไปดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381จึงต้องถือว่าจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์อยู่
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ตัดต้นตาลของโจทก์ 6 ต้นเป็นเงิน 3,000 บาท โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่าเวลานี้เหลือต้นตาลเพียง 4 ต้นในที่พิพาท ไม่ทราบว่าใครตัดไป 8 ต้น น้องสาวโจทก์บอกโจทก์ว่าจำเลยตัดไปทำบ้าน ตามคำของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนตัด ที่โจทก์อ้างว่าน้องสาวโจทก์บอกว่าจำเลยเป็นคนตัดก็เป็นพยานบอกเล่ารับฟังไม่ได้ โจทก์จึงเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยไม่ได้.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กู้เงินจำเลย 3,000 บาท โดยได้มอบนาพิพาทให้จำเลยทำแทนดอกเบี้ย ต่อมาจำเลยได้นำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินโจทก์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก)อ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลย โจทก์ได้คัดค้าน นอกจากนี้จำเลยกับพวกสมคบกันปลอมสัญญากู้ขึ้น 1 ฉบับเพื่อบีบบังคับให้โจทก์โอนที่พิพาทให้จำเลย นายอำเภอสทิงพระได้เปรียบเทียบแล้วให้โจทก์ชำระเงินเพียง 3,000 บาท แต่จำเลยไม่ยอมรับ และโจทก์เสียหายที่จำเลยตัดโค่นต้นตาล 6 ต้นคิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น11,500 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยออกไปจากที่ดินโจทก์ ห้ามรบกวนสิทธิโจทก์อีกต่อไป พร้อมกับขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เอานาพิพาทตีใช้หนี้ จำเลยจึงได้ครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของตลอดมา และได้ขอให้เจ้าพนักงานออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ได้คัดค้านจำเลยครอบครองที่พิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 โจทก์รู้เมื่อตอนไปคัดค้านการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2520 และมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2525 คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องเรียกคืน ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้อง และห้ามมิให้ขัดขวางการที่จำเลยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก)
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยยกที่พิพาทให้จำเลยแทนการชำระหนี้ จำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาจำเลยถึงแก่กรรม นางกลิ่น ปานดำรง ขอเข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ โจทก์มอบที่พิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย การครอบครองที่พิพาทของจำเลยย่อมถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ แม้จำเลยจะครอบครองที่พิพาทมาช้านานเท่าใด ก็ไม่อาจยกเอาระยะเวลาแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ขึ้นมาต่อสู้ไม่ได้ นอกจากจะได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381เสียก่อน การที่จำเลยได้ไปยื่นคำขอรับรองการทำประโยชน์เมื่อปี พ.ศ. 2520 โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2520เจ้าหน้าที่จึงมิได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยกรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการถือที่พิพาทโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าตนไม่เจตนาที่จะยึดถือที่พิพาทไว้แทนโจทก์อีกต่อไป ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1381 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์อยู่ ส่วนที่โจทก์ไปร้องเรียนต่ออำเภอสทิงพระให้เรียกจำเลยมาทำการเปรียบเทียบ ก็ได้ความจากนายสมพงษ์ กุลวิจิตร นายอำเภอพยานโจทก์ว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอให้นายสมพงษ์เปรียบเทียบเรื่องสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งมีรายละเอียดปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งคำให้การจำเลยก็มิได้อ้างว่าที่พิพาทเป็นของตน อันจะถือได้ว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่พิพาทโดยบอกกล่าวแก่โจทก์ว่าตนไม่เจตนาที่จะยึดถือที่พิพาทไว้แทนโจทก์ต่อไปอีกเมื่อจำเลยยังคงครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์อยู่เช่นนี้ แม้จำเลยจะครอบครองที่พิพาทช้านานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครองเป็นเจ้าของในที่พิพาทดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์เกี่ยวกับอำนาจฟ้องฟังขึ้น…
ส่วนประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ตัดต้นตาลของโจทก์ 6 ต้น เป็นเงิน 3,000 บาท โจทก์เบิกความลอยๆว่าเวลานี้เหลือต้นตาลเพียง 4 ต้นในที่พิพาทไม่ทราบว่าใครตัดไป 8 ต้น น้องสาวโจทก์บอกโจทก์ว่าจำเลยตัดไปทำบ้าน ตามคำของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนตัด ที่โจทก์อ้างว่าน้องสาวโจทก์บอกว่าจำเลยเป็นคนตัดนั้นก็เป็นพยานบอกเล่ารับฟังไม่ได้ โจทก์จึงเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยไม่ได้ส่วนที่โจทก์ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์กำไรสุทธิจากการที่โจทก์ไม่ได้เข้าทำและผลิตน้ำตาลโตนดเป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน 8,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2524 ตลอดมากับค่าเสียหายจากการขายน้ำตาลโตนดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่พิพาทนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ได้มอบที่พิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยเงินกู้ ถือได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ชำระหนี้เงินกู้หรือขอชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลย สัญญานี้ก็ยังไม่เลิกต่อกัน การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินโจทก์เพียงสถานเดียวโดยไม่ขอชำระเงินกู้ให้แก่จำเลยเป็นการตอบแทนด้วย จึงยังไม่มีเหตุที่จะขอให้บังคับเช่นนั้นได้ และเมื่อฟังว่าจำเลยยังมีสิทธิทำกินในที่พิพาทต่างดอกเบี้ยแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการขายน้ำตาลโตนดจากจำเลย จึงต้องยกคำขอของโจทก์ที่ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายดังกล่าวเสียศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’
พิพากษายืน.