แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทหลังจากโจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของคนต่อมา แม้จำเลยที่ 2 ตกลงว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาทเมื่อเก็บเกี่ยวเผือกเสร็จแล้วแต่ไม่ออกไป ทั้งยังจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับสภาพที่ดินเพื่อทำนาข้าวอีก และโจทก์ร่วมได้ห้ามปรามแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่เชื่อ ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนากระทำผิดอาญาฐานบุกรุก เพราะจำเลยที่ 2 กระทำต่อเนื่องจากการที่โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ทำผิดข้อตกลงที่ตกลงไว้กับโจทก์ อันเป็นการกระทำละเมิดในทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดอาญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 เวลากลางวันถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลย ทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่นา อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของนายสานิตผู้เสียหาย โดยใช้รถไถแบบนั่งขับไถที่นาของผู้เสียหายปรับพื้นที่การทำนาเป็นเนื้อที่ 12 ไร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายและเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 365
ระหว่างพิจารณา นายสานิตผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วโทษจำคุกเห็นควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังยุติว่า นางสงัดเป็นมารดาจำเลยทั้งสองและนางเสงี่ยมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9028 ตำบลตลาดน้อย อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2543 นางเสงี่ยมขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ร่วมได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันตามกฎหมาย โดยขณะนั้นจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนโจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่เห็นด้วยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 เนื่องจากเมื่อโจทก์ร่วมได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนางเสงี่ยมแล้วก็ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับแต่รับโอนกรรมสิทธิ์ และการที่โจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทมาย่อมเป็นที่รู้กันทั่วไปเพราะเป็นหมู่บ้านในชนบท ที่จำเลยทั้ง 2 อ้างว่าเคยทำกินในที่ดินพิพาทมา 7-8 ปี จะถือโอกาสทำกินในที่ดินพิพาทต่อไปโดยอ้างว่าไม่ทราบว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากนางเสงี่ยมแล้วเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ 2 สามารถสอบถามโจทก์ร่วมหรือนางเสงี่ยมก่อนเข้าทำการไถที่ดินพิพาทได้เพื่อให้แน่ใจก่อน เนื่องจากผู้อื่นซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินอาจจำหน่ายจ่ายโอนหรือกระทำอย่างใดเกี่ยวกับที่ดินของเขาก็ได้ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ แต่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ต้องไปสอบถามผู้เกี่ยวข้องเพื่อความแน่ใจว่าได้มีการโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นแล้วหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่มีเจตนาบุกรุกจึงไม่ถูกต้อง ขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และลงโทษจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า เมื่อซื้อที่ดินพิพาทจากนางเสงี่ยมแล้วโจทก์ร่วมไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องนางเสงี่ยมเจ้าของที่ดินเดิมปลูกเผือกอยู่ในที่ดินพิพาททั้งแปลง โจทก์ร่วมหาได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับแต่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาจากนางเสงี่ยมตามที่โจทก์อ้างไม่ และโจทก์ร่วมก็ยังเบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะเสร็จการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่จำเลยที่ 2 ปลูกในที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทหลังจากโจทก์ร่วมซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วจึงเป็นการเข้าไปในที่ดินโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของคนต่อมา แม้โจทก์ร่วมจะอ้างว่า จำเลยที่ 2 ตกลงว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาทเมื่อเก็บเกี่ยวเผือกเสร็จแล้วแต่ไม่ออกไป ทั้งยังจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับสภาพที่ดินเพื่อทำนาข้าวอีก และโจทก์ร่วมกับนางอารมณ์ภริยาโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทได้ห้ามปรามแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่เชื่อก็ตาม ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนากระทำผิดอาญาฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้องเพราะจำเลยที่ 2 กระทำต่อเนื่องจากการที่โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ทำผิดข้อตกลงที่ตกลงไว้กับโจทก์ร่วม และเมื่อจำเลยที่ 2 รู้แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วมแล้วไม่ยอมออกไปเมื่อโจทก์ร่วมแจ้งให้ออก การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องการกระทำละเมิดในทางแพ่ง หาเป็นความผิดอาญาตามที่โจทก์ฟ้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน