แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะบทมาตราแห่งความผิดส่วนกำหนดโทษคงเป็นไปตามเดิมคือปรับ 1,000 บาท จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพื่อสอบถามเรื่องราวจากโจทก์ร่วมที่ 2 คนใช้ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงเรื่องที่โจทก์ร่วมที่ 2 เล่าให้คนใช้ของจำเลยฟังว่าจำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 1 เป็นชู้กับคนใช้เก่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรและการที่จำเลยที่ 2 ตามจำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 เมื่อมีเสียงดังขึ้นภายในบ้านเพื่อดูว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นนั้นก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปโดยไม่มีเหตุสมควรเช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364
จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าเป็นไพร่เอาเรื่องไม่จริงมาพูด โจทก์ร่วมที่ 2 ตอบว่าไม่ได้พูดและกล่าวว่าจำเลยที่ 1 ใส่ร้าย จำเลยที่ 1 จึงตบหน้าโจทก์ร่วมที่ 2 ดังนี้ การที่โจทก์ร่วมที่ 2 กล่าวถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงการปฏิเสธเรื่องที่จำเลยที่ 1 สอบถามเท่านั้น แม้โจทก์ร่วมที่ 2 จะใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมแก่จำเลยที่ 1 อยู่บ้างก็เป็นเพราะจำเลยที่ 1 ได้ด่าว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ก่อน กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕,๓๖๔,๓๖๕,๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
นายอาทร อุยยามะพันธุ์ และนางสาวบัวลา เชื้อเมืองพาน ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยให้เรียกนายอาทรและนางสาวบัวลาเป็นโจทก์ร่วมที่ ๑ และโจทก์ร่วมที่ ๒ ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕,๓๖๖ (ที่ถูกน่าจะเป็น ๓๖๔),๓๖๕ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๖๕ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดปรับคนละ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔,๓๙๑ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๔ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะบทมาตราแห่งความผิดเท่านั้น ส่วนกำหนดโทษคงเป็นไปตามเดิมจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ จำเลยทั้งสองคงฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๒ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ ๑ เป็นการเข้าไปโดยถือวิสาสะ ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าบ้านของโจทก์ร่วมที่ ๑ กับของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นทาวน์เฮาส์อยู่ติดกัน ทั้งสองฝ่ายเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๒๘ เวลาประมาณ ๖ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ บอกโจทก์ร่วมที่ ๑ กับนางวัลยา อุยยามะพันธุ์ ภริยาโจทก์ร่วมที่ ๑ ว่าโจทก์ร่วมที่ ๒ ซึ่งเป็นคนใช้ของโจทก์ร่วมที่ ๑ เล่าให้คนใช้ของจำเลยทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ ๒ สามีของจำเลยที่ ๑ เป็นชู้กับนางสาวมีคนใช้เก่าของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ ๑ จึงขอพบโจทก์ร่วมที่ ๒ นางวัลยาบอกให้มาพบในตอนเย็น จำเลยที่ ๑ ยืนยันขอพบในขณะนั้น โจทก์ร่วมที่ ๑ เห็นว่าจำเลยที่ ๑ กำลังมีอารมณ์โกรธเกรงว่าจะเกิดเรื่องจึงบอกให้จำเลยที่ ๑ รออยู่ที่หน้าบ้านแล้วโจทก์ร่วมที่ ๑ เข้าไปตามโจทก์ร่วมที่ ๒ ในบ้าน ชั่วครู่ต่อมานางวัลยาบอกให้จำเลยที่ ๑ รออยู่ที่หน้าบ้านและเดินเข้าไปในบ้าน จำเลยที่ ๑ เดินตามนางวัลยาเข้าไปในบ้านที่ห้องรับแขก เมื่อโจทก์ร่วมที่ ๑ พาโจทก์ร่วมที่ ๒ มาที่ห้องรับแขกจำเลยที่ ๑ ด่าว่าโจทก์ร่วมที่ ๒ ว่าเป็นไพร่เอาเรื่องไม่จริงมาพูด โจทก์ร่วมที่ ๒ ปฏิเสธว่าไม่ได้พูด จำเลยที่ ๑ ตบหน้าโจทก์ร่วมที่ ๒ ไป ๒ ครั้ง จำเลยที่ ๒ ได้ยินเสียงดังภายในบ้านของโจทก์ร่วมที่ ๑ ก็เข้าไปในบานที่ห้องรับแขกดังกล่าว แล้วจำเลยที่ ๒ ผลักโจทก์ร่วมที่ ๒ จนศีรษะไปชนขอบหน้าต่างได้รับบาดเจ็บโจทก์ร่วมที่ ๑ กับนางวัลยาพูดห้าม จำเลยทั้งสองจึงหยุดโจทก์ร่วมที่ ๑ โทรศัพท์ไปแจ้งความจำเลยทั้งสองก็ออกจากบ้านไป ดังนี้ เห็นว่าการที่จำเลยที่ ๑ เข้าไปในห้องรับแขกที่บ้านของโจทก์ร่วมที่ ๑ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพื่อสอบถามเรื่องราวจากโจทก์ร่วมที่ ๒ นั้น กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ ๑ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ส่วนจำเลยที่ ๒ ย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ ๑ ภริยาของตนเข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ ๑ เพื่อสอบถามเรื่องราวดังกล่าว เมื่อมีเสียงดังขึ้นภายในบ้านของโจทก์ร่วมที่ ๑ การที่จำเลยที่ ๒ เข้าไปในบานของโจทก์ร่วมที่ ๑ ที่ห้องรับแขกเพื่อดูว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นนั้น ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ ๑ โดยไม่มีเหตุสมควรอีกเช่นกันการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔ ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการที่จำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ ๒ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะพิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๒ บัญญัติว่า “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าเมื่อโจทก์ร่วมที่ ๑ พาโจทก์ร่วมที่ ๒ มาพบจำเลยที่ ๑ ที่ห้องรับแขกแล้ว จำเลยที่ ๑ ด่าโจทก์ร่วมที่ ๒ ว่าเป็นไพร่ เอาเรื่องไม่จริงมาพูด โจทก์ร่วมที่ ๒ ตอบว่าตนไม่ได้พูดและกล่าวว่า อาจารย์ (หมายถึงจำเลยที่ ๑) ใส่ร้ายหนู จำเลยที่ ๑ จึงตบหน้าโจทก์ร่วมที่ ๒ และต่อมาจำเลยที่ ๒ ก็เข้ามาทำร้ายโจทก์ร่วมที่ ๒ ด้วย ดังนี้เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมที่ ๒ กล่าวถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงการปฏิเสธเรื่องที่จำเลยที่ ๑ สอบถามเท่านั้น แม้โจทก์ร่วมที่ ๒ จะใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมแก่จำเลยที่ ๑ อยู่บ้างก็เป็นเพราะจำเลยที่ ๑ ได้ด่าว่าโจทก์ร่วมที่ ๒ ก่อน กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๒ การกระทำผิดของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔ เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์