คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้บังคับคดีกับจำเลยที่ 4 มีผลให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ได้ จำเลยที่ 4 ย่อมได้รับผลกระทบจากคำสั่งของศาลชั้นต้นด้วย จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองนำที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จนครบ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ เมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 541,052.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.50 ต่อปี จากต้นเงิน 493,982.55 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 ตุลาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองนำที่ดินโฉนดเลขที่ 40939 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดหากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จนครบถ้วนกับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระเงินให้โจทก์ โจทก์ขอหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 40939 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองไว้ขายทอดตลาดแล้วแต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 161602 และ 161603 ของจำเลยที่ 3 ขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า ศาลมีหมายบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินอื่นหลังขายทรัพย์จำนองเฉพาะจำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นอกเหนือจากที่ระบุในหมายบังคับคดี ให้ยกคำร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขายทอดตลาด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า หมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในการบังคับคดีกับจำเลยทั้งสี่มิใช่เฉพาะกับจำเลยที่ 1 เมื่อผู้แทนโจทก์แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 โดยไม่ปรากฏว่าเป็นการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าจำนวนที่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องดำเนินการตามที่ผู้แทนโจทก์แถลง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยที่ 4 มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งลงวันที่ 14 มกราคม 2546 ว่า “ศาลมีหมายบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินอื่นหลังขายทรัพย์จำนองเฉพาะจำเลยที่ 1 เห็นว่า ไม่สามารถยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2, 3, 4 นอกเหนือจากที่ระบุในหมายบังคับคดีได้” โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 16 มกราคม 2546 คัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 16 มกราคม 2546 ว่า “หมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในการบังคับคดีกับจำเลยทั้งสี่ มิใช่เฉพาะกับจำเลยที่ 1…” ดังนี้ ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นมีผลให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ได้จำเลยที่ 4 ย่อมได้รับผลกระทบจากคำสั่งของศาลชั้นต้นด้วย จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น
ปัญหาประการต่อไปมีว่า เมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 อีก หรือไม่ เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์ เมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์ย่อมสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 และสำหรับการออกหมายบังคับคดีนี้ก็ได้ความว่า โจทก์ยื่นคำขอลงวันที่ 8 มกราคม 2542 ว่า ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน จำเลยไม่ชำระหนี้ ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยเพื่อบังคับตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีวันที่ 14 มกราคม 2542 ให้บังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าหมายบังคับคดี ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในการบังคับคดีกับจำเลยทั้งสี่ มิใช่เฉพาะกับจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share