คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3497/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดิน และโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 แม้ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ไม่ขัดต่อมาตรา 798 วรรคสอง
โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าจำเลยเป็นเพียงผู้รับจำนองแทนโจทก์เป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวแทนอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงมิใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานยักยอก ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าพฤติการณ์มีเหตุสงสัยว่าจำเลยรับจำนองแทนโจทก์หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ศาลมิได้ยกฟ้องด้วยเหตุว่าจำเลยมิได้รับจำนองแทนโจทก์ และคดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำ ป.วิ.อ. มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยร่วมทำธุรกิจด้วยกัน โดยแบ่งหน้าที่กันทำด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจตลอดมา โจทก์เป็นผู้ลงทุนและวางแผนการบริหาร จำเลยเป็นผู้ช่วยเหลือดำเนินการซึ่งจะให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นครั้งคราว ประมาณเดือนตุลาคม 2524 นายไพโรจน์มาติดต่อขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ 115,000 บาท โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 มาจดทะเบียนจำนองเฉพาะส่วนเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน วันที่ 2 พฤศจิกายน 2524 โจทก์มอบให้จำเลยเป็นผู้ใส่ชื่อจดทะเบียนรับจำนองแทนโจทก์และให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน โดยจำเลยและนายไพโรจน์ทราบและยินยอม นายไพโรจน์ได้รับเงินจากโจทก์ครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา จำเลยได้นำสัญญาจำนองให้โจทก์ยึดถือไว้ วันที่ 6 กันยายน 2525 ที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 ในส่วนที่จดทะเบียนจำนองได้แบ่งแยกออกมาเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 184602 เนื้อที่ 3 ไร่ จำเลยรับมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวจากนายไพโรจน์แล้วนำมอบให้โจทก์ยึดถือไว้ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2536 จำเลยได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าต้นฉบับโฉนดเลขที่ 184602 และสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวสูญหาย เพื่อขอออกใบแทนต้นฉบับ การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อ จึงได้ออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่นายไพโรจน์ วันที่ 2 กันยายน 2536 จำเลยโดยทุจริตได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 184602 ให้แก่นายไพโรจน์พร้อมรับเงินค่าไถ่ถอนจำนองจำนวน 319,125 บาท และได้เบียดบังไปเป็นประโยชน์ของจำเลยโดยไม่คืนโจทก์ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 468,714.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 319,125 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ร่วมทำธุรกิจหรือเป็นลูกจ้างตัวแทนหรือผู้ช่วยเหลือในการดำเนินการของโจทก์ และไม่เคยได้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ใดในทางทรัพย์สินจากโจทก์ ทั้งไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดกับโจทก์ นายไพโรจน์ไม่ได้กู้เงินจากโจทก์และไม่ได้ตกลงให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 เฉพาะส่วนจำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกัน โจทก์ไม่เคยแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้แทนในการรับจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นหนังสือ จำเลยไม่เคยส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ยึดถือไว้ในฐานตัวการ จำเลยยอมรับว่าได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศจริง แต่ไม่ได้เป็นการแจ้งความเท็จ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระโขนงเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3949/2541 ในข้อหาความผิดต่อเจ้าพนักงาน ยักยอก ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 184602 ไว้แทนโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยรับเงินที่ผู้จำนองนำมาชำระเพื่อไถ่ถอนจำนองโดยไม่ส่งมอบให้โจทก์จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ส่วนข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับจำนองหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จำนอง โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันในคดีอาญาได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์คืน ซึ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามารับฟังในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยกับโจทก์ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ต่อกันจำเลยไม่ได้กระทำการใดให้โจทก์ได้รับความเสียหายและโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกู้เงินของนายไพโรจน์ ทั้งนายไพโรจน์ไม่ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 184602 เป็นประกันไว้แก่โจทก์ และจำเลยไม่ได้รับจำนองที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา คู่ความแถลงรับกับว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2524 จำเลยลงลายมือชื่อรับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 เฉพาะส่วนของนายไพโรจน์ต่อมาที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวแบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 184602 วันที่ 22 มิถุนายน 2536 จำเลยในฐานะผู้ครอบครองโฉนดที่ดินที่รับจำนองไว้ได้ไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศ ว่าโฉนดเลขที่ 184602 สูญหาย จากนั้นจำเลยได้นำหลักฐานการแจ้งความไปแสดงและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 ว่าโฉนดเลขที่ 184602 สูญหายไป เจ้าพนักงานที่ดินจึงออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดินวันที่ 2 กันยายน 2536 จำเลยรับจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่นายไพโรจน์และรับเงินชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากนายไพโรจน์แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 319,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นวันฟ้องจะต้องไม่เกิน 149,549.81 บาท ตามฟ้องกับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 2,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2524 จำเลยลงลายมือชื่อรับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนของนายไพโรจน์ต่อมาที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวแบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 184602 วันที่ 22 มิถุนายน 2536 จำเลยได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลประเวศ ว่าโฉนดเลจที่ 184602 สูญหายตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.10 วันที่ 24 มิถุนายน 2536 จำเลยได้นำหลักฐานการแจ้งความดังกล่าวไปแสดงและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศ ว่าโฉนดเลขที่ 184602 ได้สูญหายไป ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกไปแทนโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.5 เจ้าพนักงานที่ดินจึงออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่ของที่ดิน ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 วันที่ 2 กันยายน 2536 นายไพโรจน์นำต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 319,125 บาท ไปมอบให้จำเลยเพื่อไถ่ถอนจำนอง จำเลยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวและจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่นายไพโรจน์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เงินที่นายไพโรจน์กู้ตามสัญญาจำนองเป็นเงินของโจทก์หรือไม่ …… เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันถึงที่มาของที่ดินโฉนดเลขที่ 44202 และ 184602 กับสาเหตุที่นายไพโรจน์ต้องขอกู้เงินจากโจทก์ ซึ่งนายไพโรจน์มาเบิกความยืนยันว่าได้กู้ยืมเงินจากโจทก์มิได้กู้ยืมเงินจากจำเลย ส่วนพยานจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความเพียงลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน แม้ในการรับจำนองที่ดิน โจทก์จะมิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปดำเนินการแทน หรือมิได้ระบุในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนว่าจำเลยเป็นผู้รับจำนองแทนโจทก์ก็ตาม ก็ไม่ได้เป็นข้อพิรุธหรือรับฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ ถ้าจำเลยเป็นผู้ให้นายไพโรจน์กู้ยืมเงินจริง เหตุใดหลังจากจำเลยดำเนินการรับจำนองที่ดินจากนายไพโรจน์แล้วจำเลยจะต้องนำต้นฉบับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนและต้นฉบับโฉนดเลขที่ 184602 ไปมอบให้โจทก์ไว้ ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของคนทั่วไปยิ่งนัก การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยรับจำนองที่ดินในฐานะตัวแทนของโจทก์ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่การงานและรายได้ของจำเลยขณะที่รับจำนองที่ดินแล้วจะเห็นได้ว่า จำเลยมีอายุเพียง 23 ปี เพิ่งจะทำงานที่บริษัทนานยางธนาการเครดิต จำกัด มีรายได้เดือนละ 3,500 บาท ตามรายจ่ายเงินเดือนและค่าใช้จ่ายเอกสารหมาย จ.16 ลำพังรายได้จากเงินเดือนประจำของจำเลยดังกล่าวเพียงอย่างเดียว จำเลยคงจะไม่สามารถนำเงินไปให้นายไพโรจน์กู้ยืมได้ ที่จำเลยอ้างว่านอกจากเงินเดือนประจำแล้ว ยังมีรายได้จากการนำเงินไปลงทุนค้าขาย ฝากไว้ที่บริษัทได้ดอกเบี้ย เล่นแชร์ และนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์นั้น เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอยๆ จำเลยมิได้มีพยานหลักฐานมานำสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นจริงดังที่จำเลยกล่าวอ้าง นอกจากนี้หลังจากที่จำเลยรับจำนองที่ดินจากนายไพโรจน์และได้มอบต้นฉบับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนกับต้นฉบับโฉนดเลขที่ 184602 ให้โจทก์แล้วจำเลยยังได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ให้แก่โจทก์ไว้ด้วย ซึ่งโจทก์ได้เบิกความถึงสาเหตุที่ให้จำเลยนำเอกสารดังกล่าวมามอบให้โจทก์ไว้ว่า หากจำเลยไม่อยู่และทางลูกหนี้ต้องการไถ่ถอนจำนอง โจทก์จะได้ดำเนินการให้ลูกหนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องรอจำเลย และสาเหตุที่โจทก์ให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับจำนองแทนเนื่องจากโจทก์ประกอบธุรกิจหลายอย่างไม่มีเวลาดำเนินการรับจำนอง ประกอบกับจำเลยมีศักดิ์เป็นหลานโจทก์ จำเลยเป็นผู้ที่ทำงานขยันขันแข็งเชื่อใจได้ ทำให้โจทก์เชื่อถือไว้วางใจจำเลยจนกระทั่งยอมให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับจำนองแทนโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยรับจำนองแทนมาแสดงนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องพิพาทระหว่างโจทก์ตัวการกับจำเลยตัวแทน โดยโจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดิน และโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ อันเป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 แม้ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้โดยไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคสอง และที่จำเลยฎีกาว่า ลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มิใช่ลายมือชื่อจำเลยนั้นก็เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอยๆ หากจำเลยเชื่อว่ามิใช่ลายมือชื่อของจำเลยจริง จำเลยก็น่าจะขอให้ศาลส่งลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อของจำเลยในเอกสารอื่น แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่และเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อของจำเลยในเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 กับลายมือชื่อของจำเลยในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนเอกสารหมาย จ.5 แล้วจะเห็นว่ามีส่วนคล้ายกัน เชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินที่นายไพโรจน์กู้ยืมตามสัญญาจำนองเป็นเงินของโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า โจทก์ต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลเข้าสืบเพราะเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์นำพยานบุคคลดังกล่าวเข้าสืบก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าจำเลยเป็นเพียงผู้รับจำนองแทนโจทก์เท่านั้น และเป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวแทนอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงหาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนไม่ กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่าคำพิพากษาในคดีอาญาของศาลแขวงพระโขนงผูกพันคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่า ร่วมกันกระทำความผิดฐานยักยอกนั้น ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์มีเหตุสงสัยว่าจำเลยรับจำนองแทนโจทก์หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ตามสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงพระโขนงเอกสารหมาย ล.3 ศาลมิได้ยกฟ้องด้วยเหตุว่าจำเลยมิได้รับจำนองแทนโจทก์ เพียงแต่สงสัยเท่านั้นและคดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้ คำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์

Share