แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๒๒/๒๕๕๐
วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๐
เรื่อง การยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
คำสั่งศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
คำพิพากษาศาลจังหวัดกบินทร์บุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
นายเทียม แก้วกุย ที่ ๑ นางฉวีวรรณ แก้วกุย ที่ ๒ นายปภังกร แก้วกุย ที่ ๓ และนายเกรียงไกร แก้วกุย ที่ ๔ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ข้อเท็จจริงในคดี
นายเทียม แก้วกุย นางฉวีวรรณ แก้วกุย นายปภังกร แก้วกุย และนายเกรียงไกร แก้วกุย ยื่นคำร้องลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๐ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๐ และลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๐ คำร้องทั้งหมดมีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อความสะดวกแก่การพิจารณาให้เรียกนายเทียม แก้วกุย ว่า ผู้ร้องที่ ๑ นางฉวีวรรณ แก้วกุย ว่า ผู้ร้องที่ ๒ นายปภังกร แก้วกุย ว่า ผู้ร้องที่ ๓ และนายเกรียงไกร แก้วกุย ว่า ผู้ร้องที่ ๔ ผู้ร้องทั้งสี่ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งโอนและจำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ ๓๕๗/๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ ๔๔๖/๒๕๕๐ ระหว่างนายเทียม แก้วกุย ผู้ฟ้องคดี (ผู้ร้องที่ ๑) คณะกรรมการคดีพิเศษ ที่ ๑ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ ๒ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ ๓ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ไปยังศาลจังหวัดกบินทร์บุรีตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ เนื่องจากศาลปกครองกลางและศาลจังหวัดกบินทร์บุรีมีความเห็นพ้องกันว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเป็นคดีแพ่งของศาลจังหวัดกบินทร์บุรี หมายเลขดำที่ ๑๔๕/๒๕๕๐ ซึ่งผู้ร้องทั้งสี่เห็นว่า คำสั่งที่ถึงที่สุดของศาลปกครองกลางที่ให้โอนและจำหน่ายคดีไปยังศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ทำให้ผู้ร้องทั้งสี่ไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายและไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากคดีของศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ ๓๕๗/๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ ๔๔๖/๒๕๕๐เป็นกรณีที่ผู้ร้องที่ ๑ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคดีพิเศษกับพวก รวม ๔ คน ขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคดีพิเศษที่ไม่รับเรื่องร้องทุกข์กรณีขอให้ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าผู้ร้องที่ ๑ กับพวก เป็นคดีพิเศษ อันสืบเนื่องมาจากผู้ร้องที่ ๑ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลเขาฉกรรจ์ อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี จับกุมกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ พยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ มีเครื่องกระสุนปืน (ระเบิด) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้บุคคลมีไว้ในครอบครอง ซ่อนเร้นหรือช่วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าว (นายโฮ คิน ลอกหรืออีริค แซ่ฮ้อ และนายหมิง หวังหรือหวัง หมิง หรือหวัง ยุนไห่) เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พ้นการจับกุม และขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดกบินทร์บุรีเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องที่ ๑ เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีมีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๙๔๕/๒๕๓๖ หมายเลขแดงที่ ๑๕๕๙/๒๕๔๔ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย (ผู้ร้องที่ ๑) ตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ มีคำพิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำคุกจำเลย (ผู้ร้องที่ ๑) ๒๐ ปี ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ร้องที่ ๑ ได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาฉกรรจ์ไว้ตามสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๓๒๐/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ และมีหนังสือร้องทุกข์ถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ แต่คณะกรรมการคดีพิเศษกับพวกมีมติไม่รับคำร้องทุกข์ดังกล่าวเป็นคดีพิเศษเพราะคดีของผู้ร้องที่ ๑ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ร้องทั้งสี่จึงเห็นว่า คำสั่งที่ถึงที่สุดของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ ๓๕๗/๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ ๔๔๖/๒๕๕๐ ให้โอนและจำหน่ายคดีที่มีข้อเท็จจริงในลักษณะดังกล่าวไปยังศาลจังหวัดกบินทร์บุรีจะทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดกบินทร์บุรีขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในคดีที่ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๖๙๙/๒๕๓๖ หมายเลขแดงที่ ๖๗๓/๒๕๓๖ ระหว่างพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดกบินทร์บุรี โจทก์ นายโฮ คิน ลอกหรืออีริค แซ่ฮ้อ ที่ ๑ นายหมิง หวัง หรือหวัง หมิง หรือหวัง ยุนไห่ ที่ ๒ จำเลย ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งจำเลยทั้งสองในคดีนี้เป็นคนต่างด้าวที่ผู้ร้องที่ ๑ ถูกฟ้องว่าช่วยพาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและหลบหนีให้พ้นการจับกุมในคดีอาญาของศาลจังหวัดกบินทร์บุรีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และคำสั่งโอนคดีไปยังศาลจังหวัดกบินทร์บุรีจะทำให้การพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้นซึ่งผู้ร้องที่ ๑ เคยยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองจำนวนมาก อาทิเช่น ประธานศาลฎีกา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๒ เลขานุการศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ฯลฯ ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) ภายหลังจากที่ผู้ร้องที่ ๑ มีหนังสือขอความเป็นธรรมในข้อเท็จจริงดังกล่าวไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่ได้รับการเพิกเฉย คดีทั้งหมดศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ร้องที่ ๑ ไว้พิจารณา นอกจากนี้ การพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๕/๒๕๕๐ ของศาลจังหวัดกบินทร์บุรีจะเป็นการพิจารณาซ้ำกับการรับคำร้องทุกข์คดีอาญาในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๓๒๐/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ซึ่งหากมีการดำเนินการฟ้องคดีก็จะมีการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ผู้ร้องทั้งสี่จึงเห็นว่า ในขณะนี้ศาลยุติธรรมไม่ควรที่จะพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๕/๒๕๕๐ เนื่องจากจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ร้องที่ ๑ ซึ่งมีกรณีพิพาทกับศาลยุติธรรมแล้ว ขอให้คณะกรรมการมีคำสั่งดังนี้
๑. ให้คดีของศาลปกครอง หมายเลขดำที่ ๓๕๗/๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ ๔๔๖/๒๕๕๐ พิจารณาที่ศาลปกครองต่อไป
๒. ให้ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีงดการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๕/๒๕๕๐ ในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๐
๓. ให้มีการไต่สวนคดีอย่างฉุกเฉิน
๔. อนุญาตให้คัดถ่ายสำเนาคำสั่งศาลปกครองและศาลยุติธรรมในเรื่องดังกล่าวทั้งหมด รวมถึงอนุญาตให้คัดถ่ายสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องว่า ไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณีคำสั่งที่ถึงที่สุดของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ ๔๔๖/๒๕๕๐ ขัดแย้งกับคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของศาลจังหวัดกบินทร์บุรีในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๖๗๓/๒๕๓๖ โดยคดีของศาลปกครองกลางหมายเลขแดงที่ ๔๔๖/๒๕๕๐ เหตุเกิดจากผู้ร้องที่ ๑ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลเขาฉกรรจ์ อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี จับกุมกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ พยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ มีเครื่องกระสุนปืน (ระเบิด) ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้บุคคลมีไว้ในครอบครอง ซ่อนเร้นหรือช่วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าว (นายโฮ คิน ลอกหรืออีริค แซ่ฮ้อ และนายหมิง หวัง หรือหวัง หมิง หรือหวัง ยุนไห่) เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พ้นการจับกุม และขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดกบินทร์บุรีเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องที่ ๑ เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีมีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๕๕๙/๒๕๔๔ให้ลงโทษจำคุกจำเลย (ผู้ร้องที่ ๑) ตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำคุกจำเลย (ผู้ร้องที่ ๑) ๒๐ ปี ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ร้องที่ ๑ ได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาฉกรรจ์ไว้ตามสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๓๒๐/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ และมีหนังสือร้องทุกข์ถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ แต่คณะกรรมการคดีพิเศษกับพวกมีมติไม่รับคำร้องทุกข์ดังกล่าวเป็นคดีพิเศษเพราะคดีของผู้ร้องที่ ๑ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ร้องที่ ๑ จึงยื่นฟ้องคณะกรรมการคดีพิเศษ ที่ ๑ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ ๒ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ ๓ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลางและศาลจังหวัดกบินทร์บุรีมีความเห็นพ้องกันว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้โอนคดีดังกล่าวไปยังศาลจังหวัดกบินทร์บุรีตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นคดีแพ่งของศาลจังหวัดกบินทร์บุรี หมายเลขดำที่ ๑๔๕/๒๕๕๐ ส่วนคดีอาญาของศาลจังหวัดกบินทร์บุรี หมายเลขแดงที่ ๖๗๓/๒๕๓๖ เป็นคดีที่พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ยื่นฟ้องนายโฮ คิน ลอกหรืออีริค แซ่ฮ้อ ที่ ๑ นายหมิง หวัง หรือหวัง หมิง หรือหวัง ยุนไห่ ที่ ๒ จำเลย ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีมีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งจำเลยทั้งสองในคดีนี้เป็นคนต่างด้าวที่ผู้ร้องที่ ๑ ถูกฟ้องว่าช่วยพาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและหลบหนีให้พ้นการจับกุมในคดีอาญาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ร้องทั้งสี่เห็นว่า คำสั่งที่ถึงที่สุดของศาลปกครองกลางให้โอนและจำหน่ายคดีไปยังศาลจังหวัดกบินทร์บุรีในคดีหมายเลขแดงที่ ๔๔๖/๒๕๕๐ จะทำให้การพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดกบินทร์บุรีขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในคดีที่ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๖๗๓/๒๕๓๖ และขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องที่ ๑ กล่าวอ้างในคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้นในคดีอื่นๆ ซึ่งผู้ร้องที่ ๑ เคยยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) คดีทั้งหมดศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ร้องที่ ๑ ไว้พิจารณา นอกจากนี้ การพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๕/๒๕๕๐ ของศาลจังหวัดกบินทร์บุรีจะเป็นการพิจารณาซ้ำกับการรับคำร้องทุกข์คดีอาญาในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ ๓๒๐/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ซึ่งหากมีการดำเนินการฟ้องคดีก็จะมีการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ผู้ร้องทั้งสี่จึงเห็นว่า ศาลยุติธรรมไม่ควรที่จะพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๕/๒๕๕๐ เนื่องจากจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ร้องที่ ๑ ซึ่งมีกรณีพิพาทกับศาลยุติธรรมแล้ว ขอให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้คดีของศาลปกครองหมายเลขแดงที่ ๔๔๖/๒๕๕๐ พิจารณาที่ศาลปกครองต่อไป ให้ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีงดการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๔๕/๒๕๕๐ ในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๐ ให้มีการไต่สวนคดีอย่างฉุกเฉิน และอนุญาตให้คัดถ่ายสำเนาคำสั่งศาลปกครองและศาลยุติธรรมในเรื่องดังกล่าวทั้งหมด รวมถึงอนุญาตให้คัดถ่ายสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความ หรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด ดังนั้นคดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันและจะส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกันแต่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสองศาลต่างระบบ และศาลทั้งสองศาลนั้นมีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแตกต่างกันจนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม อันหมายความรวมถึงจะต้องเป็นคู่ความหรือคู่กรณีเดียวกันด้วย สำหรับข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้องที่ ๑ แม้ผู้ร้องที่ ๑ จะเป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งในคดีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง และคดีของศาลปกครองกลางและคดีของศาลจังหวัดกบินทร์บุรีที่ผู้ร้องที่ ๑ กล่าวอ้างว่าขัดแย้งกันเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ผู้ร้องที่ ๑ ไม่ได้เป็นคู่ความหรือเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในคดีที่ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีมีคำพิพากษาลงโทษคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ คู่กรณีในคดีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งและคู่ความในคดีที่ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีมีคำพิพากษาจึงมิใช่รายเดียวกัน ทั้งการที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้โอนและจำหน่ายคดีของผู้ร้องที่ ๑ ไปยังศาลจังหวัดกบินทร์บุรีเป็นเพียงการดำเนินการเมื่อทั้งสองศาลมีความเห็นพ้องกัน และคำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุดเรื่องเขตอำนาจศาลตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๒) และวรรคสองกำหนดไว้ ซึ่งไม่ใช่การวินิจฉัยประเด็นแห่งคดี ดังนั้น คดีนี้ยังไม่มีการพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นแห่งคดี คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดของศาลปกครองและศาลยุติธรรมที่ผู้ร้องที่ ๑ กล่าวอ้างจึงมิใช่คดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันและมิใช่กรณีที่ศาลสองศาลตัดสินแตกต่างกันจนทำให้คู่ความไม่อาจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลใดศาลหนึ่งได้ สำหรับผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๔ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๔ มิใช่คู่กรณีหรือคู่ความในคดีที่ผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๔ กล่าวอ้างว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน และมิใช่บุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าว ผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงมิใช่บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการไม่อาจรับคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ไว้พิจารณาได้
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ อาศัยอำนาจตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้ยกคำร้องนี้เสีย
ติดราชการ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๗